xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. บพข. กองทุน ววน. ผสานกำลังภาคเอกชน-ธุรกิจท่องเที่ยว ATTA TEATA ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว มุ่งสร้างรายได้ 3.3 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. บพข. กองทุน ววน. ประสานความร่วมมือภาคเอกชน สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามเป้าหมายรัฐบาล เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 67 จำนวน 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.3 ล้านล้านบาท

เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วย รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ และนางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และคณะกรรมการบริหารทั้ง 2 สมาคม ร่วมแสดงความยินดีและรับมอบนโยบายด้านการท่องเที่ยวจาก นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีการหารือแนวทางในการขับเคลี่อนการท่องเที่ยวสู่เป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน และสร้างรายได้ 3.3 ล้านล้านบาท พร้อมหารือถึงการเปิด free visa เพิ่มเฟส 2 ให้แก่นักท่องเที่ยวใต้หวันนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง และนักท่องเที่ยวอินเดีย ที่เป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพ สามารถเพิ่มการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ลดการพึ่งพิงตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้ นอกจากนั้นยังได้มีการหารือการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ได้เสนอให้มีการจัดทำ Thailand Tourism Carrier Capacity Blueprint ป้องกันการเกิดปัญหา Over tourism ที่มีนักท่องเที่ยวล้นเมืองในพื้นที่เมืองหลัก ส่งผลเสียทั้งในแง่การรบกวนคนในท้องถิ่น ความไม่เพียงพอของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ความสามารถในการกำจัดของเสีย หรือทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความพึงพอใจลดลง และควรคำนึงถึงการจัดการการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยพิจารณาการเปิดเที่ยวบิน Direct Flight และยกเว้นวีซ่า ของจังหวัดเมืองรอง และการสร้างโอกาสทางการท่องเที่ยวจากรถไฟจีน - ลาว ในการเชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว และในกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมเดินทางเข้ามาประเทศไทยลดลงซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งในส่วนปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีนและปัญหาภาพลักษณ์ความปลอดภัยของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการภาพยนตร์เรื่อง No More Bets ที่ทำรายได้มหาศาลในประเทศจีน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมชาวจีนจำนวนมากจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ในที่ประชุมจึงได้เสนอให้มี Social Listening Tools เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเฝ้าดูความเคลื่อนไหวหาข้อมูลเชิงลึก (Insight) และทำวิจัยตลาดได้ สำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจในญี่ปุ่นร่วมกับการเป็น Super Aging Society ทำให้ไม่กล้าใช้จ่ายและมีความกังวลในเรื่องความมั่นคงของรายได้ ประกอบกับผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรู้จักประเทศไทย จึงควรหาแนวทางการจัดการดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ผู้ประกอบการภาคเอกชนยังสะท้อนถึงปัญหาของนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกกลาง ที่มักเจอปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้เสนอการขับเคลื่อนอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา (อสทก.) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งขณะนี้มีจำนวนราว 1,700 คน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ สกสว. บพข. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ตลอดจนนักวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ ช่วยเหลือ ดูแล อำนวยความสะดวก ให้แก่นักท่องเที่ยว และร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว ที่จะช่วยหนุนเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและลดภาระกำลังคนและงบประมาณของภาครัฐ

ทั้งนี้ ได้นำเสนอความก้าวหน้าผลการวิจัยในแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ร่วมกับ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ในการยกระดับการท่องเที่ยวในส่วนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่มีการพัฒนาเครื่องมือข้อกำหนดเฉพาะของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules of Tourism - PCR) ใน 4 กิจกรรม (การเดินทาง การบริการอาหารและเครื่องดื่ม การพักแรม และการจัดการของเสีย) การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 50 เส้นทาง ใน 26 จังหวัด ที่มีการขายจริงในงานโชว์ระดับโลก อาทิ ITB Berlin, WTM London และมีการเปิดตัว ZERO CARBON Application ซึ่งเป็น App สำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ตั้งแต่กระบวนการ วัด การลด การชดเชย และซื้อขายคาร์บอนเครดิตจบใน App เดียว ซึ่งจะสามารถใช้บริการได้ในปลายเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ที่ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการจริง โดยงานวิจัยบพข. ครอบคลุมถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ กลุ่มผู้พักฟื้น กลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพ กลุ่มพำนักระยะยาว (สัญชาติญี่ปุ่น และ ยุโรป อเมริกา สแกนดิเนเวีย เป็นต้น) อีกทั้ง เรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งขณะนี้ คณะนักวิจัยได้ร่วมเป็นคณะกรรมการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรอเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยการหารือในครั้งนี้ เป็นการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทุกฝ่ายมีความพร้อมในการร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาช่องว่างของภาคการท่องเที่ยว โดยในที่ประชุมเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ภาคนโยบาย ภาควิชาการ และภาคเอกชนต่อไป เพื่อร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

“สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน”






















กำลังโหลดความคิดเห็น