สกสว. เดินหน้าหารือสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มุ่งเน้นการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุดใหม่ (New Engines of Growth) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกสว. ร่วมประชุมหารือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึง บทบาทและหน้าที่ของ สกสว. ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ โดยมีแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) รวมถึงงบประมาณเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนฯ ขณะที่ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมว่า ในปีงบประมาณ 2567 สกสว. ได้เพิ่มแผนงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และแผนงานย่อย (Non Flagship) “พัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ” ภายใต้แผนงาน “พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ” และ CEA เป็นหนึ่งใน Strategic partner ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ CEA กล่าวถึง บทบาทและทิศทางของ CEA ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชนและสถาบันการศึกษา พัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม 15 สาขา ดังนี้ กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรม (Creative Originals) เป็นทุนทางสังคม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีรากเหง้าความเป็นไทย อาทิ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ 2. กลุ่มเนื้อหาและสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content /Media) เป็นการถ่ายทอดข้อมูลผ่านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ภาพยนตร์ การพิมพ์ การกระจายเสียง และซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) 3. กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services) การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการออกแบบ อาทิ การโฆษณา การออกแบบ และสถาปัตยกรรม 4. กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods /Products) เป็นการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า อาทิ อุตสาหกรรมแฟชั่น และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาหารไทย แพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
“โดยแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะประกอบด้วยทุนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป้าหมายงานวิจัยในปี 2567 – 2570 จะมีการศึกษาผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) และสังคมของประเทศ 3 ด้าน คือ Creative People, Creative District, และ Creative Business นอกจากจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยแล้ว CEA ต้องการที่จะเป็นผู้วิจัยด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการและให้การสนับสนุนได้อย่างตรงจุดอีกด้วย” ผู้อำนวยการ CEA กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน CEA ได้เร่งเดินหน้าการผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลุ่ม Creative Contents 4 สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สาขาการพิมพ์ สาขาการกระจายเสียง และสาขาซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) ซึ่งมีประเด็นที่ต้องผลักดันเร่งด่วน คือ การยกระดับเนื้อหา ได้แก่ บทภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ เกม และสิ่งพิมพ์ให้มีความหลากหลาย เป็นสากล สามารถตอบการบริโภคสมัยใหม่และส่งออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” และมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ SME และผู้เล่นสำคัญรายใหญ่ ในการนำทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศ มาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งจะเดินหน้า นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ One Family One Soft Power :OFOS โดยมุ่งเน้นการยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างอุตสาหกรรมให้เติบโต สร้างเงินเข้าประเทศและสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านซอฟท์พาวเวอร์
นอกจากนี้ ได้มีการเยี่ยมชม Studio Virtual Production ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน โดย CEA และ TCDC Resource Center Services แหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแหล่งค้นคว้าข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์สำหรับนักออกแบบ นักศึกษา ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และได้มีการเปิดหลักสูตรคอร์สออนไลน์บุกตลาด Virtual Production (VP) ให้กับสายครีเอเตอร์และคอนเทนต์ได้ต่อยอดองค์ความรู้ พร้อม Up-skill & Re-skill ผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เติบโตอย่างไรขีดจำกัด รวมทั้งเยี่ยมชมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ CEA โดยได้เยี่ยมชมทั้งในส่วนของ Material & Design Innovation Center ที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้านวัสดุและนวัตกรรม และ Material Submission ที่ผู้ประกอบการสามารถนำวัสดุที่มีนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานำเสนอ เพื่อคัดเลือกเข้าบรรจุในฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion® ทั่วโลก รวมทั้งเยี่ยมชม Trend Corner ที่ให้บริการข้อมูลเจาะลึกแนวโน้มกระแสสังคมและการออกแบบในงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของโลก จาก Trend Book และนิตยสารเทรนด์ชั้นนำ อาทิ Carlin, Nelly Rodi และ Mix Trend นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชม Material ConneXion แหล่งรวบรวมข้อมูลวัสดุที่น่าสนใจและนวัตกรรมระดับโลกกว่า 8,000 รายการ ด้วยบริการฐานข้อมูลออนไลน์ที่ให้สืบค้นได้อย่างไม่จำกัด อีกทั้งตัวอย่างวัสดุให้ได้สัมผัสจริงกว่า 2,000 รายการ