Ernest Rutherford (1871-1937) ซึ่งเป็นผู้พบนิวเคลียสในอะตอม จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของวิชาฟิสิกส์นิวเคลียร์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “วิทยาศาสตร์ทุกสาขาเป็นส่วนหนึ่งของฟิสิกส์ และถ้าสาขาใดไม่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์เลย วิทยาการสาขานั้นก็จะมีกระบวนการทำงานในลักษณะเดียวกับการสะสมแสตมป์”
คำกล่าวในลักษณะนี้ มิได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นพึงพอใจ หรือชื่นชม และชอบ Rutherford มาก เพราะดูเสมือนว่า Rutherford ได้ยกฟิสิกส์ขึ้นเหนือ และสำคัญกว่าวิทยาการสาขาอื่นๆ ทั้งหมด แต่ในที่สุด Rutherford ก็ถูก “ฟ้าเตือนสติ” เมื่อเขาได้รับการประกาศให้เป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 1908 (คือไม่ได้รับในสาขาฟิสิกส์) จากผลงานการเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถแปรธาตุได้สำเร็จ คือ เปลี่ยนไนโตรเจนเป็นออกซิเจนได้ ทำให้เปลี่ยนความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะตอมได้ ก็ไม่จริง เพราะเวลานิวเคลียสของธาตุปล่อยกัมมันตรังสีออกมาเป็นรังสีแอลฟา ธาตุชนิดนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นชนิดอื่น Rutherford ยังได้พบอีกว่า อัตราการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีมีสูตรการลดแบบ exponential และเขายังได้บัญญัติศัพท์ว่า “ครึ่งชีวิต” เพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้ และท้ายที่สุด คือ Rutherford ได้พบว่านิวเคลียสของธาตุ helium (หรืออนุภาคแอลฟา) มีองค์ประกอบที่เป็นโปรตอนและนิวตรอนอย่างละสองอนุภาค
ความสำเร็จระดับสุดยอดเหล่านี้ได้ทำให้ Rutherford ถึงกับกล่าวว่า ตัวเขาเองก็ได้เปลี่ยนเช่นกัน คือ เปลี่ยนจากการเป็นนักฟิสิกส์เป็นนักเคมี เพราะในช่วงเวลานั้น โลกวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงธาตุเป็นวิชาเคมี
ความจริงการพบนิวเคลียสของ Rutherford ที่เกิดจากการทดลองยิงอนุภาคแอลฟาให้ทะลุผ่านแผ่นทองคำเปลว นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา (เพราะในนิวเคลียสมีพลังงานนิวเคลียร์) แต่ Rutherford ไม่เชื่อและไม่รู้ว่าในนิวเคลียสมีพลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานนั้นมีค่าน้อยมาก จนไม่สามารถจะนำมาใช้เป็นพลังงานได้ Rutherford ได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้เห็นพลังของระเบิดปรมาณู ในปี 1945 และก่อนจะเห็นโรงงานไฟฟ้าปรมาณูโรงแรกของโลก ที่เมือง Obminsk ในรัสเซีย เมื่อปี 1954
คำถามที่นักประวัติวิทยาศาสตร์จำนวนมากสนใจและใคร่จะรู้คำตอบ คือ เหตุใด Rutherford จึงไม่ได้รับรางวัลโนเบลเป็นครั้งที่สอง เหมือน Marie Curie (1867–1934) ทั้ง ๆ ที่ผลงานการพบ nucleus มีความยิ่งใหญ่กว่าการพบเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงธาตุมาก เหตุผลหลักก็คือ ขนาดได้รับรางวัลโนเบลเคมีเพียงรางวัลเดียว ชื่อเสียงของ Rutherford ก็โด่งดังอย่างไม่รู้เรื่องแล้ว การจะได้รับรางวัลครั้งที่สอง ก็คงไม่ได้ช่วยให้ดังมากขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นการให้เกียรติยศและกำลังใจกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากก็น่าจะเป็นเรื่องที่ควรกระทำมากกว่า
