xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาศาสตร์บน "ดวงจันทร์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (Indian Space Research Organization; ISRO) ได้เสนอรายงานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ว่า หลังจากที่ยานโมดูล Vikram ได้ลงจอดบนดวงจันทร์เรียบร้อยแล้ว กล้องถ่ายภาพที่ติดตั้งอยู่บนยานสำรวจ Pragyan ก็ได้เริ่มทำงานถ่ายภาพ ด้านอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานก็ได้เริ่มวิเคราะห์ดินและหินที่ผิวดวงจันทร์ โดยใช้อุปกรณ์ laser spectrometer ยิงแสงเลเซอร์ไปกระทบดินและหิน เพื่อให้อะตอมสลายตัว แล้วปล่อยแสงออกมา จากนั้นก็นำแสงไปวิเคราะห์จนได้พบว่า บนดวงจันทร์มีธาตุ aluminum, sulfur, iron, calcium, chromium, titanium, manganese, silicon และ oxygen แต่ยังไม่พบหลักฐานว่ามีน้ำแข็ง การพบ sulfur ยังแสดงให้เห็นอีกว่า บนดวงจันทร์อาจจะมีสิ่งมีชีวิต ผลการวิเคราะห์ดินและหิน ณ บริเวณที่ยานโมดูลลงจอด แสดงให้เห็นว่า ดินในแถบนั้นมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากดินและหินในบริเวณส่วนอื่นของดวงจันทร์มาก อุปกรณ์วัดอุณหภูมิที่ผิวดวงจันทร์ แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิในเวลากลางคืนมีค่าต่ำมากถึง -150 องศาเซลเซียส และในเวลากลางวัน มีอุณหภูมิสูงถึง +120 องศาเซลเซียส ข้อมูลเหล่านี้ ยานโมดูล Vikram ได้ส่งกลับไปที่ยานอวกาศ Chandrayaan-3 เพื่อนำส่งต่อมายังโลก โดยใช้เวลาในการเดินทาง 1.3 วินาที


หลังจากที่ทำงานได้ 7 วัน กล้องถ่ายภาพบนยานก็หยุดทำงาน และจะเริ่มทำงานใหม่ในวันที่ 22 กันยายนที่จะถึงนี้ เมื่อยานสำรวจ Pragyan ได้รับแสงอาทิตย์อีกครั้งหนึ่ง แต่ ISRO ก็ไม่ได้ยืนยันว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนยานจะทำงานได้อีก เพราะความแตกต่างของอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นจัดนี้ อาจทำให้อุปกรณ์สำรวจหยุดทำงานก็เป็นได้

ถึงกระนั้นโครงการมูลค่า 2,800 ล้านบาท ที่จะไปค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ก็มิได้เป็นเรื่องที่ล้มเหลว เพราะการได้ไปถึงบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ก็นับว่าเป็นไฮไลท์ของโครงการนี้แล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์ของอินเดียได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันก็สามารถปล่อยดาวเทียมของตนเองและของชาติอื่นได้ด้วย และเมื่อปี 2014 องค์การ ISRO ได้ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดาวอังคาร ในอนาคตเมื่อถึงปี 2024 ISRO ก็มีแผนจะส่งมนุษย์อวกาศชาวอินเดียขึ้นไปทำงานในสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station; ISS) ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาติอื่นๆ ด้วย


แม้ว่า Chandrayaan-3 จะยังไม่ได้พบน้ำแข็ง ซึ่งคงจะเป็นเพราะบริเวณนั้นไม่มีน้ำแข็ง หรือน้ำแข็งที่มีอาจจะแฝงตัวอยู่ลึกใต้ดินจนอุปกรณ์ตรวจจับไม่สามารถบอกได้ว่า ใต้ดินบริเวณนั้นมีน้ำแข็งหรือไม่มี ถึงจะมีข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอว่า มีน้ำแข็งมากหรือน้อยเพียงใด และน้ำนั้นมีความบริสุทธิ์พอที่จะใช้บริโภคได้หรือไม่ และถ้าบริเวณนั้นไม่มีน้ำแข็งอยู่เลย แล้วบริเวณใดบ้างมีน้ำแข็งแอบแฝงอยู่


