คณะผู้บริหาร สกสว. นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี เข้าพบ “รัฐมนตรีศุภมาส” นำเสนอระบบ ววน. และ แผนงาน “Quick win” ในระยะ 6 เดือน - 1 ปี พร้อมแผนงานระยะกลาง 2 - 3 ปี เพื่อเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนประเทศด้วย ววน. และความต้องการของประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว. นำคณะผู้บริหารเข้าพบ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ร่วมแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมทั้งนำเสนอเกี่ยวกับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และข้อมูลกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท และ ปี 2568 จำนวน 42,000 ล้านบาท เพื่อนำเสนอแก่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ประเทศไทยลงทุนด้าน ววน. น้อยกว่ามาเลเซีย อินเดีย และจีน จึงมีเป้าหมายยกระดับการลงทุนด้าน ววน.ให้เป็นร้อยละ 2 ของ GDP ในปี 2570 ซึ่งต้องเพิ่มจากร้อยละ 1.33 ในปัจจุบัน
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวถึงผลที่คาดว่าจะได้รับของแผนการลงทุนด้าน ววน. ปี พ.ศ. 2566-2570 ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ โดยการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) 9 หน่วย และหน่วยงานวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง อว. อีก 180 หน่วยงาน คือ การทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางในปี 2580 พึ่งตนเองด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนคุ้มค่า 2.98 เท่า และมีเอกชนและหน่วยงานร่วมทุนอีกประมาณ 2,000 ล้านบาทในปี 2566
นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว สกสว. ยังได้นำเสนอแผนงาน Quick win แก่รัฐมนตรีกระทรวง อว. ในระยะ 6 เดือน - 1 ปี ซึ่งมีโมเดลความสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมที่น่าจะนำไปขยายผลได้ ประกอบด้วย 1. การแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ 2.การจัดการน้ำและการเตรียมการในภาวะเอลนีโญ 3. การแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างเป็นระบบ 4. การร่วมทุนกับเอกชนในอุตสาหกรรม BCG และ Smart Cities และ 5.การพัฒนากำลังคนเพิ่มเติมด้านการท่องเที่ยว พร้อมแผนงานระยะกลาง 2 - 3 ปี ประกอบด้วย 1.นวัตกรรมการแพทย์สู่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2.การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภูมิภาคด้วย ววน. 3. การเป็นศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงและศูนย์กลางความรู้ของภูมิภาค 5 เรื่อง โดยเฉพาะ BCG การแพทย์ เกษตรอาหารมูลค่าสูง พลังงานชีวภาพ ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4.Reskill-upskill โดยความร่วมมือกับ สป.อว. กกอ. และภาคเอกชน และ 5. การปรับตัวและลดความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
แผนงานดังกล่าว สอดคล้องกับแนวนโยบายด้าน ววน. ของ รัฐมนตรี อว. โดยการเน้น “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ อาทิ เรื่องของ Go Green, ความยั่งยืน , ความเป็นกลางทางคาร์บอน , เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น รวมทั้งการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” โดยให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ของ อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ใช้ความต้องการเป็นตัวนำ (market-driven) พร้อมปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกิดประโยชน์ ความคุ้มค่า และตอบโจทย์ประเทศให้มากที่สุด