xs
xsm
sm
md
lg

ประเพณีบูชายัญ ในโลกโบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2023 นี้ สำนักข่าว CNN ได้รายงาน ผลการวิจัยของ Oscar Nilsson ซึ่งเป็นศิลปินชาวสวีเดนที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างใบหน้า และรูปร่างของมนุษย์โบราณว่า หลังจากที่ได้ใช้เวลานานร่วม 400 ชั่วโมงในการวัดขนาดและศึกษารูปทรงของกะโหลก โดยใช้เทคโนโลยี CT (computed tomography) scan ทีมงานของ Nilsson ก็สามารถสร้างใบหน้าจากมัมมี่ของเด็กสาวชาวอินคาที่ได้เสียชีวิตไปเมื่อ 500 ปีก่อนได้สำเร็จ ผลงานนี้ทำให้โลกรู้ว่าเหตุใดซากศพของเธอจึงถูกนำไป “ทิ้ง” ที่ใกล้ยอดภูเขาไฟ Ampato ที่สูง 6,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดยอดหนึ่งของเทือกเขา Andes ในทวีปอเมริกาใต้ ข้อมูลด้านเครื่องประดับและ DNA ของมัมมี่ยังช่วยให้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีรู้สาเหตุการตายของเธอ ตลอดจนถึงประเพณีความเชื่อของชาวอินคาในพิธีบูชายัญ เมื่อ 500 ปีก่อนด้วย


หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าในปี 1995 Johan Reinhard ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวอเมริกัน ขณะสำรวจบริเวณยอดภูเขาไฟ Ampato ได้เห็นซากมัมมี่ซากหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสถาพที่เกือบจะสมบูรณ์พร้อม และรู้สึกแปลกใจมากที่ได้รู้ว่าชาวอินคาก็มีประเพณีมัมมี่เหมือน ๆ ชาวอียิปต์ที่อยู่คนละซีกโลกกัน และเมื่อมัมมี่เป็นซากของเด็กผู้หญิง Reinhard จึงได้ตั้งชื่อเล่น ๆ ของมัมมี่ว่า Juanita การวิเคราะห์เบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า Juanita ได้เสียชีวิตไปขณะมีอายุประมาณ 15 ปี มัมมี่นี้มีผ้าโพกศีรษะกับเสื้อคลุม และที่บริเวณใกล้ ๆ ก็มีตุ๊กตาเซรามิกที่เคลือบด้วยทองคำและเงินวางอยู่ด้วย


ครั้นเมื่อ Reinhard ได้เห็นบาดแผลลึกที่ศีรษะของ Juanita เขาก็ตระหนักได้ในทันทีว่า Juanita คือ ส่วนหนึ่งของพิธีฆ่าบูชายัญ

ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเธอเลย จนกระทั่งเมื่อต้นปีนี้เอง ภาพถ่าย CT scan ที่กะโหลกก็แสดงให้เห็นว่า ศีรษะของเธอถูกทุบด้วยของแข็งจนแตก แล้วฆาตกรก็ได้นำร่างของเธอไปวางที่บริเวณยอดภูเขาไฟ เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งขุนเขา

การรู้ DNA ของซากได้แสดงให้รู้ว่า ผู้ตายเป็นเด็กผู้หญิงวัย 15 ปี มีบรรพบุรุษเป็นชาวเปรู คือ เป็นคนในพื้นที่ มิใช่คนที่อพยพมาจากพื้นที่อื่น เธอมิได้เสียชีวิตเพราะขาดสารอาหาร แต่ต้องถูกฆ่า เพราะบิดามารดาของเธอต้องการจะได้รับการยอมรับและยกย่องโดยเพื่อนบ้านว่า ได้เสียสละชีวิตของบุตรสาวสุดที่รัก เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่เย็นเป็นสุขและปลอดภัย เพราะ Juanita จะได้ไปขอพรจากเทพเจ้าให้คุ้มครองทุกชีวิตในหมู่บ้านของเธอ และตัวเธอเองก็จะได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าด้วย