แม้ Rutherford จะไม่เคยเอ่ยออกมาตรงๆ ว่า ฟิสิกส์ คือ วิชาพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทุกแขนง แต่ความจริงที่ปรากฏก็ ณ วันนี้ก็คือว่า วิทยาศาสตร์ทุกสาขามีปฏิสัมพันธ์กัน คือมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน และมีทฤษฎีกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษาหลายเรื่อง ซึ่งต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์มากขึ้น ดังนั้นวิทยาการในปัจจุบันนี้จึงมีลักษณะคล้ายวิทยาการฟิสิกส์ในอดีตเมื่อ 300 ปีก่อนมาก เพราะในช่วงเวลานั้น Denis Diderot (1713-1784) ซึ่งเป็นนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสกับ Jean Le Rond d'Alembert (1717-1783) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเช่นกัน ได้ให้คำจำกัดความของฟิสิกส์ว่า เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) ที่เกี่ยวโยงวิทยาการสาขาต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น เกี่ยวข้องกับชีววิทยา เคมี ธรณีวิทยา อุตนิยมวิทยา ฯลฯ (แต่คนทั้งสองมิได้พูดถึงวิชาการเก็บสะสมแสตมป์) ดังนั้น ณ วันนี้เราจึงมีวิชา biophysics, chemical physics, econophysics, computer neuroscience, viral epidemiology, sociology market, military physics และ neural circuit เป็นต้น ซึ่งได้อาศัยแนวคิด วิธีคิด ทฤษฎี และเทคนิคของฟิสิกส์ไม่มากก็น้อย
ทุกวันนี้ความรู้ฟิสิกส์ยังสามารถจะช่วยรัฐบาลในประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายมิให้ถูกหลอกลวงหรือต้มตุ๋นได้ง่ายด้วย ดังในปี 2014 ที่ประเทศอียิปต์ ซึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารเผด็จการ และได้ออกแถลงการณ์ว่าจะซื้ออุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กเพียงพอที่จะถือในอุ้งมือได้ แต่สามารถจะตรวจหาเชื้อไวรัสในร่างกายของคนได้ โดยคน ๆ นั้นไม่ต้องเจาะเลือด หรือตรวจร่างกายโดยละเอียดแต่อย่างใด เพียงแต่เอาอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นโบกผ่าน “คนไข้” ไป-มา สัญญาณก็จะดัง และเมื่ออุปกรณ์นั้นตรวจพบไวรัสแล้ว ทางรัฐบาลทหารของอียิปต์ก็มีอุปกรณ์อีกชุดหนึ่งที่สามารถทำความสะอาดเลือดในร่างกายให้ปราศจากโรคภัยไวรัสทั้งหลายได้ด้วย ไม่ว่าไวรัสนั้น จะเป็นไวรัส AIDS หรือไวรัสตับอักเสบ (hepatitis C) ก็จะถูกกำจัดได้หมด รัฐบาลทหารได้เล็งเห็นเงินจำนวนมหาศาลที่จะได้จากการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งสองนี้ในโรงพยาบาล เพราะคนไข้ต่างชาติจำนวนมากจะทะลักกันเข้ามารักษาในอียิปต์
เมื่อได้ยินถ้อยแถลงของรัฐบาลอียิปต์เกี่ยวกับอุปกรณ์ทั้งสองชิ้น นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติส่วนใหญ่ก็รู้ในทันทีว่า การอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ลวง (pseudoscience) แต่นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ส่วนใหญ่ก็พากันนิ่งเฉย เพราะถ้าใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องนี้ เขาก็จะถูกคุมประพฤติและถูกรัฐบาลนำตัวไปลงโทษ
