“ศุภมาส” หนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ย้ำให้ อว. เร่ง ”พัฒนาทักษะ เสริมวิชาการ สร้างความเชื่อมั่น และจัดนิคมนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ร่วมดันไทยผู้นำซอฟต์พาวเวอร์ของโลกตามนโยบายของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ตนสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. สนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ตั้งเป้าพัฒนาแรงงานทักษะสูง และพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ 11 สาขาสู่ตลาดโลก เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำซอฟต์พาวเวอร์ของโลก ทั้งนี้ กระทรวง อว. สามารถเข้าไปสนับสนุนใน 3 ส่วนสำคัญคือ การพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสูงขึ้น, การใช้ข้อมูลทางวิชาการเสริมในประเด็นสำคัญเพื่อให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้รับความเชื่อถือในระดับโลก และการจัดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 11 สาขา ประกอบด้วย อาหาร กีฬา งานเทศกาล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น ซึ่งกระทรวง อว. มีความพร้อมอยู่แล้วทั้งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยซึ่งกระจายอยู่ที่ประเทศ ที่สามารถนำมาสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ได้ทันที
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ในส่วนการพัฒนากำลังคน ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายจะพัฒนากำลังคนถึง 20 ล้านคน โดยในปีแรกจำนวน 1 ล้านคนนั้น อว. มีกลไกการเพิ่มทักษะ หรือ Upskill- Reskill ซึ่งจะเน้นการยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง โดยใช้มหาวิทยาลัย 150 แห่ง ทั่วประเทศ ทำได้ในทุกพื้นที่ ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะและเครือข่ายอาชีวะ เชื่อมโยงกับการรับรองมาตรฐานทักษะและธนาคารหน่วยกิต รวมทั้งมหาวิทยาลัยหลักที่มีหลักสูตรทางด้านนี้อยู่แล้ว สามารถจะต่อยอด สอนในทักษะที่สูงขึ้นอีก ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ มีหลักสูตรแล้ว 871 หลักสูตร สามารถผลิตคนด้านนี้ได้ประมาณปีละ 40,000 คน โดยเมื่อได้รับทราบความต้องการของซอฟท์พาวเวอร์แต่ละสาขาทั้ง 11 ด้านแล้ว อว. ก็จะเร่งให้มหาวิทยาลัยไปปรับเพิ่มเติมอีกให้ตรงกับโจทย์และความต้องการ
“อว. ยังสามารถจะช่วยยกระดับข้อมูลซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้มีความน่าเชื่อถือในระดับโลกโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ เพราะในปัจจุบันข้อมูลของไทยยังกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่ใช้วิธีบอกกันปากต่อปาก หลายด้านยังขาดข้อมูลสนับสนุน ดังนั้น การมีข้อมูลทางวิชาการที่ทุกคนยอมรับมาสนับสนุนอย่างชัดเจน ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ในระดับโลก ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าของซอฟต์พาวเวอร์ไทยขึ้นอีกมาก ที่ผ่านมา อว. โดยธัชชาและเครือข่ายได้มีโครงการสำคัญ เช่น การพิสูจน์อายุของโบราณสถานอย่างแม่นยำโดยวิทยาศาสตร์ชั้นสูง การพิสูจน์เอกลักษณ์ของสีโบราณไทย ฐานข้อมูลช่างศิลป์ท้องถิ่น เป็นต้น เมื่อทราบความต้องการที่ชัดเจนแล้ว อว.สามารถปรับการวิจัยและวิชาการของมหาวิทยาลัยให้ตรงตามโจทย์ของผู้ใช้ได้ เช่น การพิสูจน์ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของอาหารไทย ประโยชน์ต่อการส่งเสริมกล้ามเนื้อของมวยไทย ผลต่อสุขภาพหัวใจ, การออกมาตรฐานสมุนไพรไทย, การวิจัยระบบการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งโบราณคดีไทย ข้อมูลพื้นที่ความละเอียดสูง หรือระบบการแปลภาษาโดยใช้เอไอ เป็นต้น แล้วประมวลผลที่ได้ให้นำเสนอในเวทีวิชาการระดับโลกเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นสินค้าและบริการของไทย นอกจากนี้ ยังมีฐานข้อมูลชุมชน ที่จัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ต่างๆ มากกว่า 3,000 ตำบล ที่จะนำมาช่วยชี้เป้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางซอฟต์พาวเวอร์ได้ เช่น ผ้าพื้นถิ่น อาหารประจำถิ่น รวมถึงงานประเพณีต่างๆ ของแต่ละพื้นที่” นางสาวศุภมาสกล่าวและว่า
“นอกจากนี้ อว. ยังมีอุทยานวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ ใน 11 ด้าน โดยสามารถปรับให้เป็นนิคมนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งการกระตุ้นกิจกรรมสร้างสรรค์ในเยาวชน นิสิต นักศึกษา กระตุ้นพลังการสร้างสรรค์ของเยาวชน และนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ การอบรม การประกวดแข่งขันในรูปแบบต่างๆ ได้ทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหน่วยงานภายใต้ อว. สามารถร่วมดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนของกระทรวง อว.ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในทุกด้าน สนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้”