“ดาวเทียม THEOS 2” ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ หลังการเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากระบบตรวจสอบพบสัญญาณผิดปกติของอุปกรณ์ในจรวดนำส่ง
ดาวเทียมดวงนี้ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) มลรัฐหนึ่งของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ความสำเร็จในด้านอวกาศของประเทศไทยก้าวไปอีกขั้น และได้กลายเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย โดยฝีมือคนไทย ที่สามารถขึ้นไปโคจรในอวกาศได้สำเร็จ
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA เผยว่า การนำส่งดาวเทียม THEOS 2 ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศนั้น ถูกนำส่งด้วย จรวด Vega ซึ่งเป็นจรวดขนส่งเพย์โหลดขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ได้รับการพัฒนาจาก Italian Space Agency (ASI) และ European Space Agency (ESA) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยเสร็จสิ้นการพัฒนาและเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 จุดประสงค์ตั้งต้นของการพัฒนาจรวดขนส่งลำนี้ คือการนำส่งเพย์โหลดสำหรับภารกิจสำรวจโลกนั่นเอง
ปัจจุบันจรวด Vega อยู่ในความดูแลของบริษัท Arianespace commercial launcher และได้ปฏิบัติภารกิจขึ้นสู่อวกาศแล้วกว่า 20 เที่ยวบิน ปฏิบัติงานสำเร็จด้วยดีถึง 18 ภารกิจ ซึ่งดาวเทียมที่จรวด Vega ได้พาขึ้น สู่วงโคจรมีทั้งดาวเทียมพยากรณ์อากาศดาวเทียมสำรวจโลก และอีกหลากหลายประเภท ขนาดของดาวเทียมที่เคยนำส่งมีตั้งแต่ 300 ถึง 1,500 กิโลกรัม อีกทั้งสามารถปรับให้สามารถนำส่งดาวเทียมอย่าง CubeSat ได้อีกด้วย เมื่อรวมกับประสบการณ์และอัตราความสำเร็จที่สูงแล้ว GISTDA จึงไว้วางใจให้จรวด Vega เป็นผู้นำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศอย่างเป็นทางการ
ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่สำคัญของประเทศ เพราะข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง
อ่าน : รู้จัก "THEOS 2" ดาวเทียมสำรวจรายละเอียดสูงดวงแรกของไทย โดยฝีมือคนไทย >>>
https://mgronline.com/science/detail/9660000090392