แต่ก็มีนักไวรัสวิทยาชาวอียิปต์คนหนึ่งชื่อ Islam Hussain ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องไข้หวัดนกมาก เขารู้สึกเป็นกังวลกับทัศนคติของรัฐบาลทหารที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฟิสิกส์และชีววิทยาเลย และจะเป็นเรื่องที่น่าอับอายมากในสังคมโลก เขาจึงตัดสินใจเผยแพร่ความจริงของเรื่องนี้ใน YouTube ว่า จากการที่ทางกองทัพได้อ้างว่าสายอากาศของอุปกรณ์ C-FAST สามารถตรวจการมีอยู่ของไวรัสในร่างกายได้ แม้จะอยู่ห่างออกไป 500 เมตรก็ตาม เขาได้ตรวจพบว่าภายในอุปกรณ์ไม่มีแบตเตอรี่แม้แต่เครื่องเดียว แต่ก็อ้างว่า อุปกรณ์สามารถตรวจรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากการสั่นของตัวไวรัส hepatitis C, HIV, ไข้หวัดใหญ่, MERS coronavirus หรือแม้แต่เชื้อ malaria ก็ยังได้
ส่วนอุปกรณ์รักษาที่ทางการทหารนำมาอ้างว่า สามารถจะรักษาได้นั้นมีชื่อว่า Complete Cure Device (CCD) ก็มีลักษณะภายนอกที่เหมือนอุปกรณ์ฟอกไตทั่วไป และทำงานด้วยการใช้ปั๊มดูดเลือดออกจากร่างกายคนไข้ แล้วนำไปผ่านท่อที่ทำด้วยวัสดุพิเศษ ซึ่งทางทหารแถลงว่าต้องใช้เวลาในการพัฒนานานถึง 7 ปี แล้วท่อนี้จะปล่อยรังสีลึกลับออกมาฆ่าไวรัสจนหมด (คนขายไม่ได้บอกว่ารังสีอะไร) ทำให้เลือดสะอาดหมดจด จากนั้นเขาก็นำเลือดคืนกลับสู่ร่างกายคนไข้
นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีเหตุผลที่ไม่รับการอวดอ้างนี้ ด้วยเหตุผลแรก คือ คนขายอุปกรณ์ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่า nucleic acid ในไวรัสสามารถปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาได้ และถ้าปล่อยได้จริง (แม้จะน้อยเพียงใด) เครื่องก็สามารถตรวจรับคลื่นได้ ดังนั้นถ้าใครสามารถพิสูจน์ให้เห็นปรากฏการณ์นี้ได้ การค้นพบนี้ก็จะเป็นข่าวที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ออกมาจากตัวไวรัสจะเป็นเสมือนลายพิมพ์นิ้วมือที่สามารถบอกชนิดของไวรัสได้ ดังนั้น ตั้งแต่นี้ต่อแคนไข้ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหาหมออีก เพียงแต่เอาเครื่องตรวจรับชนิดไวรัสนี้มาโบกไปโบกมาที่ตัวเขา ข้อมูลทุกอย่างก็ประจักษ์
และในส่วนของอุปกรณ์ทำความสะอาดเลือดนั้นก็ไม่มีหลักฐานว่ามีข้อมูลสนับสนุนที่แสดงว่า เลือดของคนไข้ได้รับการทำความสะอาดด้วยรังสีจริง แม้ผู้ที่อ้างจะพูดถึงว่าได้ทำการทดลองกับลิงแล้วก็ตาม
หลังจากที่ทางการได้ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ ประชาชนของอียิปต์จำนวนกว่า 70,000 คน ได้พากันมาลงนามเสนอตัวเป็นหนูตะเภา เพื่อทดลองประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับและเครื่องรักษาไวรัส เพราะอียิปต์ในเวลานั้นมีคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ชนิด C มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และคนเหล่านี้ต้องการจะเข้ารับการรักษาให้หายขาดภายในเวลา 16 ชั่วโมง
แต่เมื่อนายพล Abdulatty Ibrahim นำเสนอรายงานการวิจัยที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ความสำเร็จของอุปกรณ์ C-FAST และ CCD ในวารสารวิจัย เพื่อให้ทุกคนประจักษ์ในความหวังดีของรัฐบาลที่จะรักษาและปกป้องสุขภาพของประชาชนอียิปต์ ทีมนักหนังสือพิมพ์ก็ได้ตรวจสอบพบว่า รายงานวิการวิจัยฉบับนั้น ได้ลอกตัวเลขมาจากงานวิจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับไวรัส HIV เลย และการตรวจสอบประเมินความถูกต้องและความมีเหตุผลของงานวิจัยก็ได้ทำไปอย่างลวก ๆ เพราะทีมผู้วิจัยได้รับการตอบรับว่าผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากที่งานวิจัยเดินทางถึงโต๊ะบรรณาธิการวารสารเท่านั้นเอง นอกจากนี้ทีมวิจัยก็ไม่มีนักวิจัยคนใดที่มีชื่อเสียงระดับโลกเลย
