องค์การ International Union for Conservation of Nature ได้ออกแถลงการณ์เมื่อต้นปีนี้ว่า ทุกปีจะมีสิ่งมีชีวิต (พืชและสัตว์) สูญพันธ์ไปมากถึง 30,000 สปีชีส์ คือ ประมาณวันละ 150 สปีชีส์ และนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา จำนวนสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นทั่วโลก ได้ลดจำนวนลงถึง 20% ทุกปี
เหตุการณ์นี้ได้จุดประกายให้บริษัท Colossal Biosciences แห่ง Texas เริ่มดำเนินโครงการคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และได้เริ่มรับเงินบริจาคมาเพื่อการนี้แล้วถึง 225 ล้านเหรียญ แม้บริษัทจะทำอะไรยังไม่ได้มากอย่างที่ทุกคนคาดหวัง เพราะต้องเผชิญการต่อต้านมาก ด้วยเหตุผลว่าการฟื้นคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว นอกจากจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากแล้ว ยังเป็นงานที่ต้องลงทุนมากด้วย และการฟื้นคืนชีพมันขึ้นมาอีกก็ใช่ว่าจะได้สัตว์เหมือนเดิม 100% เพราะคนสร้างสัตว์ให้กลับมามี
ชีวิตใหม่จำเป็นต้องเนรมิตสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้มันด้วย เพื่อจะได้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งจะต้องปกป้องมันมิให้ศัตรูมาปองร้าย และเมื่อสภาพภาวะดินฟ้าอากาศ ณ วันนี้และในอนาคตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมาก การทำทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิม จึงเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองมาก
นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว โลกก็มีสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์อีกหลายต่อหลายสปีชีส์ ความพยายามของนักอนุรักษ์สัตว์จึงน่าจะทุ่มเทไปที่การพิทักษ์สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์มากกว่า แทนที่จะทุ่มเทไปที่เทคโนโลยีทิพย์ ซึ่งยังไม่มีอะไรการันตีว่า จะทำได้ 100% เต็ม
แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ ทุกครั้งที่มีการอ้างถึงการสร้างสัตว์ที่สูญพันธุ์ เช่น ไดโนเสาร์หรือช้างแมมมอธ ฯลฯ ผู้คนในสังคมจะพากันตื่นเต้น และให้ความสนใจมาก แต่ก็เป็นเวลาไม่นาน เพราะเทคนิคการสร้างสัตว์ที่สูญพันธ์เป็นเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงที่ต้องใช้เวลาและความพยายามมาก เช่น ในกรณีการสร้างนก dodo นักตัดต่อพันธุ์กรรมจะต้องเอาเซลล์สืบพันธุ์ของนกพิราบ Nicobar ซึ่งเป็นญาตินกที่ใกล้ชิดที่สุดของนก dodo มาตัดต่อให้ใกล้เคียงกับ DNA ของนก dodo ที่เป็นที่รู้กันแล้ว จากนั้นก็นำเซลล์ที่ตัดต่อยีนแล้วไปปลูกถ่ายในไข่ของนกพิราบ Nicobar อีก เพื่อให้นกพิราบ Nicobar เป็นแม่นกอุ้มบุญ
ซึ่งเทคนิคดังที่กล่าวมานี้ สามารถใช้ได้ในกรณีไข่นกและไข่ไก่ แต่ในกรณีของนก dodo เรายังทำไม่ได้ และถ้าทำไป ก็อาจจะได้นกที่มีลักษณะคล้ายนก dodo ซึ่งไม่ใช่นก dodo ชนิดเดียวกัน และเมื่อสร้างนก dodo ได้แล้ว นักเทคโนโลยีชีวภาพก็ควรนำมันไปอาศัยอยู่บนเกาะ Mauritius ที่มันเคยใช้ชีวิตอยู่เมื่อ 400 ปีก่อน ซึ่งขณะนี้ บริเวณนั้นอาจจะมีสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นศัตรูกับนก dodo มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนจะปล่อย dodo ที่ฟื้นคืนชีพใหม่เข้าป่า นักอนุรักษ์ทุกคนก็จะต้องมั่นใจว่า มันสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยจริงๆ เพราะมิฉะนั้นการเสียของก็จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ข้อโต้แย้งที่ไม่สนับสนุนการคืนพันธุ์ของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปก็ยังมีอีกมาก เช่น สัตว์สร้างใหม่อาจพิกลพิการหรือทุพพลภาพ เพราะได้เกิดการกลายพันธุ์ในขั้นตอนการตัดต่อยีนของสัตว์ จนทำให้สัตว์มีอายุสั้น นอกจากประเด็นการพิกลพิการแล้ว นักพิทักษ์สิทธิ์ของสัตว์ก็ไม่พอใจนักที่รู้ว่าความพยายามจะคืนสายพันธุ์ของสัตว์ ก็เพื่อให้มนุษย์มีความสุขที่จะได้เห็นสัตว์ปรากฏอยู่ในสวนสัตว์อีกคำรบหนึ่งเท่านั้นเอง
สำหรับเหตุผลหลักที่ใช้อ้างในการต่อต้านการคืนพันธุ์อีกข้อหนึ่งก็คือ สัตว์ “ใหม่” อาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคใหม่ ๆ มาสู่คนได้ จากในอดีตที่เคยเป็นสัตว์ปลอดภัย แต่บัดนี้กลับเป็นสัตว์อันตราย ในอดีตเมื่อ 200 ปีก่อน นกพิราบเดินทาง (passenger pigeon) จำนวนนับล้าน ได้เคยบินอพยพทุกปีระหว่างดินแดนอเมริกาด้านตะวันออกกับแคนาดา แต่ปัจจุบันการบินไปมาหาสู่กันทำต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะดินแดนดังกล่าวมีผู้คนไปอาศัยอยู่มาก มีการทำเกษตรกรรมมากขึ้น จนระบบสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และต้น chestnut ที่มีผลเป็นอาหารหลักของนกก็ได้เกือบสูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นถ้ามีการสร้างนก passenger pigeon ขึ้นมาใหม่อีก นกสายพันธุ์ใหม่ก็จะเป็นสิ่งมีชีวิตแปลกถิ่นที่ต้องมีการปรับตัวใหม่ หรือต้องเป็นศัตรูของนกในพื้นที่ก็เป็นได้
เหตุผลท้ายที่สุดของการต่อต้านการคืนพันธุ์ก็คือ การที่มนุษย์คิดว่าตนเป็นพระเจ้าที่สามารถคืนชีพให้กับสิ่งที่ตายไปแล้วให้มาดำรงชีพได้อีกเหมือนดังเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลของนักบุญ John ที่ได้กล่าวถึง Lazarus ว่า เป็นสานุศิษย์คนหนึ่งที่พระเยซูทรงโปรดมาก เมื่อ Lazarus ล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม และเสียชีวิตที่เมือง Bethany พระเยซูได้เสด็จมาเยี่ยมศพหลังจากที่ Lazarus ถูกฝังไปแล้ว 4 วัน และท่ามกลางความโศกเศร้าของพระองค์และบรรดาญาติ ๆ พระเยซูได้ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นท้องฟ้า ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นทั้งสองข้าง แล้วตรัสประกาศให้พระเจ้าทรงประทานชีวิตกลับคืนให้ Lazarus อีก ทันใดนั้นทุกคนก็ได้เห็น Lazarus ลุกเดินออกจากที่ฝังศพ
เหตุการณ์คืนชีพครั้งนั้นได้ทำให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดตัวจริง เสียงจริง
