วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพิ่มเติมภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ตัวแทนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือ ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พิธีลงนามจัดขึ้น ณ อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค สทน. อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน หรือ สทน. เปิดเผยว่า ภายหลังการลงนามครั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกของเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน (Center for Plasma and Nuclear Fusion Technology: CPaF) เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีฟิวชั่น และร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการขั้นสูงด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน สำหรับการเข้าร่วมเครือข่ายการวิจัยฯ ดังกล่าวจะเป็นกลไกของการทํางานร่วมกันและใช้ทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการศึกษาและวิจัยด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศ และนําไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเครื่องโทคาแมคจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลาสมาและเทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งในระหว่างทางของการร่วมพัฒนาและวิจัยนี้ นอกเหนือจากเรื่องของพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เชื่อว่าจะเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การนำเทคโนโลยีพลาสมาไปประยุต์ใช้ในด้านการเกษตร การนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือการนำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีอวกาศ คือการขับเคลื่อนยานอวกาศ กรอบการทำงานของเครือข่ายฯ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน เป็นแผนวิจัยและพัฒนาในระยะยาว 20 ปี คือ ด้านการพัฒนากำลังคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งนี้ มุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียนภายใน 5 ปี (พ.ศ.2569)
ปัจจุบัน เครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน มีหน่วยงานรวมกันทั้งหมด 24 หน่วยงาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือสถาบันการวิจัย คือ สทน. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) กลุ่มที่สองคือสถาบันการศึกษา มีสมาชิกเครือข่ายเป็นมหาวิทยาลัยที่สนใจจากทั่วประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น กลุ่มที่สามเป็นส่วนของภาคธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มบริษัท ปตท.