ในที่สุดเมื่อเสียงต่อต้านการอวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ มีมากขึ้น ๆ สมาคมแพทย์อียิปต์ก็ได้ออกมาแถลงการณ์ไม่ยอมรับอุปกรณ์วิเศษที่กองทัพอ้าง โดยให้เหตุผลว่า ทางรัฐบาลไม่มีหลักฐานมายืนยัน ดังนั้นการซื้ออุปกรณ์ C-FAST และ CCD จะทำให้ชีวิตของชาวอียิปต์นับแสนเป็นอันตราย เพราะหลงเชื่อและไว้ใจความศักดิ์สิทธิ์ที่เหลือเชื่อของอุปกรณ์ จนละเลยการจะไปรักษาด้วยวิธีปกติ นอกจากนี้ชาวอียิปต์ทั้งประเทศก็จะตกเป็นเป้าแห่งการเยาะเย้ยจากทั่วโลกว่า โง่ทั้งเมือง
ทางกองทัพ จึงตัดสินใจเลิกซื้ออุปกรณ์ C-FAST และ CCD
บทเรียนที่ได้จากการรับรู้เรื่องนี้ คือ ความรู้ชีววิทยาควบคู่กับความรู้ฟิสิกส์ นอกจากจะช่วยให้ผู้คนปลอดภัยแล้ว ยังเป็นหลักการที่ใช้ตรวจสอบความเป็นวิทยาศาสตร์แท้กับความเป็นวิทยาศาสตร์เทียมด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการใช้ความรู้ฟิสิกส์ในวงการนิติวิทยาศาสตร์ ก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า เวลาเกิดการฆาตกรรมใดๆ เทคนิคหลักที่จำเป็นต้องใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์มักจะเป็นเทคนิคทางเคมีและชีววิทยา แต่ในความเป็นจริงการสังหารคนมีหลายรูปแบบและเทคนิคที่ใช้ในการสังหารนั้นก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน เช่น การผลักให้ตกจากตึกสูง หรือเวลามีการลอบสังหารนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพล ตำรวจที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ต้องการจะรู้เส้นทางการเคลื่อนที่ของกระสุนที่ถูกยิงมาจากปืนของฆาตกร ซึ่งจะทำให้รู้ตำแหน่งของคนยิง การรู้ความเร็วและทิศทางของกระสุนเวลาทะลุผ่านร่างกาย ซึ่งอาจจะกระทบกระดูกหรือผ่านเนื้อเยื่อก็สามารถจะคำนวณได้ โดยใช้อุปกรณ์ CT scan (computed tomography) จะช่วยให้รู้ชนิดของปืนและกระสุนที่ใช้ยิง หรือในกรณีการสร้างอุปกรณ์รับรู้ (sensor) ค้นหาวัตถุระเบิดของผู้ก่อการร้ายหรือยาเสพติดก็เป็นความรู้ที่ต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์ในการทำงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคนร้ายและป้องกันไม่ให้เขากระทำการร้ายได้ ก่อนที่เขาจะลงมือ
ดังเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อ 28 ปีก่อนในออสเตรเลีย ซึ่งมีการพบศพของนางแบบสาวชื่อ Caroline Byrne ที่เชิงหน้าผาสูง ในเมือง Sydney เพราะสถานที่นี้มีชื่อเสียงในทางลบว่าเป็นสถานที่โปรดของคนที่ชอบมาฆ่าตัวตาย ดังนั้นตำรวจจึงสันนิษฐานว่า Byrne ก็คงเหมือนกับคนอื่น ๆ คือ ได้ปลิดชีพตนเองด้วยการกระโดดจากหน้าผา
แต่อีก 10 ปีต่อมา เพื่อนชายของ Byrne ก็ถูกตรวจจับด้วยข้อหาเป็นฆาตกรผู้สังหารเธอ โดยได้อุ้มโยนเธอให้ตกจากหน้าผา ความล่าช้าในกระบวนการค้นหาคนผิดสำหรับเรื่องนี้ คือ ทีมตำรวจนิติเวชศาสตร์ไม่ได้ใช้ความรู้ทางฟิสิกส์ เรื่อง projectile ว่าสามารถจะใช้ยุติข้อสงสัยและสรุปหาตัวฆาตกรได้