ประเด็นความยากลำบากในการคืนชีพสัตว์อีกประการหนึ่งก็คือ การที่จะระบุได้อย่างมั่นใจว่า สัตว์ชนิดใดสูญพันธุ์ไปแล้ว และชนิดใดที่กำลังจะสูญพันธุ์ก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะการไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินมันส่งเสียงร้องและสื่อสารถึงกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ทุกคนสงสัยว่ามันได้สูญพันธุ์ไปแล้วหรือไม่ และถ้าไม่ มันได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อไร เราจึงจะสามารถขีดเส้นใต้สรุปได้ว่า มันได้ไปแล้วจริง ๆ ถ้าเป็นกรณีของสัตว์ในป่า เราอาจจะเห็นมันได้ง่ายกว่าในทะเลลึก หลักการที่ใช้อย่างง่าย ๆ คือ ถ้ามันมีอายุขัย 20 ปี และไม่มีใครเคยเห็นมันเลยในช่วง 20 ปี เราก็อาจจะสรุปได้ว่ามันได้สูญพันธุ์ไปแล้วจริง ๆ การจะเห็นมันในที่นี้อาจจะมีหลักฐานเป็นภาพของขน กระดูก มูลถ่าย หรือซากตาย หรืออาจมีเทปบันทึกเสียงของมันก็ได้
จะอย่างไรก็ตาม แม้จะมีทั้งเสียงทั้งเตือนและต่อต้านการคืนชีพของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมากสักปานใด เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของวิทยาศาสตร์ บริษัท Colossal Biosciences ก็ได้กำหนดเป้าหมายของการคืนชีพสัตว์ไว้ 3 สปีชีส์แรก คือ นกโดโด เสือแทสมาเนีย และช้างแมมมอธ
โดยเฉพาะนก dodo ที่บินไม่ได้นั้น นับเป็นสัตว์สูญพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดชนิดหนึ่งเพราะไม่มีใครเคยเห็นมันเป็นเวลานานกว่า 361 ปีแล้ว และไม่มีใครรู้ชัดว่ามันได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อใด เพราะอะไร หรือโดยใคร
นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อกะลาสีชาวดัตช์และโปรตุเกสเดินทางถึงเกาะ Mauritius ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันตก พวกเขาได้เห็นนกที่มีลักษณะเหมือนนกพิราบจำนวนมาก แต่บินไม่ได้ มีจะงอยปากใหญ่ รูจมูกกว้าง ดวงตาถลน และเดินอุ้ยอ้าย ความอดอยากเนื่องจากเรือแตก ทำให้กะลาสีพากันจับนกเหล่านี้จำนวนมากฆ่ากินเป็นอาหาร
กระนั้นก็ไม่มีใครเคยเห็นภาพนก จนกระทั่งปี 1626 เมื่อจิตรกรชาวดัตช์ชื่อ Roelant Savery (1576–1639) ได้วาดภาพนกโดโดที่เขาเห็นบนเกาะ Reunion ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ เกาะ Mauritius โลกจึง “เห็น” นกว่ามีขาสั้น ปีกมีขนาดเล็ก ตามตัวมีขนปุกปุย เดินตัวตรง แต่ภาพที่วาดก็แตกต่างจากรูปจริง เพราะ Savery ได้วาดภาพจากซากนกที่ได้ตายไปแล้ว
ภาพจริงกับภาพในจินตนาการของนกโดโดจึงเป็นเรื่องที่มีเส้นแบ่งแยกยาก แต่ทุกคนก็รู้เพียงว่า โดโดเคยอาศัยอยู่บนหมู่เกาะ Mascarene ซึ่งประกอบด้วยเกาะ Reunion, Mauritius และ Rodrigues ในปี 1805 ได้มีการส่งจัดโครงกระดูกของนกโดโดไปยุโรป ถึงพระราชสำนักในสมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 14 และเกาะมีป่าอุดมสมบูรณ์อีกทั้งมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น ค้างคาว หมูป่า และแพะ โดยไม่มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานอยู่เลย จนกระทั่งถึงปี 1638 เมื่อกะลาสีชาวดัตช์ได้เดินทางมาถึง และเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะ Reunion เป็นครั้งแรก
