สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยนำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน WorldInvent TM 22+23 Singapore International Invention Show ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2566 ณ D’ Marquee, Downtown East ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
WorldInvent TM 22+23 Singapore International Invention Show (WoSG) เป็นงานประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์นานาชาติซึ่งจัดขึ้นโดย Innovation Design & Entrepreneurship Association (IDEA) หน่วยงานนานาชาติด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดยมี วช. เป็นหน่วยงานของไทยในการคัดกรองและนำเสนอชื่อผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรม (Exclusive Agency) เพื่อเข้าร่วมประกวดในเวที WoSG ซึ่ง WoSG เป็นเวทีที่ได้รับการตอบรับจากนักประดิษฐ์ นักวิจัย นักลงทุน และนักวิชาการจากนานาประเทศ โดยการจัดงานในปีนี้มีการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมกว่า 300 ผลงาน ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ จากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ อาทิ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ราชอาณาจักรโมรอคโค สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐกาตาร์ สาธารณรัฐจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย
สำหรับวันแรกของการจัดงาน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้รับเกียรติขึ้นกล่าวแสดงความยินดีและกล่าวขอบคุณในฐานะหน่วยงานพันธมิตร สำหรับการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวที WoSG นี้ จะเป็นการสร้างเครือข่าย เป็นการเปิดโอกาสและประสบการณ์ให้กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในการเรียนรู้ สร้างการยอมรับในการพัฒนาและมาตรฐานของสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในเวทีระดับนานาชาติซึ่งจะสามารถทำให้มีการขยายผลและเกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานและการต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับงานในปี 2023 นี้ วช. ได้นำประดิษฐกรรม ผลงานวิจัย และนวัตกรรมจากประเทศไทยมาร่วมนำเสนอในงาน “WorldInvent TM 22+23 Singapore International Invention Show” เพื่อประกวดแข่งขันในกลุ่มเรื่องต่างๆ ได้แก่
• AgriTech
• Chemical
• EduTech
• Electronics & Mechatronics
• GreenTech & CleanTech
• HealthTech & SilverTech
• Manufacturing & Mechanical Engineering
• Product Design
นอกจากนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมเยี่ยมชมผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ซึ่งผลงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติที่ WoSG ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาคัดกรองจาก วช. โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่ง วช. มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าและคุณค่า จากทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นประโยชน์กับประเทศไทย รวมทั้ง วช. มีพันธกิจและเป้าหมายในการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติด้านการวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีในการสร้างแรงจูงใจ ความเชื่อมั่นและการยอมรับในผลงานคุณภาพของนักประดิษฐ์และนักวิจัยในมาตรฐานสากล