ในกรณีการชนกันของรถยนต์บนถนน หรือการขับรถชนคนอื่นชนคนอื่นหรือสัตว์จนตายหรือทุพพลภาพ ก็สามารถจะสรุปได้ว่าใครเป็นคนผิด โดยใช้หลักการอนุรักษ์โมเมนตัม เช่น ในกรณีรถไฟเวลาจะเบรก (brake) ตามปกติรถแต่ละโบกี้มิได้เบรกพร้อมกัน แต่จะเบรกตาม ๆ กันไปในแบบ step function ดังนั้นการคำนวณเวลาทั้งหมดที่รถไฟจะหยุดหรือชน ก็สามารถใช้กฎการเคลื่อนที่ของ Newton ได้ ซึ่งจะทำให้รู้ความเร่งขอรถไฟ ขณะพุ่งชนรถยนต์ตรงทางข้ามได้ว่า คนขับรถยนต์หรือคนขับรถไฟกันแน่ที่ผิด เพราะในสถานที่นั้นอาจจะไม่มีกล้องวงจรปิดบันทึกขณะเกิดเหตุการณ์ เพราะฟิสิกส์เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา มีสูตรและหลักการที่แน่นอน ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ เช่น กฎของ Newton ความรู้ทางอุณหภูมิ พลศาสตร์ (thermodynamics) ทฤษฎีแสง หลักการทางนิวเคลียร์ ฯลฯ ดังนั้นการรู้สาเหตุการเสียชีวิตของใครสักคน จะสามารถทำให้คนทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้สึกสบายใจได้ว่า มิได้เกิดจากอุบัติเหตุ และเวลาพิจารณาเรื่องนี้ นักนิติวิทยาศาสตร์ก็จะนำรายงานของตำรวจมาอ่าน ฟังถ้อยแถลงของพยาน ดูรายงานสุขภาพของผู้ตาย ศึกษาภาพถ่ายก่อนและหลังการเกิดเหตุการณ์ ตลอดจนอ่านอุปกรณ์บันทึกต่าง ๆ ที่อยู่ภายในรถยนต์ วัดสัมประสิทธิ์ความเสียดทานระหว่างยางรถยนต์กับถนน ณ เวลาที่เกิดเหตุ เพราะถ้ารถยนต์มีความเร็วและความเร่งสูงมาก สัญญาณไฟในรถยนต์จะเป็นแบบหนึ่ง การรู้ความเร็วของรถคู่กรณีจะช่วยในการตัดสินความถูกหรือความผิดของคนที่เกี่ยวข้องได้
ในกรณีการตายของนางแบบ ที่ Sydney คนนั้น นักนิติฟิสิกส์ได้พบว่า หน้าผาที่เธอใช้ในการฆ่าตัวตายนั้น สูงประมาณ 25.4 เมตร และศพของเธอตกห่างจากตีนผา 11.8 เมตร ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยให้ตำรวจรู้ความเร็วของหญิงสาวในการกระโจนจากหน้าผาได้ว่า
ถ้าเป็นกรณีที่การกระโดดเป็นแบบ projectile ซึ่งผู้กระโดดได้กระโจนออกจากหน้าผาด้วยความเร็ว v ในแนวนอน
และหน้าผามีความสูง = h
ในการทดสอบหลักการนี้ นักนิติฟิสิกส์ได้ทดลองวัดความเร็วของผู้หญิงที่มีสรีระคล้ายนางแบบ คือ มีน้ำหนักตัว 57 กิโลกรัมว่า สามารถวิ่งได้เร็วเพียงใด และได้วัดความเร็วของผู้หญิงเหล่านั้นว่า เวลาถูกผู้ชายที่แข็งแรงเหมือนแฟนของนางแบบอุ้มแล้วโยนร่างจากหน้าผา แต่ในการตรวจสอบเรื่องนี้ นักนิติฟิสิกส์ให้ผู้ชายโยนผู้หญิงลงสระน้ำแทน โดยให้ผู้หญิง 13 คน วิ่งบนทางราบและขึ้นเนิน (ที่มีลักษณะเหมือนหน้าผามรณะ) แล้ววัดความเร็วของทุกคน จากนั้นก็ได้ทดลองการอุ้มโยนน้ำ 20 ครั้ง เขาก็สามารถสรุปได้ว่า Caroline Byrne ถูกแฟนเธอฆ่า โดยการอุ้มโยนจากหน้าผา
M^0.67ปัญหาการสังหารหมู่โดยผู้ก่อการร้าย ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก (แต่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย) โดยเฉพาะในที่มีคนเป็นจำนวนมาก เช่น ที่สนามบิน โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ตลาด สนามกีฬา ฯลฯ ซึ่งมักเป็นสถานที่ทำงานของเหล่าฆาตกรที่นิยมนำวัตถุระเบิดติดตัวเข้าไป แล้วระเบิดตนเองเป็นการพลีชีพ การรักษาความปลอดภัยสำหรับเรื่องนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีทางฟิสิกส์ เช่น ใช้รังสีเอกซ์ตรวจสอบตามร่างกายของผู้ต้องสงสัย เพราะรังสีเอกซ์เวลากระทบวัสดุระเบิดจะปลดปล่อยโมเลกุลหรืออะตอมจากสารที่ใช้ทำระเบิด ทำให้เกิดเสียงหรือแสงให้เครื่องรับรู้สัญญาณได้ ดังนั้นถ้าให้ผู้โดยสารตามสถานีรถไฟหรือสนามบินเดินผ่านอุโมงค์ยาวที่ติดตั้ง sensor ตลอดทาง การป้องกันภัยชนิดนี้ก็สามารถกระทำได้
อ่านเพิ่มเติม “History of Forensic Science. SpringerBriefs in Computer Science.” โดย Iorliam, Aamo (2018) doi:10.1007/978-3-319-94499-9_2. ISBN 978-3-319-94498-2. Retrieved 30 November 2023
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์