จากซากนกที่ถูกส่งไปยุโรป ซึ่งบอกลักษณะและขนาดของนกได้ดีว่าเป็นนกที่อ้วนที่มีขนสีเทาดำ มีจะงอยปากใหญ่ และมีขนหางเป็นพุ่ม ชอบอาศัยอยู่ในป่า และกินผลของต้น Tambalacoque เป็นอาหาร เพราะผลไม้ชนิดนี้มีเปลือกหนามาก ทำให้การที่มันจะงอกเป็นต้นอ่อนได้ จำเป็นต้องผ่านท้องของนกโดโดก่อน เพื่อให้น้ำย่อยที่เป็นกรดกัดกร่อนเปลือกให้นุ่มลง มันจึงจะงอกและเติบโตได้ ดังนั้นหลังจากที่โดโดสูญพันธุ์ไปแล้ว นักพฤกษศาสตร์ก็ได้พบว่า จำนวนต้น Tambalacoque ก็ได้ลดลงด้วย แต่เมื่อถึงปี 2006 นักพฤกษศาสตร์กลับได้พบต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นในป่าบริเวณอื่นของเกาะ ดังนั้นเราจึงสรุปว่านก dodo ได้กินผลไม้ชนิดอื่นเป็นอาหารด้วย
ในปี 1691 François Leguat (1638–1735) นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสได้รายงานการศึกษาวิถีชีวิตของนกโดโดว่า มีพฤติกรรมชอบสร้างอาณาจักรเป็นบริเวณที่มีรัศมีประมาณ 200 เมตร เวลาฟักไข่มันจะไม่ให้สัตว์อื่นเข้ามารบกวน ไข่ต้องใช้เวลาฟักนานหลายเดือน เพราะตัวอ่อนช่วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่นกจะขับไล่นกตัวอื่น ๆ ออกไปจนหมด รังของนกประกอบด้วยใบปาล์ม มันออกไข่ครั้งละฟอง ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าไข่ห่าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันและผลัดกันฟักไข่
สำหรับรูปร่างที่ “แท้จริง” ของโดโดนั้น ได้รับการยืนยันจากโครงกระดูก (ไม่ใช่จากภาพวาด) ที่พบ ณ บริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่งบนเกาะ Mauritius ชื่อหนอง Mare aux Songes เพราะที่นั่นมีโครงกระดูกจำนวนมากที่ถูกทับถมกันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมันในอดีต การรู้สถานภาพของสิ่งแวดล้อมได้ช่วยให้เรารู้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มันสูญพันธุ์ เช่นว่า กะลาสีที่บุกรุกเกาะได้ทำลายป่าที่อยู่อาศัยมันจนหมดสภาพ หรือได้เอาสัตว์เลี้ยง เช่น หมู แพะ รวมถึงหนูมาปล่อยให้อาละวาดกัดกินลูกน้อยของมัน ทำให้จำนวนประชากรนกร่อยหรอไปจนฟื้นตัวไม่ได้ หรือได้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น พายุ cyclone, tsunami พัดถล่มเกาะจนสัตว์หลายชนิดตายราบเรียบไปก่อนหลังจากที่กะลาสีเดินทางมาถึง หรือเกิดการระบาดอย่างหนักของโรคร้าย และเมื่อเราไม่มียานย้อนเวลาเดินทางกลับไปสู้อดีต ดังนั้นการรู้สาเหตุแท้จริงของการสูญพันธุ์ที่จึงยังไม่มีข้อยุติ