ดังนั้นการตายของเธอ จึงเป็นเหตุการณ์วิน-วินที่ทำให้ทุกคนมีความสุข

ความจริงการฆ่าบูชายัญนี้ได้เป็นประเพณีที่สังคมโบราณนิยมทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น ในประเทศกรีซ เมื่อ 2,000 ปีก่อน บนเกาะ Leucas ชาวเกาะที่นั่นมีประเพณีลงโทษคนที่กระทำความผิดร้ายแรงด้วยการประหารชีวิต แต่แทนที่จะใช้ดาบตัดศีรษะ ชาวเกาะจะจับตัวคนผิดมา แล้วนำขึ้นไปที่หน้าผาสูงริมทะเล เพื่อผลักให้ตกทะเลตาย แต่ก็ยังมีความปราณีเล็กน้อย โดยจะอนุญาตให้คนต้องโทษได้มีขนนกติดแปะตามตัว และให้นำนกตัวเป็น ๆ มาผูกติดที่ตัวของนักโทษด้วย เพื่อช่วยไม่ให้นักโทษตกหน้าผาเร็วจนเกินไป

หลังการกระโดด ถ้านักโทษไม่ตาย เขาก็จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไท แต่จะต้องถูกอัปเปหิออกจากเกาะ แต่ถ้าเขาตาย เรื่องทุกอย่างก็ยุติ เพราะเขาได้อุทิศชีวิตให้แก่เทพเจ้าแล้ว การตายของเขาจึงเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ปกครอง เพราะได้แสดงให้เห็นว่า เจ้าเกาะมีอำนาจจะสั่งฆ่าคนได้

ในดินแดน Mesopotamia (อิรักและอิหร่านในปัจจุบัน) เมื่อ 4,500 ปีก่อน ก็มีประเพณีการฆ่าบูชายัญเช่นกัน

ดังในปี 1923 Leonard Woolley (1880–1960) ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ขุดหาสถานที่ฝังพระศพของกษัตริย์แห่งอาณาจักร Sumer ที่เมือง Ur (ซึ่งอยู่ในอิรักปัจจุบัน) และได้เห็นโครงกระดูก 63 ชุดวางเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบในหลุมฝังพระศพ ส่วนที่บริเวณปากหลุม มีโครงกระดูกของทหาร 6 คน สวมหมวกเหล็ก และมีเกวียนเทียมวัว 2 เล่มด้วย ติดตามด้วยซากศพของบุรุษและสตรี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในพระมหาราชวัง เพราะทุกคนสวมเครื่องประดับทองคำที่มีค่า


เมื่อ Woolley ได้เห็นฉากทัศน์นี้ เขาถึงกับตะลึงเสมือนกับการได้ไปเข้าร่วมในพิธีพระศพของกษัตริย์ ที่มีข้าราชบริพารและทหารจำนวนนับร้อย ซึ่งได้ตายไปเพราะจะติดตามไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในภพหน้า

ดังนั้นในปี 1934 Woolley จึงได้สรุปการค้นพบของเขาว่า ความตายของคนทั้งกลุ่มนี้ เกิดจากการดื่มยาพิษอย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะเขาได้เห็นหม้อต้มยาจำนวนมากมาย ซึ่งทำด้วยทองแดงและมีขนาดใหญ่ วางเรียงรายอยู่ในบริเวณหลุมฝังศพด้วย

แต่ในปี 2011 เมื่อ Janet Monge ในสังกัดมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้ถ่ายภาพ CT scan ที่กะโหลก 2 ชิ้น เธอกับเพื่อนร่วมงานก็รู้สึกประหลาดใจและตกใจมาก ที่ได้พบว่า รอยแตกที่ด้านข้างของกะโหลกมีลักษณะเป็นรอยร้าวทางยาว

นี่จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ฉากทัศน์การฆ่าตัวตายหมู่ ดังที่ Woolley สันนิษฐานนั้นไม่ถูกต้อง เพราะหลักฐานนี้ชี้บอกว่า นี่เป็นการบูชายัญหมู่มากกว่า

ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้รายงานผลการค้นพบที่น่าตกใจนี้ในวารสาร Antiquity เมื่อปี 2011 ว่า เหยื่อบูชายัญได้ถูกฆ่าด้วยอาวุธแหลมคมที่ถูกเผาจนร้อนจัด แล้วนำไปจุ่มในปรอทก่อนที่จะนำไปแทงที่กะโหลกศีรษะ เมื่อเหยื่อสิ้นชีวิตแล้ว เพชฌฆาตก็ได้นำร่างไปเรียงกันเป็นแถว แล้วสวมหมวกเหล็กที่ศีรษะ เพื่อไม่ให้ใครได้เห็นบาดแผลที่ศีรษะเป็นเวลานานร่วม 5,000 ปี

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานมากมายที่แสดงว่า พิธีบูชายัญมิได้เป็นประเพณีของทุกชาติ แต่ในโลกโบราณ พิธีกรรมนี้จะมีอย่างแพร่หลาย ตามคำบัญชาของผู้มีอำนาจที่จะตัดสินใจว่า ใครควรจะอยู่ และใครควรจะไป หรือใครสมควรตาย จนกระทั่งถึงยุคที่โลกเริ่มมีศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม การมีกฎห้ามฆ่าคน เพื่อบูชายัญจึงได้ลดลง และสาบสูญไปในที่สุด

สำหรับสาเหตุที่สังคมโบราณใช้อ้างในการฆ่าคนเป็นผักเป็นปลานั้นก็คือ ต้องการจะให้เทพเจ้าและกษัตริย์ทรงพอพระทัย และให้ชาวบ้านทั่วไปได้เห็นว่าเทพเจ้าและกษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือปุถุชนทุกคน ดังนั้นหลังจากที่สงครามยุติ เราจึงเห็นประเพณีสังหารเชลยศึกเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เห็นรู้สึกกลัวจนลนลาน และไม่กล้าแม้แต่จะคิดกระด้างกระเดื่องต่อพระราชอำนาจ เพราะกลัวจะถูกลงโทษในลักษณะเดียวกัน


ภาพวาดที่ปรากฏบนเครื่องปั้นดินเผาของชาว Maya ตลอดจนถึงภาพวาดปูนเปียกบนผนังของศาสนสถานในอาณาจักรโรมัน และในอารยธรรมกรีกมีภาพวาดที่แสดงว่า บรรพบุรุษในดินแดนทั้งสองมีประเพณีบูชายัญ เหมือนดังที่ Herodotus (484-425 ปีก่อนคริสตกาล) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก และผู้เฒ่า Pliny (23-79) แห่งโรมได้บรรยายไว้ทุกประการ จารึกโบราณของนักบวชชาวสเปนในหนังสือภาพ (codex) ก็ได้กล่าวถึงการฆ่าคนบูชายัญของชาว Aztec, Inca และ Maya ในทวีปอเมริกาก่อนยุค Columbus (1451-1506) ว่า จะฆ่าคนที่มีชีวิต เพื่อให้วิญญาณได้ตามไปให้บริการแก่เจ้านายในปรภพ


แม้การพลีชีพเพื่อญาติ ๆ จะมีปรากฏในภาพวาด ในเรื่องเล่า และในวรรณกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่โลกก็ไม่มีหลักฐาน (ซากศพ) ให้เห็นมาก จนกระทั่งปี 1923 ที่ Woolley ได้พบหลักฐานการสังหารหมู่บูชายัญที่ Ur


ในอดีตเมื่อปี 1487 ประวัติศาสตร์ของชาว Aztec ได้บันทึกไว้ว่า นักรบ Aztec เป็นคนดุร้ายและป่าเถื่อนที่สุดในโลก เพราะได้เคยฆ่าเชลยศึกไปเป็นจำนวนมากถึง 80,000 คน เพื่อถวายแด่องค์เทพเจ้า แห่งพีระมิดที่เมือง Tenochtitlan (ตัวเลข 80,000 นี้ค่อนข้างสูงไป) ครั้นเมื่อนักโบราณคดีได้ขุดพบมีดที่ใช้สังหาร กองหินที่มีคราบเลือด และกระดูกแขนกับขาที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าของอวัยวะได้ถูกฆ่า โดยเพชฌฆาตใช้มีดแทงที่อก เพื่อควักหัวใจเอาไปบูชายัญ ศพที่ปรากฏเป็นศพที่ไร้ศีรษะ 47 ศพ และเป็นศพเด็กอีก 42 ศพ

หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดประเพณีบูชายัญนั้น มาจากความจงรักภักดีอย่างสุดขั้วของประชาชน เพื่อให้ผู้ถูกฆ่าได้ตายไปพร้อมกับผู้ครองนครหรือกษัตริย์ แล้วจะได้ถวายการรับใช้ต่อไปในปรภพ และจากความเชื่อที่ว่าการถวายชีวิตของลูกอันเป็นที่รักของพ่อแม่ต่อเทพยดา จะทำให้ลูกได้เป็นเทพด้วย ส่วนการบูชายัญของเชลยศึกนั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาที่มักกระทำกันในช่วงต้นของรัชกาล ซึ่งเป็นเวลาที่กษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกคนรู้สึกเกรงกลัว และเหตุผลสุดท้ายที่ทำให้เกิดพิธีบูชายัญ คือ เวลามีวิกฤตกาลคุกคามชีวิต เช่น เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือน้ำท่วมรุนแรง เพราะสังคมโบราณมีความเชื่อว่า การบูชายัญด้วยชีวิตคนจะสามารถทำให้เทพเจ้าทรงพอพระทัย และจะไม่ทรงทำร้ายชีวิตใครอีกเลย

ในการบูชายัญที่เมือง Ur นั้น เป็นพิธีกรรมที่ถูกจัดขึ้น เพื่อให้กษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ ทรงสามารถดำเนินพระราชชีวิตในปรภพต่อไปได้ เหมือนดั่งที่ทรงทำเมื่อยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เพราะในพิธีบูชายัญมีภักษาหาร เครื่องดื่มพร้อม และมีนักดนตรีคอยขับร้องให้ความเพลิดเพลินแก่แขกที่ได้รับเชิญ ก่อนจะมีพิธีสังหารหมู่ นอกจากนี้ในงานพิธีนั้นก็ยังมีการประดับประดาสถานที่ด้วยอัญมณีมีค่ามากมายด้วย

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ในบรรดาคนที่เสียชีวิตไปนั้น มีคนที่เป็นทหารรับใช้ และเป็นนางสนมตัวจริงหรือไม่

การวิเคราะห์ isotope ของธาตุ strontium (Sr) ที่อยู่ในกระดูกและฟันของซากศพ ได้ข้อมูลที่แสดงว่าคนรับใช้ 2 คน เป็นชาวเมือง Ur มิได้เป็นเชลยศึกจากต่างแดน ข้อมูลนี้จึงทำให้เรารู้ว่า คนใช้ที่ตายไปนั้นเป็นคนใช้ตัวจริง แต่การสังหารคนใช้เป็นจำนวนมากนับร้อยนั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก เพราะจากหลุมฝังศพ 2,000 หลุม ที่เมือง Ur มีเพียง 16 หลุมเท่านั้น ที่มีการฝังศพของคนใช้ให้ตามไปด้วย

นั่นแสดงว่า ประเพณีการฝังบ่าวให้ตามไปรับใช้เจ้านายได้ลดการปฏิบัติลงตามวันเวลาที่ผ่านไป เพราะคงมีคนคิดได้ว่าการนำทรัพย์สมบัติที่มีค่าไปฝังใต้ดิน เป็นเรื่องสิ้นเปลือง และเมื่อสถาบันกษัตริย์มีความมั่นคงมากขึ้น พิธีกรรมบูชายัญหมู่ก็ได้ลดลง


ส่วนประเพณีบูชายัญเด็ก ๆ ของชาว Maya นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในปี 2010 Stephen Houston จากมหาวิทยาลัย Brown ในสหรัฐอเมริกา ได้พบห้องลับในพีระมิด El Diablo ที่ Guatemala ว่า ภายในห้องมีศีรษะ ฟัน ของเด็ก 6 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ถูกอัดแน่นอยู่ในโอ่งขนาดใหญ่ นี่เป็นการบูชายัญด้วยเด็ก เพื่อให้เทพเจ้าแห่งข้าวโพดทรงพอพระทัย เพราะชาว Maya ถือกันว่า เด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีค่ามากที่สุด การถวายเด็ก จึงเป็นการเสียสละอย่างสูงสุดของครอบครัว


