ปี 2023 ถือเป็น "ปีแห่งดวงจันทร์บริวาร" ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล เนื่องจากในปีนี้ได้มีการค้นพบ ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เพิ่มขึ้น 12 ดวง ทำให้ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา มีดาวบริวารรวมเป็น 92 ดวง และนักดาราศาสตร์จากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) ยังได้มีการประกาศการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์เพิ่มขึ้นอีก 62 ดวง จึงทำให้ในปัจจุบันดาวเสาร์ มีดาวบริวารมากถึง 145 ดวง ครองฉายา “ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร แห่งระบบสุริยะจักรวาล”
และหนึ่งในดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ทั้งสอง ได้แก่ “ดวงจันทร์ยูโรปา” ของดาวพฤหัสบดี "ดวงจันทร์เอนเซลาดัส" ของดาวเสาร์ ยังถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดในปี 2023 พอๆ กับ "ดวงจันทร์" ของโลกเรา อีกด้วย
MGROnline Science จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ 3 ดวงจันทร์แห่งระบบสุริยะจักรวาล ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปี 2023 นี้
เริ่มต้นด้วย “ดวงจันทร์” ดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก ในปี 2023 เป็นหนึ่งในปีที่ดวงจันทร์ของโลกถูกกล่าวถึงมากที่สุด เนื่องจากความสำเร็จของภารกิจยานจันทรา – 3 ที่สามารถส่งยานลงจอดวิกรม พร้อมกับปล่อยรถหุ่นยนต์สำรวจปรัชญาณ ลงจอดและสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ จนทำให้อินเดียเป็นชาติแรกที่นำยานสำรวจลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ และกลายเป็นชาติที่ 4 ที่ได้ส่งยานลงจอดบนดาวบริวารหนึ่งเดียวของโลกได้สำเร็จ
ดวงจันทร์เป็นหนึ่งในสถานที่นอกโลกที่ได้รับความสนใจในไปตั้งถิ่นที่อยู่และเพื่อการสำรวจ เนื่องจากเป็นดาวบริวารที่อยู่ไม่ห่างไกลโลก และภูมิประเทศยังไม่ซับซ้อนมาก จึงทำให้สามารถไปถึงได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ
ดาวบริวารดวงนี้ มีขนาดประมาณ 1 ใน 4ของโลก โดยมรเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,474 กิโลเมตร เคลื่อนรอบโลกจากตะวันตกไปตะวันออก ในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวของโลก โดยระยะเวลาเคลื่อนตัวรอบโลก 1 รอบ เป็นมุม 360 องศา ใช้เวลา 27.3 วัน มีระยะห่างจากโลกประมาณ 384,403 กิโลเมตร เป็นดาวบริวารใหญ่ที่สุดอันดับที่ 5 ในระบบสุริยะ
ดวงต่อมาคือ “ดวงจันทร์ยูโรปา” ดาวบริวารของดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะจักรวาล ดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์ดวงนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2023 หลังจากการสำรวจล่าสุด ที่ได้มีการพบร่องรอยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า สารอินทรีย์นี้มาจากสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรใต้พื้นผิวเยือกแข็ง การค้นพบในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพิจารณาว่า ดวงจันทร์ยูโรปาจะเป็นสถานที่ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยหรือไม่ในอนาคต
เนื่องจาก คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์มักอ้างถึงธาตุ 6 ชนิด ที่พบในสิ่งมีชีวิตบนโลก ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ซัลเฟอร์ โดยขณะนี้มีการค้นพบ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และซัลเฟอร์บนยูโรปาแล้ว
ดวงจันทร์ดวงนี้ เป็น 1 ใน 4 ดวงจันทร์ ที่ถูกค้นพบโดย กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์ผู้รอบรู้ชาวอิตาลี มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,000 กิโลเมตร และยังมีบรรยากาศที่เบาบางประกอบไปด้วยออกซิเจน พื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งและมีความเรียบ ทำให้เกิดสมมติฐานว่า มีมหาสมุทรอยู่ข้างใต้ซึ่งสามารถเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้ ซึ่งทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ - NASA มีภารกิจส่ง ยาน Europa Clipper ในเดือนตุลาคม ปี 2024 และจะใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ปี ในการท่องอวกาศเพื่อเดินทางไปยังดาวพฤหัสสบดี และสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา
“ดวงจันทร์เอนเซลาดัส” หนึ่งในดวงจันทร์บริวาร 145 ดวง ของดาวเสาร์ ดาวเคราะห์ที่เป็นเจ้าของฉายา “ราชาแห่งวงแหวน และ ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร แห่งระบบสุริยะจักรวาล” ถือเป็นดวงจันทร์อีกหนึ่งดวง ที่ได้รับความสนใจจาก NASA และถูกกล่าวถึงบ่อยในปี 2023 นี้
ในการประชุม Enceladus Focus Group Conference ได้ประกาศว่า “ดวงจันทร์เอนเซลาดัส” หนึ่งในดาวบริวารของดาวเสาร์ เป็นสถานที่นอกโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในระบบสุริยะเท่าที่รู้จักมา"
ในปี 2023 ดวงจันทร์เอนเซลาดัสก็ยังได้รับการบันทึกภาพน้ำพุร้อนจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ และยังมีการค้นพบธาตุฟอสฟอรัส (P) ในรูปของสารประกอบฟอสเฟตบางชนิดบนดวงจันทร์ โดยงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบแร่ธาตุสำคัญในการกำเนิดสิ่งมีชีวิต ภายในมหาสมุทรของดาวดวงอื่นนอกเหนือจากโลก ซึ่งตอกย้ำคำประกาศที่ให้ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ดวงนี้ เป็นสถานที่นอกโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในระบบสุริยะ
ด้วยความน่าสนใจของดวงจันทร์เอนเซลาดัส ทาง NASA จึงได้มีโครงการสำรวจดวงจันทร์ที่แสนพิเศษ คือ โครงการ “หุ่นยนต์งู” Exobiology Extant Life Surveyor (EELS) ที่จะสามารถเคลื่อนที่ไปจนถึงน้ำของเหลวใต้พื้นผิวน้ำแข็งของดวงจันทร์ดวงนี้
เอนเซลาดัสเป็นดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของดาวเสาร์ ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมันนาม วิลเลียม เฮอร์เชล เมื่อ ค.ศ. 1789 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 505 กิโลเมตร เพียง 1 ใน 7 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์