คำถามเกี่ยวกับความพยายามที่จะคืนชีพนกโดโดจึงมีอีกหลายประเด็น เช่น โครงการนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือไม่ คนส่วนใหญ่คิดว่า ไม่ควร เพราะผลกระทบที่จะได้จากการคืนชีพจะเป็นประโยชน์น้อย ดังนั้นรัฐบาลควรทุ่มเททุนสนับสนุนโครงการวิจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติมากกว่า เช่น โครงการวัคซีนมะเร็งหรือการสำรวจต่างดาว
ประการที่สอง คือ โครงการลักษณะนี้ควรถูกห้ามมิให้ดำเนินการหรือไม่ คำตอบก็ไม่เช่นกัน เพราะภัยที่ตามมาจากการฟื้นชีพมีโอกาสจะเกิดน้อย และนักวิทยาศาสตร์สามารถควบคุมภัยนั้นได้ การต่อต้านหรือห้ามอย่างสมบูรณ์แบบจะดูเป็นการยับยั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ยุติธรรม
และประการสุดท้าย คือ การคืนพันธุ์สมควรได้รับการควบคุมหรือไม่ คำตอบคือ สมควร เพราะการทดลองใด ๆ ที่ใช้สัตว์และมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายควบคุม
ในออสเตรเลียและที่เกาะแทสมาเนียก็มีความพยายามจะค้นหาสัตว์สูญพันธุ์ประเภทเสือชนิดหนึ่งเช่นกัน เพราะได้มีการพบว่า เสือแทสมาเนีย (Tasmanian tiger) เคยอาศัยอยู่บนทวีปเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน และได้ถูกกำจัดจนสูญพันธุ์ไปโดยสุนัขป่า แต่มันก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปบนเกาะ Tasmania และเสือ Tasmania ตัวสุดท้ายของโลกได้ตายไปในสวนสัตว์ที่เมือง Hobart เมื่อปี 1936 หลังจากที่รัฐบาล Tasmania ได้ออกกฎหมายห้ามล่ามันเพียง 59 วัน
เมื่อนักเดินทางชาวยุโรปอพยพมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียใหม่ ๆ เสือ Tasmania หรือที่เรียกชื่อทั่วไปว่า thylacine ก็ได้มีชื่อเสียงว่าเป็นสัตว์ลึกลับที่ชอบหลบซ่อนตัวในป่าไม่ให้ใครได้เห็น ในปี 1820 ชาวออสเตรเลียท้องถิ่นได้รายงานการเห็นตัว thylacine เพียง 4 ตัวเท่านั้นเอง
ต่อมาเมื่อมีการนำแกะจำนวนมากมาเลี้ยงบนเกาะ เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ thylacine มีอาหารเพิ่มขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ มันจึงได้กลายเป็นศัตรูของคนเลี้ยงแกะไปโดยปริยาย เพราะใคร ๆ ก็ไม่ชอบการเข้ามาลอบฆ่าแกะของมัน แล้วหลังจากนั้น เสือ Tasmania ก็ได้เริ่มเดินทางไปตามถนนแห่งการสูญพันธุ์
โดยในปี 1830 รัฐบาลได้ออกกฎหมายมอบรางวัล 1 ปอนด์สำหรับซาก thylacine ทุกตัวที่ถูกฆ่า การใช้กฎหมายนี้เป็นเวลานาน 24 ปี ระหว่างปี 1888 กับปี 1912 ทำให้รัฐบาลได้ซากเสือ Tasmania ประมาณ 2,184 ตัว การถูกล่า การล้มตายเพราะโรคระบาด และการแย่งอาหารกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ทำให้จำนวนประชากร thylacine ลดลงมากจนใกล้สูญพันธุ์