อันที่จริงเรื่องการมีน้ำแข็งบนดวงจันทร์และดาวพุธนี้ได้มีมานานร่วม 62 ปีแล้ว คือ ตั้งแต่ปี 1961 ที่ K. Watson กับคณะแห่งสถาบัน California Institute of Technology (CALTECH) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ความคาดคะเนนี้ในวารสาร Journal of Geophysical Research โดยให้เหตุผลว่า เพราะแกนหมุนของดวงจันทร์เอียงทำมุม 1.5 องศากับแนวดิ่ง (แกนของโลกเอียงทำมุม 23 องศากับแนวดิ่ง) ดังนั้นแกนหมุนของดวงจันทร์จึงวางตัวในแนวเกือบตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของมัน ด้วยเหตุนี้ถ้ามนุษย์อวกาศจากโลกสามารถไปยืนบนดวงจันทร์ตรงบริเวณขั้วใต้ได้ และขึ้นไปยืนอยู่บนเนินเขาที่สูงเกิน 600 เมตรขึ้นไป เขาก็จะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ที่ขอบฟ้าตลอดทั้งวัน และแสงจากดวงอาทิตย์ที่มาตกกระทบขอบหลุมอุกกาบาตก็จะทำให้เกิดเงามืดทอดลงไปในหลุม ทำให้แม้แต่ส่วนลึกที่สุดของหลุมก็ไม่ได้รับแสงแดดเลยตลอดเวลาที่ผ่านมาร่วม 3,000 ล้านปี ดังนั้น Watson จึงคิดว่า ถ้าดาวหางหรืออุกกาบาตพุ่งชนดวงจันทร์ตรงหลุมที่ตั้งอยู่ใกล้ขั้วของมัน น้ำแข็งที่มีอยู่บนดาวหางก็จะแฝงตัวอยู่ในหลุมตลอดไป

ข้อเสนอนี้ไม่ได้มีใครสนใจ เพราะเมื่อมนุษย์อวกาศในยาน Apollo ทุกยานตั้งแต่ 11-17 เดินทางกลับจากการเยือนดวงจันทร์ ทุกคนก็ไม่ได้รายงานว่าได้เห็นร่องรอยเป็นหลักฐานที่แสดงว่า บนดวงจันทร์มีน้ำแข็งเลย


แต่ในปี 1993 เมื่อนักดาราศาสตร์ส่งคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น 70 เซนติเมตร จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ Arecibo ใน Puerto Rico ไปกระทบหลุมอุกกาบาตที่ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงจันทร์ การวิเคราะห์คลื่นสะท้อน แสดงให้เห็นว่าในหลุมมีร่องรอยของน้ำแข็ง นักดาราศาสตร์ทุกคนจึงหันมาสนใจ เพราะตระหนักได้ในทันทีว่า ดวงจันทร์อาจจะเป็นแหล่งอาศัยที่สองของมนุษย์ก็ได้


อีกหนึ่งปีต่อมา NASA ได้ส่งดาวเทียม Clementine ไปโคจรรอบดวงจันทร์อีก โดยให้โคจรผ่านในแนวขั้วเหนือและขั้วใต้ ยานได้เห็นหลุมอุกกาบาต Aitken South Pole (SPA) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2,600 กิโลเมตร และลึก 12 กิโลเมตร โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ กัน เช่น แสง UV, แสงที่ตาเห็น และแสง infrared เพื่อให้ดาวเทียม Clementine สามารถทำแผนที่ภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์ได้ และใช้แสงเลเซอร์วัดระยะสูง-ต่ำของภูเขาและหุบเหว ยานได้ส่งคลื่นเรดาร์ลงไปที่ก้นหลุม แล้วให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกรับคลื่นสะท้อน แต่ผลที่ได้ก็ยังขาดความชัดเจนว่า สิ่งที่สะท้อนคลื่นเป็นน้ำแข็ง หรือผิวที่ขรุขระก้นหลุมคือสาเหตุกันแน่


ดังนั้นในปี 1998 NASA จึงส่งดาวเทียม Lunar Prospector ไปโคจรรอบดวงจันทร์เป็นวงรี โดยให้อยู่เหนือผิวดาวที่ระยะใกล้สุด 7 กิโลเมตร ยานได้นำอุปกรณ์ neutron spectrometer กับ magnetometer ไปด้วย เพื่อตรวจรับอนุภาคนิวตรอนที่จะออกมาจากหินบนดวงจันทร์ เวลาถูกกระแสอนุภาคคอสมิกพุ่งชน การทำแผนที่ภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์ทำให้รู้ว่า ความแตกต่างระหว่างระยะสูงสุดกับระยะต่ำสุดของผิวดวงจันทร์มีค่าเท่ากับ 16 กิโลเมตร (ของโลกเท่ากับ 20 กิโลเมตร) และเมื่อโครงการนี้สิ้นสุด NASA ได้บังคับให้ดาวเทียม Lunar Prospector พุ่งชนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 1999 ในทิศที่เอียงทำมุม 63 องศากับผิว และหวังว่าพลังงานจลน์ที่สูญเสียไปจะทำให้น้ำแข็งประมาณ 18 กิโลกรัม ที่มีบนดวงจันทร์ระเหยเป็นไอออกมา เป็นเวลานาน 10 วินาที เพื่อให้กล้องโทรทรรศน์บนโลกสามารถเห็นได้

