xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยไม่ใช่ดาวหาง ก่อนชมจริง คืน 14 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในค่ำคืน ว่า ระหว่างวันที่ 4 - 20 ธันวาคมของทุกปีๆ จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าชมคือ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ โดยจะมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม ประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง

ก่อนชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในมีอัตราการตกสูงสุด MGROnline Scienceขอพาไปทำความรู้จักหนึ่งในฝนดาวตกที่น่าชมมากที่สุด และเป็นฝนดาวตกส่งท้ายปลายปีของทุกๆ ปี


ฝนดาวตกเจมินิดส์ ได้ชื่อตามกลุ่มดาวฤกษ์ Gemini หรือ กลุ่มดาวคนคู่ ราศีเมถุน หนึ่งในกลุ่มดาว 12 จักรราศี เนื่องจาก มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ของ ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนคล้ายวงโคจรดาวหาง 

การโคจรจึงทำให้หลงเหลือสายธารของเศษหินทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ฝนดาวตกเจมินิดส์จึงเป็นหนึ่งในฝนดาวตกไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย ต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดเป็นดาวหาง


นอกจากจะเกิดจากเศษหินของดาวเคราะห์น้อยแล้ว ดาวตกในฝนดาวตกเจมินิดส์ยังมีอัตราเร็วประมาณ 35 กิโลเมตร/วินาที ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 58 กิโลเมตร/วินาที หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 71 กิโลเมตร/วินาที

ในปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สามารถรอชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มดาวคนคู่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป ฝนดาวตกจะปรากฏให้เห็นเป็นลำแสงวาบพาดผ่านทั่วท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ดูได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ซึ่งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง


สำหรับข้อมูล กลุ่มดาวคนคู่ เป็นหนึ่งในกลุ่มดาว 12 จักรราศี อยู่ระหว่างกลุ่มดาววัวทางทิศตะวันตก กับกลุ่มดาวปูทางทิศ ดาวที่สำคัญที่สุดในกลุ่มดาวนี้คือ ดาวพอลลุกซ์ และ ดาวคัสตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหัวของฝาแฝด โดย ดาวคัสตอร์มีความสว่างปรากฏ 1.93 อยู่ห่างจากระบบสุริยะออกไป 52 ปีแสง เป็นดาวขนาดไม่ใหญ่นัก ราวสองเท่าของดวงอาทิตย์ 

ส่วนดาวพอลลุกซ์ นั้นสว่างกว่า คือ 1.16 และอยู่ห่างออกไปจากระบบสุริยะของเรา 33.7 ปีแสง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ คือราว 10 เท่าของดวงอาทิตย์ ดาวทั้งสองมีระยะห่างจากกัน 4.5 องศา ซึ่งช่วยให้ผู้สังเกตประมาณระยะห่างระหว่างดาวอื่นๆ ได้


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น