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเสือ Tasmania คือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thylacinus cynocephalus มีญาติที่ใกล้ชิดที่สุด คือ Tasmanian devil โลกไม่มีข้อมูลด้านพฤติกรรมของมัน จะมีก็เพียงว่ามันอยู่ในลำดับ marsupial คือมีกะเปาะหน้าท้อง ปากกว้างอ้าได้ประมาณ 120 องศา ความสูงวัดถึงไหล่ได้ 58 เซนติเมตร ขนมีสีน้ำตาล-เหลือง หางยาว แถบตามลำตัวเป็นลายสีน้ำตาล-ดำ ซึ่งยาว 15-20 เซนติเมตร ชอบอาศัยอยู่ในป่า ออกลูกครอกละ 3 ตัว มีอายุตั้งแต่ 8-10 ปี หนักประมาณ 20 กิโลกรัม อาหารหลักของมัน คือตัว wallaby สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และนก มันมักไม่ส่งเสียงเวลาอยู่เฉย ๆ แต่จะส่งเสียงดังเวลาออกล่าเหยื่อ มักพบอาศัยอยู่บนเกาะ Tasmania ในป่าของ Australia และ New Guinea มักล่าเหยื่อตามลำพังในเวลาฟ้าสางหรือในเวลากลางคืน แม้จะวิ่งได้ไม่เร็ว แต่ก็มีจมูกไว และใช้วิธีไล่ตามเหยื่อจนกระทั่งเหยื่อหมดแรง มันจึงลงมือสังหาร
เทคนิคที่จะใช้ในการฟื้นคืนชีพ thylacine ตามความคิดของ Hugh Tyndale-Biscoe แห่ง Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO) ที่ Canberra คือ จะต้องรู้ลำดับพันธุกรรมทั้งหมดของ thylacine ซึ่งต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ และใช้เวลาในการตัดต่อยีน โดยการนำเซลล์บริสุทธิ์ของสัตว์ที่สูญพันธุ์ ซึ่งไม่ปนเปื้อนหรือเสื่อมสลายเพราะถูกทำลายด้วยสิ่งแวดล้อม หรืออาจะนำมันมาจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำมาก จนซากอยู่ในสภาพแช่เข็ง จากนั้นก็จะต้องหาเซลล์อุ้มบุญ โดยนำนิวเคลียสของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปใส่ในเซลล์ของสัตว์สปีชีส์อื่น ที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน แต่เซลล์อุ้มบุญจะต้องไม่มีนิวเคลียส จากนั้นก็กระตุ้นเซลล์ใหม่ให้แบ่งตัว จนได้ตัวอ่อนที่สามารถดำรงชีพต่อไปได้ ไม่ว่ามันจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อยอำนวยก็ตาม แล้วนำตัวอ่อนไปถ่ายลงในไข่ของสัตว์อุ้มบุญ เพื่อให้มันพัฒนาเป็นตัวอ่อนของสัตว์ที่สูญพันธุ์ต่อไป กระนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่า เนื้อเยื่อของ Tasmanian devil จะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวอ่อน thylacine อย่างไร และนั่นก็หมายความว่า เราจะได้สัตว์คล้าย thylacine แต่ไม่ใช่ตัว thylacine จริงๆ
หนทางสร้างสัตว์ที่สูญพันธ์ไปแล้วยังอยู่อีกไกล แต่ก่อนจะถึงวันนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็จะต้องพยายามต่อไป และต้องรู้ด้วยว่าสัตว์ที่สร้างจะเป็นชนิดใหม่ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมเลยก็ได้
ช้างแมมมอธได้สูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นเวลานานร่วม 4,000 ปีแล้ว แต่ ณ วันนี้ ทีมนักวิจัยในสังกัด Colossal Biosciences ได้ตั้งเป้าจะคืนพันธุ์แมมมอธให้มันได้กลับมาเดินท่องโลกอีกคำรบหนึ่ง จากเหตุผลที่ว่าเมื่อปี 2022 ทางบริษัทได้อ้างถึงความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของช้างเอเชียได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
แมมมอธเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุค Pleistocene มีลักษณะเหมือนช้างทั่วไป แต่ตามตัวมีขนยาว สูงประมาณ 4.5 เมตร มีงวงใหญ่ เพราะดินฟ้าอากาศในยุคน้ำแข็งหนาวมาก ดังนั้นหนังของแมมมอธจะมีไขมันซ่อนอยู่เป็นชั้นหนา เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย ศีรษะแมมมอธมีขนาดใหญ่กว่าศีรษะช้างปัจจุบัน งาโค้งยาว หูเล็ก และหางสั้น ชอบอาศัยตามทุ่งหญ้า tundra และ steppe ใน Siberia ซากของแมมมอธที่ขุดพบในบริเวณนั้น แสดงว่ามันกินพืช เช่น สน หลิว ใบ birch และใบ elm ชาวไซบีเรียเมื่อ 30,000 ปีก่อน นิยมฆ่าช้างแมมมอธเพื่อเอางาไปทำอุปกรณ์และเครื่องใช้ (เพราะ tundra ไม่มีต้นไม้ให้ตัดไปทำอุปกรณ์ได้มากเพียงพอ) และชอบกินเนื้อช้างแมมมอธเป็นอาหาร การพบซากและอุปกรณ์หินในบริเวณใกล้เคียงแสดงให้เห็นกรรมวิธีล่าแมมมอธของชาวไซบีเรียในเวลานั้น ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบโครงกระดูกแมมมอธแล้ว 31 โครง
แต่ในบริเวณอื่น เช่น เอเชียตอนเหนือ อเมริกาเหนือก็เคยเป็นถิ่นอาศัยของแมมมอธ ที่เมือง Moravia ในเซอร์เบีย มีการพบซากแมมมอธในสภาพดี ในที่อื่นเช่นที่ Prerov และ Mikeilov ในรัสเซียก็มีพบซากแมมมอธเช่นกัน
ที่ Siberia ในปี 1907 มีการพบซากแมมมอธอายุ 10,000 ปี จมอยู่ในสระน้ำแข็ง และที่ Academy of Science ใน St.Petersburg ก็มีซากแมมมอธ ซึ่งขุดพบที่แม่น้ำ Berezovka
คำถามที่ทุกคนสังสัย คือ ถ้านักวิทยาศาสตร์รู้ genome ทั้งหมดของแมมมอธ การสร้างแมมมอธก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะผู้สร้างจำเป็นต้องรู้ลำดับของ genome อย่างถูกต้อง แล้วต้องสังเคราะห์โครโมโซมเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง จากนั้นก็นำไปใส่ใน nucleus เพื่อนำไปฝังในไข่ของช้างที่จะทำหน้าที่อุ้มบุญ และนำไปถ่ายลงในครรภ์ช้างตัวเมียต่อไป
ความยุ่งยากประการแรก คือ การหาลำดับ genome ของแมมมอธ เพราะ genome มักจะอยู่ในสภาพเสื่อมสลายที่แตกต่างกัน ดังนั้น genome หลายส่วนจึงอาจเปื่อยแตกสลาย หรือกลายพันธุ์จนทำให้คู่ base เรียงผิดลำดับไป
เมื่อการเสื่อมหรือการเปลี่ยนแปลงของ genome เกิดจากการถูกราหรือแบคทีเรียที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมถูกรบกวน ดังนั้นการป้องกันมิให้ genome ของแมมมอธถูกรบกวนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และนั่นหมายความว่ากระบวนการเก็บ genome ของแมมมอธมาจะต้องกระทำอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อจะได้ genome ที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบที่สุด
การรู้ลำดับ genome เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะผู้สร้างแมมมอธจะต้องรู้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของโครโมโซม ตราบจนวันนี้ นักวิจัยก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ chromosome ทั้งหมดของแมมมอธ แต่ก่อนจะรู้จำนวนที่แท้จริง การรู้จำนวน chromosome ของช้างอินเดีย (Elephas maximus indicus) ซึ่งเป็นช้างสปีชีส์ที่ใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับแมมมอธก็อาจจะช่วยได้มาก
