บพข. กองทุน ววน. หนุนงานวิจัยท่องเที่ยวไทย ชูประเด็นท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ผนึกกำลังผู้ประกอบการ นักวิจัย และพันธมิตรทางการท่องเที่ยวไทย ร่วมงาน WTM 2023 ณ กรุงลอนดอน มุ่งเป้าดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นท่องเที่ยวยั่งยืน
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึกกำลังร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว คณะนักวิจัย และพันธมิตรทางการท่องเที่ยวของไทย ร่วมงาน WTM 2023 ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2566 ณ Excel London กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ชูประเด็นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล พร้อมผนึกกำลังผู้ประกอบการ นักวิจัย และพันธมิตรทางการท่องเที่ยวไทย ร่วมงาน WTM 2023 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นงานส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวระดับโลก และมีความสำคัญที่สุดในสหราชอาณาจักร มีมายาวนานถึง 42 ปี มุ่งเป้าดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในตลาดยุโรปที่มีการใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวสูง และมีระยะเวลาพำนักนาน ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2566 ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.นำทีมคณะนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวมูลค่าสูง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และททท.สำนักงานลอนดอน เชิญให้เข้าร่วมงานมหกรรมการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ WTM LONDON 2023 ณ Excel London กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พร้อมผู้บริหาร คณะนักวิจัย ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย ร่วมเดินทางในครั้งนี้
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากการวิจัย ให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน ซึ่งขณะนี้มี 9 แห่ง รวมไปถึงสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริม ววน. ไปยังมหาวิทยาลัยและหน่วยงานระดับกระทรวง/กรมต่างๆในฐานะหน่วยรับงบประมาณราว 190 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ หน่วยบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ เป็นผู้อำนวยการ บพข. โดยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ โดยแผนววน.ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะ 5 ปี (ช่วงปี 2566-2570) กำหนดเป้าหมายในการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทยในระยะเวลา 10 วันขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป และที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น ตัวชี้วัดนี้จะไม่รวมกรณีไทยเที่ยวไทย จึงเป็นเหตุที่เราจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 1,000 คนจากหลากหลายมหาวิทยาลัย แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป ซึ่งการทำงานร่วมกับภาคเอกชนจะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง อาทิ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ( TEATA) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เป็นต้น ซึ่งสมาคมดังกล่าวยินดีร่วมลงทุน/In cash ในสัดส่วน 12 % -15% จากงบประมาณที่บพข.สนับสนุน ทั้งนี้ มีข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน มีเป้าประสงค์เดียวกัน เช่น ร่วมกันกำหนดการส่งมอบผลการวิจัย อาทิ ตัวชี้วัดในเรื่อง เศรษฐกิจ รายได้ของประเทศ รายได้ของผู้ประกอบการ ที่เน้นการทำงานคู่ขนานกัน
เรื่องของ Carbon Neutral Tourism เราได้รับความกรุณาจากสมาคม TEATA เป็นอย่างมาก ที่นำผลผลิตจากการวิจัย สินค้าและบริการที่เป็นผลผลิตการวิจัยมาร่วมกันออกแบบโปรแกรม/กิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการขายจริง จากปี 2564 ที่มีความร่วมมือกับองค์กร 8 พันธมิตร คือ อบก. ททท. สสปน. อพท. หอการค้าไทยและสมาคมหอการค้าไทย รวมทั้ง TEATA โดยมี อบก. หรือ TGO องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านเทคนิคการวัดการปล่อยคาร์บอน การลด การชดเชย ซึ่งขณะนี้ บพข.ได้จัดทำ แอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” เพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรม/โปรแกรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะมีการแถลงผลงานความสำเร็จในวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริมว่า การออกแบบแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือ การเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พยายามที่จะทำในเรื่องของคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตอนนี้เรายังอยู่ในขั้นของการวัด การลด และชดเชยอยู่ คาดว่าราวปี 2568-2569 TEATA ร่วมกับคณะนักวิจัย จะสามารถออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยว Net Zero Emmission Route โดยมีเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมหนุนเสริม กลุ่มที่ 2 คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตอนนี้มีเรื่องของ SPA และ SPORT เช่น มวย ปั่น วิ่ง กอล์ฟ ซึ่งในปีนี้มีการพัฒนา มวยไทย ซึ่งจัดเป็น Soft Power ชั้นนำของไทยไปสู่มวยในเมตาเวิร์สได้สำเร็จแล้ว กลุ่มที่ 3 คือ การวิจัยเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่บางประเด็นอาจเป็นข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวของประเทศ จึงจำเป็นต้องศึกษาหาทางออก ในรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วน อาทิ ผลกระทบของโควิดต่อภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งด้านเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ประกอบการ รวมทั้งแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (ผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ผู้ที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพผสมผสานการท่องเที่ยว เป็นต้น) โดยในกลุ่มนี้ มีพันธมิตรคือ ผู้ประกอบการนัตตี้แอดเวนเจอร์ ที่คว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 นี้ร่วมเสนอขายผลผลิตจากงานวิจัยเส้นทางเพื่อคนทั้งมวลอย่างน่าประทับใจ และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งตรงกับ Soft Power พร้อมแนวคิดในเรื่องของความยั่งยืน ตานโยบายของรัฐบาล
ด้านของ ททท. โดย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เผยกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในการแถลงข่าวของ ททท.ในงาน WTM 2023 ว่า “การเข้าร่วมงาน WTM ในครั้งนี้ ททท.ได้เปิดตัวแคมเปญ Meaningful Relationship ซึ่งเป็นแคมเปญสื่อสารตลาดต่างประเทศ มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความหมายทั้งกับผู้คน ชุมชนท้องถิ่น ธรรมชาติ หรือแม้แต่กับตัวตนภายในของนักท่องเที่ยวเอง ที่จะทำให้การเดินทางนั้นเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและอยู่ในความทรงจำ
นอกจากนี้ ททท. ยังมุ่งที่จะตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมกับพันธมิตรในการเสนอขายเส้นทางการท่องเที่ยวแบบ Carbon-Neutral สู่ตลาดยุโรป ซึ่งกระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ ผ่าน กิจกรรม Carbon Neutral Tourism in Thailand by TEATA & Tourlink เชิญผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเข้าร่วม 25 ราย เพื่อนำเสนอขายกว่า 20 เส้นทางท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด ปรับ ลด ชดเชย ในตลาดยุโรป
วสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เผยว่า สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เป็นสมาคมที่เกิดขึ้นมาประมาณ 25 ปี เป็นบริษัทนำเที่ยว โรงแรมหรือ Outdoor Activity ในการนำภาคเอกชนการท่องเที่ยวมารวมตัวกันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ทำเรื่องของความยั่งยืนมาโดยตลอด เป็นโอกาสดีอย่างมากที่ผู้ประกอบการอย่างเราได้รับการหนุนเสริมทางวิชาการ ผ่านกระบวนการวิจัยจาก หน่วยทุน บพข. กองทุน ววน. ทำให้มีเข็มมุ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการที่ประเทศไทยไม่เคยมีใครทำเรื่องนี้มาก่อนก็ได้มีการเข้าไปหาองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการชดเชยคาร์บอนในทางท่องเที่ยว ทำให้ได้แนวคิดขึ้นมาที่จะทำการวิจัยเมื่อปี 2564 ที่จังหวัดน่าน นับเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดกำเนิด ทำให้เราได้กระบวนการ “วัด ลด ชดเชย และบอกต่อ” การวัด ในที่นี้หมายถึง การประเมินการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนปี 2565 ได้นำกระบวนการที่ได้มาออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว และได้มีการทดสอบการท่องเที่ยวมาทดสอบความเชื่อมั่นว่าน่าเชื่อถือไหม ได้ผลจริงไหม ภายใต้งานวิจัยเราต้องทำให้ถูกต้องเพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงได้รับความร่วมมือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นพี่เลี้ยงให้ นำศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ และทำให้เส้นทางต้นแบบกว่า 50 เส้นทาง มาพัฒนาและยกระดับให้สูงขึ้น และในปีนี้ 2566 ได้มีการทำงานร่วมกับ Tourlink หน่วยงานจากยุโรปที่ทำเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้มี Camacal เป็นเครื่องมือวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกิจกรรมการท่องเที่ยวระดับสากล ผ่านการวิเคราะห์รูปแบบการเดินทาง ที่พัก และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทำเรื่องของ PCRs (Product Category Rules) คือ การจัดทําข้อกําหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละ ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
ในโอกาสนี้ Tourlink โดย คุณ Peter Richards Project Manager at TOURLINK Project (SWITCH ASIA) ได้เชิญ Tour Operator ในภาคพื้นยุโรปจับมือในการทำเรื่องของการตลาด โดย 7 เส้นทางไฮไลต์ที่นำเสนอขายจริง รวมกับ 13 เส้นทางที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวิจัยของ บพข.นั้นสามารถขายได้จริง มีการนำเส้นทางเดิมมาทำให้เป็น CNT หรือ Carbon Neutral Tourism ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ TEATA สามารถเผยแพร่ตรงนี้ได้อย่างมั่นใจ เพราะตลาดยุโรปและตลาดอังกฤษให้ความสนใจเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในงาน WTM 2023 นี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากหลากหลายบริษัททั้งที่ติดต่อมาทั้งออนไลน์และมาที่บูธ รวมราวๆ 35 บริษัท โดยคณะกรรมการ TEATA ที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ได้แก่ คุณนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น คุณปาริชาต สุนทรารักษ์ คุณสุภาวดี ฤทวิรุฬห์ คุณกุสุมาและคุณอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ในฐานะสมาชิกของ TEATA