ผลปรากฏว่า กล้องไม่เห็นไอน้ำแข็งอะไรเลย


ดาวเทียม Lunar Prospector ยังได้สำรวจหาแร่ที่มีในทะเล Oceanus Procellarum ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตบนด้านที่หันหน้าเข้าหาโลก และได้พบแร่ KREEP มาก (K คือธาตุ potassium, REE คือ ธาตุหายาก (rare earth element) และ P คือ ธาตุ phosphorus) ซึ่งมีโครงสร้างที่ไม่เหมือนหินใด ๆ บนโลก นอกจากนี้ดาวเทียมก็ยังได้พบว่า หลุมอุกกาบาตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 300 กิโลเมตรนั้น มีทั้งหมด 45 หลุม โดยที่หลุม SPA เป็นหลุมที่มีอายุมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในสุริยจักรวาล ส่วนหลุม Orientale เป็นหลุมที่มีอายุน้อยที่สุด

โดยหลุมอุกกาบาตส่วนใหญ่ได้ถือกำเนิดเมื่อ 3,900-3,800 ล้านปีก่อน ในขณะที่ดวงจันทร์ที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่ ๆ และถูกถล่มด้วยฝนอุกกาบาตอย่างขนานใหญ่ แล้วความถี่ในการถูกอุกกาบาตชนก็ลดน้อยลง ๆ เหมือนโลก แต่หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ยังคงสภาพได้ เพราะสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ในขณะที่หลุมอุกกาบาตบนโลกมีการเปลี่ยนแปลง เพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติของหลุมอุกกาบาตต่าง ๆ บนดวงจันทร์ ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ประวัติความเป็นมาของดวงจันทร์ได้เป็นอย่างดี


สำหรับสถานที่บนดวงจันทร์ที่นักวิทยาศาสตร์นานาชาติตั้งใจจะไปค้นหาน้ำแข็งนั้น มีมากมายหลายสถานที่ แต่มีสถานที่ ๆ สำคัญทางธรณีวิทยา 6 แห่ง เช่น

1. Ina’ D-caldera เพราะดาวเทียมได้เห็นแก๊สหลายชนิดพุ่งออกมา
2. Gruithuisen domes เพราะที่นั่นมีลาวาที่อุดมด้วยแร่ silica
3. Rimae Prinz เพราะบริเวณนั้นมีท่อลาวาที่สามารถปกป้องมนุษย์อวกาศให้รอดพ้นจากภัยรังสีคอสมิก ดังนั้นจึงอาจเป็นสถานที่ทำงานของมนุษย์อวกาศในการสำรวจดวงจันทร์ได้
4. Hadley–Apennine ที่ ๆ ยาน Apollo 15 ได้ไปลง เพื่อจะได้เห็นสภาพของดินฟ้าอากาศบนดวงจันทร์
5. หลุมอุกกาบาต Alphonsus บนที่ราบสูง Mare Nubium ซึ่งภายในอาจจะมีภูเขาไฟที่ดับแล้ว
6. หลุมอุกกาบาต Sulpicius Gallus ซึ่งมีวัสดุสีเข้มทึบ ที่อาจจะไหลออกมาจากเนื้อในส่วนที่เป็น mantle ของดวงจันทร์

แต่สำหรับการจะพบน้ำแข็งอย่างแน่ใจจริง ๆ นั้น ทุกชาติเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องใช้คนไปสำรวจดู เพื่อให้รู้ชัดว่าน้ำแข็งมีอยู่ ณ ที่ใดบ้าง และที่ตรงนั้นมีน้ำแข็งปริมาตรกี่พันล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งน้ำแข็งนั้นอยู่ลึกจากผิวเพียงใด และการให้มนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนดวงจันทร์ ณ ที่บริเวณนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่