ในกรณีของแมมมอธ การสร้างโครโมโซม X นับเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว การสร้างโครโมโซม Y และ centromere ของนิวเคลียสก็เป็นเรื่องที่ยิ่งยากขึ้นไปอีก การหาลำดับที่ถูกต้องของ chromosome และ centromere ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเมื่อทุกคนตระหนักว่า genome ของตัวแบคทีเรีย Mycoplasma genitalium มี base pair 582,970 ดังนั้น genome ของแมมมอธอาจจะมีมากถึง 4,700 ล้านคู่ ดังนั้นสมมติว่าแมมมอธกับช้างอินเดียมีโครโมโซม 56 ชิ้นเท่ากัน นั่นหมายความว่า โครโมโซมแต่ละชิ้นจะมี base pair โดยเฉลี่ย 160 ล้านคู่ ซึ่งจะต้องนำมาเรียงกันให้เป็นโมเลกุล DNA ที่เสถียร คือ ไม่แตกแยก ตลอดเวลาที่มีการสร้างแมมมอธในห้องทดลอง
ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ความสำเร็จของการสังเคราะห์แมมมอธในห้องปฏิบัติการยังอยู่ห่างอีกไกล เพราะนอกจากโครโมโซมแล้ว นักทดลองต้องสร้างเยื่อหุ้มนิวเคลียส เพื่อหุ้มโครโมโซมทั้งหมด รวมถึงสร้างส่วนที่เป็น mitochondria ซึ่งมี genome ที่ต้องสอดคล้องกับ nucleus ด้วย เพราะถ้าเซลล์ไม่สอดคล้องสมพงษ์กัน มันก็อาจจะตาย แต่ช้างอินเดียกับแมมมอธเป็นสัตว์สปีชีส์ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ปัญหานี้ก็ไม่น่าจะมีมาก
ตามปรกติช้างตัวเมียมักตกไข่ทุก 16 สัปดาห์ แต่อาจตั้งครรภ์นานถึง 5 ปี และเวลาตกไข่ มันจะมีไข่อ่อนเกิดขึ้นเพียงหนึ่งใบ ซึ่งจะฝังตัวอยู่ลึกเข้าไปในตัวช้างถึง 1 เมตร การนำนิวเคลียสไปใส่ในไข่ของช้างตัวเมียจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้แมมมอธตัวเมียแล้ว ความยุ่งยากขั้นต่อไปก็คือสร้างแมมมอธตัวผู้เพื่อนำเชื้อตัวผู้และไข่มาผสมกัน ให้ได้แมมมอธตัวอ่อนที่หนักประมาณ 120 กิโลกรัม ซึ่งจะหนักพอ ๆ กับลูกช้างอินเดีย
ต่อไปในอนาคตนักวิทยาศาสตร์อาจต้องสร้างแมมมอธเป็นฝูง และต้องหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้มันสามารถดำรงชีวิตตามธรรมชาติได้ และคงต้องช่วยมันสืบพันธุ์ เพื่อความยั่งยืนของสายพันธุ์
ประเด็นทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่ต้องการเงินมาลงทุนมหาศาล และกระบวนการสร้างก็ยุ่งยากมาก จนอาจทำให้หลายคนหมดความต้องการจะเห็นแมมมอธคืนชีพ แต่ในอีก 50 ปี แมมมอธอาจกลับมาเดินบนโลกอีกครั้งหนึ่งก็ได้ เมื่อวิทยาการ ด้าน synthetic biology ก้าวหน้าไปมากกว่านี้ และถ้านักวิทยาศาสตร์สร้างแมมมอธจริง ๆ ไม่ได้ ทางเลือกหนึ่งที่อาจชดเชยความรู้สึกได้ คือ ใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมสร้างช้างแอฟริกัน (Loxodonta africana) ให้มีขนและมีงาโค้งยาว “เหมือน” แมมมอธ
อ่านเพิ่มเติมจาก When Life Nearly Died: The greatest mass extinction of all time โดย Michael J. Benton จัดพิมพ์โดย Thames and Hudson ปี 2010
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์