ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้ยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบแล้ว 5,550 ดวง ในระบบดาว 4,135 แห่ง และอีก 10,009 ดวงที่รอการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม นอกจานั้นยังอาจมีอีกหลายล้านล้านดวงที่กระจายตัวอยู่ทั่วเอกภพ ที่รอการตรวจพบในอนาคต
ระบบดาวแต่ละแห่งนั้นต่างมีข้อมูลและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ระบบดาว HD110067 ที่มีดาวเคราะห์โคจรอยู่ไม่น้อยกว่า 6 ดวง ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อย่างสัมพันธ์กันในอัตราส่วนเวลาที่พอดี ซึ่งเป็นระบบที่สามารถพบได้ยาก มีเพียง 1% ใน 1% ในเอกภพ
HD110067 เป็นระบบดาวที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 100 ปีแสง ถูกตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกเมื่อปี 2020 โดยกล้อง Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) ของ NASA ที่พบหลักฐานของดาวเคราะห์โคจรอยู่ 2 ดวง จากการตรวจดูแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงไปเนื่องจากการเคลื่อนที่ตัดผ่านหน้าของดาวเคราะห์เหล่านี้
เอกลักษณ์จนทำให้เป็นที่น่าสนใจของระบบ ระบบดาว HD110067 คือคาบการโคจรของดาวเคราะห์ ดร. Rafael Luque ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ใช้กล้อง CHaracterising ExOPlanet Satellite (CHEOPS) ขององค์การอวกาศยุโรป ESA เพื่อศึกษาการหรี่แสงของดาวฤกษ์เพิ่มเติม และค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 3 ในระบบ คาบการโคจรของดาวเคราะห์ทั้งสามดวง เนื่องจากดวงในสุดใช้เวลา 9.114 วันเพื่อโคจรรอบดาวฤกษ์ ดวงถัดมาใช้เวลา 13.673 วัน และดวงนอกสุดใช้เวลา 20.519 วัน ซึ่งคาบการโคจรของแต่ละดวงนั้นเพิ่มขึ้นมาทีละ 1.5 เท่าอย่างเกือบพอดี
ดาวเคราะห์ในระบบ HD110067 นี้ มีการสั่นพ้องของวงโคจร หรือ Orbital Resonance เป็นอัตราส่วน 3:2 หรือเมื่อดาวเคราะห์ดวงในสุดโคจรครบ 2 รอบ ดวงถัดมาจะโคจรรอบดาวฤกษ์ครบ 3 รอบ และทำให้ทีมวิจัยนำข้อมูลดังกล่าวไปสร้างโมเดลว่าคาบการโคจรอย่างเสถียรของดาวเคราะห์ดวงอื่นจะเป็นอย่างไร ก่อนนำไปสำรวจกับข้อมูลจากกล้อง CHEOPS จนนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์ e, f, และ g ในวงนอกเพิ่มเติมอีกสามดวง
และดาวเคราะห์ b, c, d, และ e มีอัตราส่วนคาบการโคจรระหว่างกันที่ 3:2 ส่วนดาวเคราะห์ f และ g มีอัตราส่วนที่ 4:3 และทำให้ดาวเคราะห์ดวงในสุด (b) มีอัตราส่วนต่อดวงนอกสุด (g) ที่ 6:1 หรือในทุกครั้งที่ดาวเคราะห์ g โคจรรอบดาวฤกษ์ครบ 1 รอบ ดาวเคราะห์ b จะโคจรไปแล้ว 6 รอบ การสั่นพ้องที่สอดคล้องประสานกันในที่นี้คือ การที่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ในอัตราส่วนเวลาที่พอดิบพอดีกับดาวเคราะห์ดวงอื่น
ในการค้นพบความมหัศจรรย์การสั่นพ้องของวงโคจร ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาย้อนไปถึงการก่อกำเนิด และวิวัฒนาการของระบบดาวแห่งนี้ เพราะระบบดาวส่วนมากมักก่อตัวขึ้นมาโดยมีคาบการโคจรที่สัมพันธ์กัน จากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่ดึงระหว่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลกระทบจากความปั่นป่วนในระบบดาว เช่น การพุ่งชนของวัตถุต่างๆ หรือมีดาวฤกษ์พเนจรเคลื่อนตัดผ่าน สามารถทำให้คาบการโคจรของดาวเคราะห์ถูกรบกวนแปรเปลี่ยนไปได้ นั่นทำให้ระบบดาวหลายแห่งไม่มีความสอดคล้องแบบนี้หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ด้วยการสั่นพ้องของวงโคจร จึงทำให้ระบบดาว HD110067 ได้กลายเป็นระบบดาวที่หาได้ยาก มีเพียง 1% ใน 1% ในเอกภพอันกว้างใหญ่และไม่มีที่สิ้นสุด และน่าเสียดายที่ดาวเคราะห์ในระบบที่หายากนี้ไม่เอื้อต่อการเกิดของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากดาวเคราะห์มีอุณหภูมิระหว่าง 170 - 650 องศาเซลเซียส และเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่มีไฮโดรเจน ฮีเลียมหนาแน่นห่อหุ้มอยู่
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : exoplanets.nasa.gov , bbc.com , nature.com