การวิเคราะห์ซากศพของเด็กที่ถูกฆ่า แสดงให้เห็นว่า ก่อนจะถูกนำตัวไปประกอบพิธีกรรม เด็กได้รับอาหารและการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี การตรวจ isotope ของธาตุ strontium ในเส้นผม แสดงให้เห็นว่าจากเดิมที่เด็กเคยกินอาหารราคาถูก เช่น อาหารพวกธัญพืช เด็กที่ได้รับการคัดเลือก จะได้บริโภคอาหารดี ๆ เช่น เนื้อ และข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารของชนชั้นสูง


อนึ่งในการคัดเลือกเด็กเพื่อประกอบพิธีบูชายัญนั้น เขาจะไม่เอาเด็กพิการ หรือเด็กที่ไม่มีใครต้องการ เพราะจุดประสงค์ในพิธีบูชายัญ คือ ให้เด็กได้เป็นเทพเจ้า ดังนั้นจึงต้องคัดเลือกเด็กที่สมบูรณ์แบบ และการฆ่าต้องกระทำ ณ ที่สูงเทียมเมฆ เพื่อให้มีบรรยากาศแวดล้อมที่มีความศักดิ์สิทธิ์


สำหรับการบูชายัญในจีน ก็มีปฏิบัติกันตั้งแต่เมื่อ 3,200 ปีก่อนเช่นกัน ที่ นคร Anyang ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ Shang การขุดพบซากศพของคน 15,000 คน ในช่วงปี 1935-1955 ได้พบว่า เป็นศพของทหารที่ถูกตัดแขนและขา นี่มิใช่เป็นการตายในสงครามของคนเหล่านี้ แต่เป็นการตายในประเพณีการบูชายัญเชลยศึก เพื่อให้ไปเป็นทาสรับใช้บรรพบุรุษของผู้ชนะที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีการพบซากวัว สุนัข เมล็ดธัญพืช เหล้าองุ่น และสิ่งของอื่น ๆ ที่นิยมใช้ในพิธีบูชายัญด้วย
ในทวีปอเมริกาใต้เคยมีชนเผ่า Moche ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในทางตอนเหนือของประเทศเปรู เวลาชนเผ่านี้ทำศึกและชนะ จะมีการจับเชลยมาเดินเปลือยในพิธีสวนสนามให้ผู้ชมได้ดูก่อนที่นักบวชจะใช้อาวุธมีคมแทงที่คอของเชลยศึก รายงานการวิเคราะห์ซากศพของเชลยเหล่านี้แสดงว่า กระดูกที่คอมักจะหัก และในที่สุดเชลยก็จะถูกตัดศีรษะก่อนที่จะถูกแล่เนื้อ เพื่อแสดงความโหดร้ายและแสนยานุภาพของผู้ชนะ

โดยสรุปการฆ่าบูชายัญ ไม่ได้เป็นการตายธรรมดา ๆ แต่เป็นพิธีกรรมที่แสดงให้สังคมของคนภายในได้เห็นโทษของการแข็งข้อต่อผู้มีอำนาจ และให้สังคมของคนภายนอกรู้สึกเกรงกลัว โดยมักอ้างถึงการกระทำเหล่านี้เพื่อเทพเจ้าและกษัตริย์

โลกของเราจึงเป็นโลกแห่งความรุนแรงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เหมือนดังเช่นสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่เป็นสงครามเพื่อการฆ่าบูชายัญ แต่เป็นสงครามการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งนับว่าร้ายแรงไม่แพ้พิธีบูชายัญผู้คนในอดีตเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมจาก
“The Ultimate Sacrifice” โดย Ann Gibbons ในนิตยสาร Science ฉบับที่ 336 วันที่ 18 พฤษภาคม ปี 2012


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น