บอร์ดติดตามและประเมินผลกองทุน ววน. ชี้ระบบจริยธรรมการวิจัยในประเทศไทยต้องมีกระบวนการติดตามอย่างเข้มงวดและมีบทลงโทษที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของประชาคมวิจัยและประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชี้ปัญหาใหญ่ด้านประสิทธิภาพและจริยธรรมของการวิจัยอาจทำให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไม่ก้าวหน้า
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายกานต์ ตระกูลฮุน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 4/2566 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระสำคัญคือ การระดมสมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “ระบบจริยธรรมการวิจัยในประเทศไทย” โดย ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. 2565 กำหนดแนวทางให้นักวิจัยยึดถือประพฤติปฏิบัติ และมีกระบวนการรักษาจริยธรรมการวิจัย เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณและชื่อเสียง และฐานะของความเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม ให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมวิจัยและประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เนื้อหาในระเบียบดังกล่าวประกอบด้วย 4 หมวด คือ บททั่วไป จริยธรรมการวิจัยทั่วไปของนักวิจัย จริยธรรมในกระบวนการวิจัย และกระบวนการรักษาจริยธรรมการวิจัย ภายใต้ 4 หลักการสำคัญ คือ 1. สร้างวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงานวิจัย 2. ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล 3. เปิดเผยหรือเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสาธารณะ และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างทั่วถึง 4. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยและสร้างให้เป็นบรรทัดฐาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องมีกระบวนการกำกับติดตามการปฏิบัติของนักวิจัยอย่างเข้มข้น และมีบทลงโทษที่เป็นมาตรฐานและมีความรุนแรงพอเพื่อไม่ให้คนกล้ากระทำผิดจริยธรรม โดยเฉพาะปัญหาความถูกต้องของข้อมูลและการดัดแปลงข้อมูล ปัญหาใหญ่ของการวิจัยคือ ประสิทธิภาพและจริยธรรมของการวิจัย ทำให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไม่ก้าวหน้า โดยควรจะเปิดช่องให้มีการร้องเรียนเรื่องจริยธรรมได้โดยเฉพาะทางออนไลน์ ซึ่งจะต้องกลับไปพิจารณาทบทวน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าและแนวทางในการดำเนินงานของ สกสว. ภายหลังการระดมสมองแนวทางการติดตามและประเมินผล และการใช้ผลการประเมินเพื่อตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาระบบ ววน. โดยมีการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ซึ่งได้แต่งตั้งกรรมการร่วม และอนุกรรมการธรรมาภิบาลวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาระบบ ววน. ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ส่วนการขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ กลไกการบริหารและบทบาทหน้าที่เชิงธรรมาภิบาลในระบบ ววน. ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมที่ สกสว. และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดำเนินการบ้างแล้ว และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในประเด็นเพิ่มเติมที่ได้จากการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 ชุด เพื่อขับเคลื่อนระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การบริหารจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิรูประบบ ววน. เพื่อปรับตัวและมุ่งสู่การสร้างระบบนิเวศ ววน. ที่มีประสิทธิภาพส่งผลต่อการพัฒนาประเทศนั้น สกสว.ดำเนินการขับเคลื่อนอยู่และวางแผนการทำ Good Research and Innovation Practice (GRIP) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนในการออกแบบกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐานที่ดี