นายก TEATA เสริมต่อว่า เรื่องของการชดเชยคาร์บอนแต่ก่อนเราจะต้องมีการซื้อโครงการจากต่างประเทศ เพื่อมาชดเชยแต่วันนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยจะมีแพลตฟอร์มในการชดเชยคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น ซึ่งทางบพข.ได้สนับสนุนการจัดทำแอพพลิเคชันเกิดขึ้น ชื่อว่า “Zero Carbon” สามารถคำนวณในมือถือได้เลยและจะได้ Certification เบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการการท่องเที่ยวไทย
นิธิ สืบพงษ์สังข์ ซีอีโอ นัตตี้แอดเวนเจอร์ อยุธยาโบท จากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวกับเราว่า การร่วมงานเจรจาธุรกิจที่ WTM2023 LONDON โดยภาพรวม เราได้พบกับ ตัวแทนจากบริษัทคู่ค้า 49 ราย มี 13 รายที่ให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล หรือ Tourism for All ซึ่งเป็น โปรแกรมหลักที่ Nutty's Adventures นำไปเผยแพร่ในงานนี้ และมุ่งเน้น Destination for All ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่รับการสนับสนุน จาก บพข. กองทุน ววน. มาอย่างต่อเนื่อง เท่าที่มีการพูดคุยกับคู่สนทนาทางการค้า เห็นชัดว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคพื้นยุโรปมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างเป็นระบบโดยผ่านงานวิจัยที่มีการทำงานร่วมกันทั้งทางภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการที่หนุนเสริมกันอย่างต่อเนื่อง และการทำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโมเดลการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของ บพข.นี้ สร้างประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการร่วมมือทำงานที่ลงลึกทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพ ทำให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้นคล่องตัวขึ้นและครบมิติมากขึ้น
นอกจากนี้ ผศ.สุภาวดี ได้นำทีมผู้บริหาร ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยและคณะนักวิจัย ร่วมหารือการส่งเสริมด้านการตลาดและส่วนที่เกี่ยวข้องในงาน WTM London 2023 กับนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. และนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการททท. ด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกา โดย ททท.ได้ขอให้ทาง บพข. ซึ่งเข้มแข็งเชิงวิชาการ/การวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้การสนับสนุนการวิจัยเพื่อกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพจำนวนมากตามเป้าหมายของรัฐบาล หรือ Thailand Tourism Carrying Capacity เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนกับศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการ โดยอาจจะเริ่มจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ รวมทั้ง ข้อมูลเชิงลึกของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาทิ สไตล์ ความชื่นชอบ การใช้จ่ายเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของททท. ยังได้กรุณาแนะนำประเด็นวิจัยในการจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆเพื่อให้ความรู้กับตัวแทนนำเที่ยวในต่างประเทศ ก่อนดำเนินการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวในระยะต่อไป จึงนับเป็นประเด็นวิจัยที่บพข.ต้องเร่งดำเนินการสนับสนุนหน่วยงานสำคัญของประเทศ
ในวันที่สามของการจัดงาน ททท. ได้เปิดพื้นที่ให้ทางคณะนักวิจัย บพข. และผู้ประกอบการของสมาคม TEATA ได้เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์กับตลาดยุโรป คณะนักวิจัยได้นำเสนอข้อมูล Thai Wellness Andaman และตัวอย่างกิจกรรมและโปรแกรมการท่องเที่ยว Wellness รวมถึง Thailand Carbon Neutral Tourism และ Agro Tourism ให้กับตัวแทนนำเที่ยว และองค์กรต่างๆ ในประเทศสหราชอาณาจักรและภาคพื้นยุโรป และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะกับการดำเนินงาน คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผอ.แผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บพข. รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผอ.แผนงานการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้านการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว และรศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร ด้านการท่องเที่ยวเชิงการเกษตร พร้อมด้วยคุณอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก และ คุณกุสุมา กิ่งเล็ก เจ้าของโรงแรมอ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ รีสอร์ต แอนด์ สปา, กระบี่ โรงแรมแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานการบริการเชิงสุขภาพ WellHotel ในระดับ World Class พร้อมด้วย ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. และคุณปาริชาต สุนทรารักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยเป็นผู้ดำเนินรายการและแนะนำภาพรวมของ CNT ที่กำลังดำเนินการ
ด้าน ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนากองทุนและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สกสว. กล่าวเสริมถึงบทบาทของกองทุน ววน. ว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งบริหารจัดการกองทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดย ผู้อำนวยการ สกสว. รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล พร้อมให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนั่นเอง