กองทุน ววน. โดย สกสว. ประสานความร่วมมือ สศช. ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจใต้ พัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ด้านการคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย - ฝั่งอันดามัน – ประเทศแถบเอเชียใต้
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับจังหวัดชุมพร ได้จัดประชุมระดมความเห็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC): เป้าหมายและความคาดหวังต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนายุทธศาสตร์พื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกษตรจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมภาค อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค สภาเกษตรกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ เข้าร่วมประชุมระดมสมองในครั้งนี้
โอกาสนี้ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวถึงการขับเคลื่อน SEC ว่า ที่ผ่านมายังมีการทำความเข้าใจขั้นตอนการทำงานในพื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่ด้วยมีการกำหนดนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่ประกอบด้วยจังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่างภาคใต้ สู่ชายแดนไทยสู่มาเลเซีย และการบูรณาการการทำงานระหว่างส่วนภูมิภาคกับส่วนกลางระดับประเทศ ที่สำคัญ แผนดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนจังหวัด ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนา คือ "ชุมพรเมืองน่าอยู่ บนพื้นฐานการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวคุณภาพ เชื่อมโยงการพัฒนาสองฝั่งทะเล" โดยนำเอาข้อมูลข้อเท็จจริงผ่านกระบวนการวิเคราะห์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประกอบกับพิจารณาปัญหาและความต้องการในการพัฒนาของพื้นที่ (Area) อำเภอต่างๆ และได้ร่วมกันกำหนดตำแหน่งการพัฒนาจังหวัดชุมพร “การพัฒนาการเกษตร ควบคู่การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ” และได้กำหนดประเด็นการพัฒนาจังหวัดเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1 การพัฒนาการเกษตรกรรมการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการพัฒนาในระดับภูมิภาค 2 การพัฒนาคน ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มีความมั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานให้มีความสมดุลและยั่งยืน 4 เพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการเชิงบูรณาการและการจัดการความมั่นคงเพื่อการพัฒนาแบบประชารัฐ
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดงาน ว่า สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้นำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาส่งเสริมและขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนและการขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การประชุมวันนี้จึงเป็นเวทีเพื่อรับฟังข้อมูลและความต้องการของพื้นที่และการทำความรู้จักหน่วยงานทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย - ฝั่งอันดามัน - ประเทศแถบเอเชียใต้ และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพการแปรรูปการเกษตรและการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวัฒนธรรมและพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ มีเป้าหมายคือ (1) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ยางพารา อาหารทะเลมูลค่าสูง รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจสำคัญ (2) เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (3) โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย – ฝั่งอันดามัน – ประเทศแถบเอเชียใต้ และ (4) พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยน ที่น่าสนใจ อาทิ ความเห็นจากทางภาคเอกชนที่ได้กล่าวถึง ศักยภาพของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยเฉพาะประมงและเกษตร ซึ่งต้องการการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตร การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีศักยภาพเพื่อรองรับการพัฒนาด้านต่างๆ นอกจากนี้รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่ามีความต้องการงานวิจัยเข้ามาพัฒนาการเกษตรทั้งระบบ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ มีข้อเสนอให้จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมให้กับพืชแต่ละชนิด เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และเสนอให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนร่วมกันคิดและดำเนินการ ในส่วนสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ความเห็นต่อเรื่องการสร้างความเข้าใจต่อเรื่องทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อน SEC กับคนในพื้นที่ สภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ควรมีการพัฒนาพืชเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องๆ เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ตั้งคณะกรรมการเฉพาะพืช เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบของพืชนั้นๆ เป็นต้น
ขณะที่ นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนายุทธศาสตร์พื้นที่ สศช. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ คือการยกระดับรายได้และเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศ ในส่วนกลไกการขับเคลื่อนนั้นมีทั้งกลไกส่วนกลางระดับประเทศ ที่ประกอบด้วยทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการขับเคลื่อน สำหรับภาคใต้จะมีจุดเน้นสำคัญคือ การเป็นประตูสำคัญของการเชื่อมโยงเพื่อการส่งเสริมการเกษตร ประมง การยกระดับคุณภาพมาตรฐาน โดยจะเน้น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่ง วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมศักยภาพของพื้นที่ ดังนั้น จึงอยากใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจ และประสานให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้