xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. เสนอเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว ระหว่าง “ไทย – นครเซี่ยงไฮ้ ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. ร่วมแบ่งปันภารกิจด้านการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเสนอแนวคิด BCG ของประเทศไทย ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของความร่วมมือ “ไทย – นครเซี่ยงไฮ้ ” พร้อมเข้าพบคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ (STCSM) และเยี่ยมชมโรงงานบำบัดน้ำเสียใต้ดินแบบครบวงจร รวมถึงศูนย์วิจัยที่สนับสนุนข้อมูลด้านเคมี ที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้

เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.
เข้าร่วมการประชุม Bangkok Shanghai Economic Conference (BSEC) ครั้งที่ 6 ณ สถานกงสุลใหญ่
นครเซี่ยงไฮ้ โดยได้รับเชิญให้บรรยายในหัวข้อ Introduction of Thailand Science Research
and Innovation (TSRI) and BCG concept of Thailand เนื่องจาก สกสว.เป็นหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญ
ของความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสีเขียว และขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG Economy Model

รอง ผอ. สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ (Science and Technology Commission of Shanghai Municipality : STCSM) เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
1.ด้านชีวเภสัชภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ 2.ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร 3.ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 4.ด้านปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และ 5.ธนาคารเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology Bank) ทั้งในส่วนของการร่วมสนับสนุนโครงการวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ เป็นต้น โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และ นาย กง เจิ้ง นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ ให้เกียรติเป็นสักขีพยานใน
พิธีลงนาม ณ Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center (Bangkok)

สำหรับ ความร่วมมือดังกล่าว สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ปี 2556-2570 ในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ประเทศไทยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy ) หรือ BCG เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและขับเคลื่อนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม

ในการนี้ รองผู้อำนวยการ สกสว. ได้เข้าพบ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อหารือการดำเนินงาน ตามที่ได้ลงนามร่วมกัน โดยหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนพันธกิจขององค์กรทั้งสอง พร้อมกับเยี่ยมชม Shanghai Chengtou Water Group โรงงานบำบัดน้ำเสียใต้ดินแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีกำลังการผลิต 40,000 ลบ.ม. ต่อวัน เทียบได้กับโรงงานบำบัดน้ำเสียส่วนกลางที่มาบตาพุดประมาณ 30 เท่า ซึ่งมีกระบวนการบำบัดน้ำเสียที่มีการออกแบบและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินการก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำในเมืองเซี่ยงไฮ้ ส่วนของเสียที่เป็นกากตะกอนที่เผาไหม้ได้จะถูกขนส่งไปยังเป็นเชื้อเพลิงยังโรงไฟฟ้า

ก่อนเยี่ยมชม Shanghai Research Institute of Chemical Industry ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนข้อมูลด้านเคมีให้กับอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 4 เทคโนโลยีหลัก คือ Advanced Material, Bio-medicine, Public Safety, Energy Conservation and environment Protection อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนผู้ประกอบให้สามารถเข้ารับบริการได้ตั้งแต่การประเมินด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและการวิจัย การจัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาหรือเครื่องมือ ไปจนถึงการออกแบบและวางแผนการสร้างโรงงานเพื่อดำเนินการได้จริง ซึ่งทางศูนย์นี้ได้มีการดำเนินการเรื่องพัฒนาพลาสติกร่วมกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชม Green technology bank (GTB) หน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบ เข้าถึงการสนับสนุนของธนาคารได้เหมาะสม เช่นการลงทุนในกรีนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยดอกเบี้ยต่ำ หรือกลไกสนับสนุนการการเงินเพื่อการลงทุนอื่น ๆ ที่เหมาะสม ที่ทาง GTB ได้ให้การรับรองกับกรีนเทคโนโลยีที่ผ่านเกณฑ์ โดยการรวบรวมและจัดประเภทกรีนเทคโนโลยีไว้ในระบบข้อมูล เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจและเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ทาง GTB ได้เปิดสาขาในต่างประเทศที่สาขาแรก คือที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย โดยคาดว่าจากการลงนามความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันมากขึ้น








กำลังโหลดความคิดเห็น