ชิงแชมป์จรวดขวดน้ำระดับประเทศ ประจำปี 2566 ร.ร.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ คว้าแชมป์ประเภท Water Rocket Design Challenge ร.ร.บ้านโนนคูณ จ.ชัยภูมิ คว้าแชมป์ประเภทความแม่นยำระดับประถม ร.ร.นครศรีลำดวนวิทยา จ.ศรีสะเกษ คว้าแชมป์ประเภทความแม่นยำระดับมัธยม
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ NSM พร้อมพลอากาศตรี เจษฎา คีรีรัฐนิคม ผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดวิถี และนายสุวิทย์ เปานาเรียง ผอ.สำนักวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน อพวช. ร่วมแสดงความยินดีพร้อมมอบรางวัลให้กับทีมชนะเลิศใน “การแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566” เวทีการแข่งขันการประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ การออกแบบ และการบูรณาการทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับประเทศต่อไปในอนาคต ณ ห้องประชุม IT Auditorium อาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.กรรณิการ์ เปิดเผยว่า NSM ร่วมกับมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ , มหาวิทยาลัยเนรศวร ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวิทยาเขตหาดใหญ่ จัด “การแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566” ซึ่งปีนี้มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 781 ทีม และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศทั้งหมด 62 ทีม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทความแม่นยำ และประเภท Water Rocket Design Challenge
ผลการแข่งขันปรากฎว่าในประเภท Water Rocket Design Challenge ทีมจากโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ประกอบด้วยด.ญ.โสภิตา เนื่องอินต๊ะ และด.ญ.ชญาดา แมคโดนัลด์ ควบคุมทีมโดย นางสาววิมลสิริ เทียนชัย คว้ารางวัลใหญ่ Water Rocket Design Challenge ไปครองได้สำเร็จ
รางวัล Science Communication ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายมัธยม) ประกอบด้วย ด.ช.ธาวิน รัตนตรัยภพ และด.ญ.จิตติมา แก้วมณีโชติ ควบคุมทีมโดย ผศ.ดร.เกริก ศักดิ์สุภาพ และอาจารย์สุวภัทร อิทธิโชติ และรางวัล Problem Solving ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม ประกอบด้วย ด.ช.ภูมิไทย บุ้งทอง และด.ช.วิศกร พันสาย ควบคุมทีมโดยนายมงคล พันธ์เพชร
รางวัลประเภทความแม่นยำ ระดับประถมศึกษา ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม T.C.S.2 โรงเรียนบ้านโนนคูณ จ.ชัยภูมิ สถิติเฉลี่ย 0.12 เมตร รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม T.C.S.1 โรงเรียนชุมชนบ้านสำโรง จ.ยโสธร สถิติเฉลี่ย 0.65 เมตร รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม TSM Water Rocket 2 โรงเรียนอนุบาลโนนสะอาด จ.อุดรธานี สถิติเฉลี่ย 0.84 เมตร
ประเภทความแม่นยำ ระดับมัธยมศึกษา ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมงูกินหาง ศิษย์ตากะจะ โรงเรียนนครศรีลำดวนวิทยา จ.ศรีสะเกษ สถิติเฉลี่ย 0.39 เมตร รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมส.ก้ากซาก ศิษย์ตากะจะ โรงเรียนนครศรีลำดวนวิทยา จ.ศรีสะเกษ สถิติเฉลี่ย 0.41 เมตร รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีมลูกพระเจ้าพรหม 2 โรงเรียนไชยปราการ จ.เชียงใหม่ สถิติเฉลี่ย 0.50 เมตร
ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกทีมที่ได้รับรางวัล และขอชื่นชมถึงศักยภาพของเยาวชนไทย โดยหวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้กับคนไทยทุกคน และสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ต่อไปในอนาคต