สำหรับประเด็นการสร้างกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์นั้น NASA ก็มีโครงการ Network for Exploration and Space Science (NESS) ที่จะสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เพื่อศึกษาธรรมชาติของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ด้วย เพราะดาวเคราะห์ที่มีสนามแม่เหล็กจะปล่อยคลื่นวิทยุที่มีความถี่ต่ำออกมา เวลาถูกกระแสอนุภาคที่มีประจุจากอวกาศพุ่งชน โดยประจุจะเคลื่อนที่เป็นเกลียววนรอบเส้นสนามแม่เหล็ก แล้วในขณะเดียวกันปล่อยคลื่นวิทยุออกมา การพบคลื่นวิทยุที่มาจากดาวเคราะห์ จึงเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีสนามแม่เหล็ก ซึ่งเกิดจากโลหะเหลวร้อนที่ไหลวนอยู่ภายใน และการมีสนามแม่เหล็กจะทำให้เรารู้ว่า ดาวดวงนั้นอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ เพราะสนามแม่เหล็กสามารถปกป้องสิ่งมีชีวิตบนดาวมิให้เป็นอันตรายจากการถูกคุกคามโดยรังสีคอสมิกจากอวกาศ อีกทั้งยังช่วยปกป้องไอน้ำที่มีในบรรยากาศไม่ให้ระเหยหายไปในอวกาศด้วย

ในกรณีของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดใหญ่ระดับดาวพฤหัสบดี เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีอยู่บนโลกในเวลานี้สามารถรับคลื่นได้ แต่ถ้าเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดเล็ก เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์เท่านั้น จึงจะสามารถรับคลื่นวิทยุได้

NESS จึงมีแผนการทำงานใช้ดาวเทียมมูลค่า 60 ล้านเหรียญที่มีเสาอากาศชี้ทั้ง 4 ทิศ และสามารถปรับความสามารถในการรับคลื่นที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ ได้ แล้วส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ เมื่อดาวเทียมอยู่เหนือด้านมืดของดวงจันทร์ (คือ เมื่อโลกไม่สามารถติดต่อกับดาวเทียมได้) ดาวเทียมก็จะพยายามรับคลื่นต่าง ๆ จากยุคมืดของเอกภพ โดยเฉพาะคลื่นที่มีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตร ดาวเทียม DAPPER ดวงนี้ (จากคำ Dark Ages Polarimeter Pathfinder) จะตรวจดูว่า สสารมืดดึงดูดเมฆไฮโดรเจนให้จับกลุ่มเป็นดาวฤกษ์และกาแล็กซีต่างๆ ได้อย่างไร

ไม่เพียงแต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีโครงการทดลองวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ องค์การอวกาศของยุโรป European Space Agency (ESA) ก็ได้วางแผนจะสร้างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่ต่ำเช่นกัน


ด้านนักดาราศาสตร์ที่ตามปกติใช้กล้องโทรทรรศน์แสงที่ตาเห็นก็มีความหวังจะสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble แต่ถ้าเลนส์มีขนาดใหญ่มากน้ำหนักจะหนักมาก จึงเป็นอุปสรรคในการส่งเลนส์ขึ้นโคจรในอวกาศหรือนำไปติดตั้งบนดวงจันทร์ ในการหาทางออกของปัญหานี้ NASA จึงเสนอให้ใช้กล้องโทรทรรศน์ของเหลว (ปรอท) เป็นกระจกสะท้อนแสง ซึ่งสามารถสร้างได้ง่ายบนดวงจันทร์ โดยใช้ถาดกลมที่มีขอบสูง จากนั้นก็เทของเหลวลงไปในถาด แล้วหมุนถาดไปรอบแกนที่ผ่านจุดศูนย์กลางของถาดอย่างช้า ๆ แรงหนีศูนย์กลางที่เกิดขึ้นจะทำให้ผิวของเหลวโค้งขึ้นเป็นรูป parabola จึงสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นกระจกโค้งเว้าที่มีรัศมีความโค้งได้ อีกทั้งมีจุดโฟกัสเหมือนกระจกเว้าทั่วไปที่ทำด้วยแก้ว


ในเมื่อความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงบนดวงจันทร์มีค่าน้อยกว่าความเร่งบนโลก (ประมาณ 1/6) และแผ่นดินบนดวงจันทร์ก็ไม่สั่นสะเทือนมาก ดังนั้นการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ของเหลวให้ทำงานบนดวงจันทร์ก็สามารถจะทำได้อย่างไม่มีปัญหามาก

