สกสว.จัดประชุมชี้แจงกรอบและหลักเกณฑ์การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบสำหรับแผนงานที่มีงบประมาณน้อยกว่า 100 ล้านบาท มุ่งใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบ 2567
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ เลขานุการคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงกรอบและหลักเกณฑ์การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบสำหรับแผนงานที่มีงบประมาณน้อยกว่า 100 ล้านบาท ที่ได้รับการจัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ โฮเทล พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อให้หน่วยงานสามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป
หลังจากกองทุน ววน. ได้อนุมัติงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 แก่หน่วยบริหารและจัดการทุน รวมถึงและหน่วยรับงบประมาณงานวิจัยเชิงมูลฐาน ซึ่งได้ดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้วจำนวนหนึ่ง คณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ จึงมีมติเห็นชอบต่อกรอบและหลักเกณฑ์การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบ โดยอาศัยผู้ประเมินจากภายนอกทั้งนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำส่งผลการประเมินให้กับ สกสว. เพื่อดำเนินการต่อไป และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณวิจัย
“การประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะประเมินผลลัพธ์และผลกระทบใน 2 มิติ คือ ผลกระทบเชิงวิชาการ และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ขณะที่ผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน รวมถึงหน่วยรับงบประมาณ จะประเมินจากความสามารถในการดำเนินการตามแผน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และผลลัพธ์ผลกระทบที่เกิดขึ้น และกระบวนการทำงานในการบริหารจัดการแผนงานหรือโครงการวิจัย” รศ. ดร.พงศ์พันธ์กล่าว
ทั้งนี้ สกสว.คาดหวังว่าระบบ ววน.ของประเทศจะถูกขับเคลื่อนและพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการทำงานแบบเครือข่าย และเผยแพร่ผลการประเมินสู่สาธารณะ หน่วยงานสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องและบริหารจัดการทุนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และเกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ การต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ การผลักดันนโยบายและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การส่งเสริมให้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยต่อยอดหรือความเป็นหุ้นส่วน และการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. โดยหัวหน้าโครงการวิจัยจะต้องรายงานผลลัพธ์ทุกปีต่อเนื่อง 5 ปีงบประมาณ
เมื่อ สกสว.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การประเมินแผนงานแล้ว หากหน่วยงานใดไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุอันควรได้รับการยกเว้นการประเมินในปีงบประมาณใด ๆ ให้ทำเรื่องขอเลื่อนหรือขอยกเว้นโดยผ่านการอนุมัติผู้อำนวยการ สกสว.เป็นกรณีไป ทั้งนี้ผลการพิจารณาของผู้อำนวยการ สกสว. ถือเป็นที่สิ้นสุด โดย สกสว.จะสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประเมินผลกระทบเผยแพร่ภายในเดือนกันยายน 2566 จัดอบรมเทคนิคการประเมินและการจัดทำรายงานการประเมินแบบเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ พร้อมกับให้งบประมาณสนับสนุนการประเมินแผนงานแก่หน่วยรับงบประมาณร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใต้กรอบงบประมาณเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงาน
ด้าน ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล สกสว. กล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการประเมินสำหรับนักประเมิน ว่าจะต้องจัดทำเส้นทางสู่ผลกระทบ โดยผลลัพธ์จะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยที่ชัดเจนและการยอมรับนำไปใช้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งผลงานที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านสังคม ชุมชนและพื้นที่ หรือด้านนโยบาย ควรมีความร่วมมือกับ ‘ภาคีเครือข่าย’ ผู้ขับเคลื่อนที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรง
นอกจากนี้ยังพิจารณาผลประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เกิดจากการใช้ผลงานวิจัยเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย พร้อมกันนี้ต้องมีดัชนีชี้วัด ได้แก่ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเชิงสังคม หรืออัตราส่วนระหว่างผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลงานวิจัยต่อต้นทุนวิจัยในระดับแผนงาน หรือชุดโครงการหรือโครงการแล้วแต่กรณี รวมถึงเอกสารแนะนำเพื่อศึกษาเพิ่มเติม โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ https://www.tsri.or.th/download/download/57/monitoring-evaluation/