กระนั้นก็มีเพียงปัญหาเดียวที่จะต้องจัดการนั่นคือ ของเหลวที่จะใช้ในการทำกล้องโทรทรรศน์ควรเป็นของเหลวที่สามารถหาได้ “ง่าย” บนดวงจันทร์ ในกรณีกล้องโทรทรรศน์ของเหลวที่ใช้บนโลก ของเหลวที่ใช้คือปรอท ซึ่งสามารถสะท้อนแสงได้ดี และกล้องชนิดนี้ที่ใหญ่ที่สุด คือ กล้อง Large Zenith Telescope (LZT) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6 เมตร ของหอดูดาวที่มหาวิทยาลัย British Columbia ในแคนาดา และขณะนี้กล้องได้หยุดทำงานแล้ว เพราะโลกมีกล้องที่มีประสิทธิภาพดีกว่า คือ กล้อง International Liquid Mirror Telescope (ILMT) ขนาด 4 เมตร ที่หอดูดาว Devasthal บนเทือกเขาหิมาลัย ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,450 เมตร ซึ่งได้เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2020 แม้กล้องจะใช้ดูดาวได้เฉพาะกลุ่มที่อยู่เหนือผิวของเหลวตรง ๆ แต่การหมุนรอบตัวเองอย่างค่อนข้างช้าของโลกได้ช่วยให้กล้องสามารถสังเกตดาวได้ทั่วฟ้า

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กล้องโทรทรรศน์ของเหลวบนโลกใช้ปรอทเป็นกระจกสะท้อนแสง แต่เราไม่สามารถใช้ปรอทแทนกระจกสะท้อนแสงบนดวงจันทร์ได้ เพราะปรอทจะระเหยได้ง่ายในสภาพแวดล้อมใกล้สุญญากาศบนดวงจันทร์ อีกทั้งปรอทก็มีมวลมากเกินที่จะนำขึ้นจรวด เพื่อไปสร้างกล้องบนดวงจันทร์ ดังนั้น NASA จึงเสนอให้ใช้ของเหลว ionic (ionic liquid) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์แทนปรอท เพราะสามารถสะท้อนแสงได้ดีเวลาถูกเคลือบด้วยโลหะเงิน (silver)


หรือถ้าใครไม่ต้องการจะขนกระจกขนาดใหญ่ไปสร้างกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์ นักวิทยาศาสตร์บางคนได้เสนอให้ใช้หิน regolith ที่มีบนดวงจันทร์ ผสมกับ resin จนเป็นดินเหนียว แล้วนำดินเหนียวที่ได้ไปใส่ในภาชนะเพื่อหมุน จนดินเหนียวมีผิวโค้งรูป parabola จากนั้นก็ฉาบผิวโค้งด้วย aluminum เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกระจกโค้งเว้า ส่วนโครงสร้างอื่น ๆ ของกล้องโทรทรรศน์ก็สามารถจะสร้างได้โดยใช้อุปกรณ์ 3D printing machine

และถ้ามีการนำกล้องโทรทรรศน์กระจกโค้งเว้าจำนวนมากมาเรียงต่อกันเป็นเครือข่าย ก็จะได้ระบบกล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานเสมือนเป็นอุปกรณ์แทรกสอด (interferometer) ขนาดยักษ์ ที่จะสามารถเห็นรายละเอียดต่าง ๆ บนผิวดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะได้

แม้ว่าโครงการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้จะดูเป็นโครงการในฝันที่ฟังดูคล้ายจะเป็นนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ แต่นักดาราศาสตร์ทุกคนก็เกรงว่า เมื่อใดที่มีการอนุมัติให้มีการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่บนดวงจันทร์ การขุดแร่จะทำให้ปฐพีบนดวงจันทร์สั่นสะเทือนมาก และนั่นก็หมายถึง การทำงานของนักดาราศาสตร์บนดวงจันทร์ก็จะสิ้นสุดในทันที

ดังนั้นถ้านักดาราศาสตร์ที่ทำงานอยู่บนดวงจันทร์จะดูดาวโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนดวงจันทร์ไม่ได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเราจะสร้างกล้องโทรทรรศน์ดูดาวโดยไม่มีอะไรมารบกวนได้ ณ ที่ใดในเอกภพอีกเลย

อ่านเพิ่มเติมจาก Apollo Anniversary ในวารสาร Science ฉบับที่ 365 วันที่ 19 July 2019 และ The Seventh Landing


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น