xs
xsm
sm
md
lg

วิวัฒนาการของ "วิฬาร์" (แมว)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มนุษย์กับสัตว์ได้ถือกำเนิดร่วมโลกมาเป็นเวลาหลายล้านปีแล้ว แต่มีปฏิสัมพันธ์กันน้อยมาก เพราะต่างคนต่างอยู่ คือ สัตว์อยู่ป่า และคนอยู่ที่พักอาศัย (ถ้ำ, ต้นไม้ ฯลฯ) ครั้นเมื่อมนุษย์กับสัตว์เผชิญหน้ากัน ก็มักจะฆ่ากัน หรือจับกินกันเป็นอาหาร ในเวลาต่อมาเมื่อมนุษย์ได้จับสัตว์ป่ามาใช้ทำงานหนักแทนคน จึงได้พยายามเลี้ยงดูสัตว์ในบ้านเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เพราะพบว่าสัตว์เลี้ยงให้ความอบอุ่น ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดีแก่คนที่เลี้ยงมัน ทำให้คนเลี้ยงมีความรู้สึกดี และมีพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่มาคุกคาม วิทยาการด้าน anthrozoology หรือมนุษย์-สัตว์วิทยา จึงถือกำเนิดเป็นวิทยาการสาขาใหม่ ที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ทั้งในด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา สัตว์วิทยา มานุษยวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ ฯลฯ

ปริศนาหนึ่งที่ยังเป็นเรื่องถกที่เถียงกันอย่างไม่รู้จบ คือ จริงหรือไม่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ จะทำให้ความทุกข์ใจของคนลดน้อยลง และจริงหรือไม่ที่เวลาเจ้าของแมวเอามือลูบไล้ไปตามตัวแมวแล้ว ความดันเลือดในร่างกายเจ้าของแมวตัวนั้นจะลดลง หรือการได้ว่ายน้ำเคียงคู่ไปกับปลาโลมา จะลดอาการออทิสติกของคน เป็นต้น

ในอดีตเมื่อ 43 ปีก่อน Erika Friedmann แห่งมหาวิทยาลัย Maryland ที่ College Park ได้ศึกษาคนไข้ 92 คนที่เป็นโรคหัวใจ และพบว่าคนที่มีสัตว์เลี้ยง 6% จะเสียชีวิตภายในเวลา 12 เดือน ในขณะที่ 28% ของคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง จะตาย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ธุรกิจการมีสัตว์เลี้ยงในบ้านก็เฟื่องฟู นับตั้งแต่มีการเลี้ยงงูและม้า หรือกรณีหญิงจีนที่เลี้ยงสุนัข เวลานอนจะหลับสนิท และเด็กที่มีสัตว์เลี้ยง มักไม่เป็นโรคหอบหืด เป็นต้น

แต่ในเวลาเดียวกันก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่า สัตว์เลี้ยงมิได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อสุขภาพของคนเลี้ยงเลย เช่น Deborah Wells แห่ง Queen's University ที่ Belfast ใน Iceland ได้รายงานว่า คนที่เป็นโรคเหนื่อยล้าเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome: CFS) แม้จะมีสัตว์เลี้ยงก็ยังเหนื่อยอ่อน ซึมเศร้า กังวล และไม่มีความสุขอยู่นั่นเอง แต่งานวิจัยลักษณะนี้ ไม่ได้รับการเผยแพร่ เพราะผลที่ได้รับเป็นไปในเชิงลบ (คือ ไม่มีผลกระทบอะไรเลย)

ด้านนักระบาดวิทยา ที่ Finland ก็ได้พบว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยง มักเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคไขข้ออักเสบ ไมเกรน และโรคอ้วน และที่ออสเตรเลีย นักวิจัยที่ Australian National University ที่ Canberra ได้รายงานว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 60 ปี เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยง มักจะเป็นโรคซึมเศร้า และมีสุขภาพจิตแย่กว่าคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง


เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน มีรายงานการวิจัยที่กระทำที่เมือง Pretoria ในแอฟริกาใต้ว่า เวลาเจ้าของลูบไล้ตามตัวสุนัข ร่างกายของเจ้าของและสุนัขจะมีการหลั่งฮอร์โมน oxytocin ซึ่งทำให้สุนัขกับคนเลี้ยงมีความผูกพันกัน แต่เมื่อมีการทดลองซ้ำ ก็พบว่า เรื่องนี้เป็นจริง ถ้าคนเลี้ยงเป็นผู้หญิง แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในระดับของ oxytocin

สรุปเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เราจะมีสุขภาพดีขึ้น หรือมีความสุขมากขึ้น เพราะเรามีสัตว์เลี้ยง หรือเพราะเรามีสุขภาพดี และมีความสุขอยู่แล้ว เราจึงหาสัตว์มาเลี้ยง

ในขณะที่นักวิชาการยังไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ หรือไม่เลี้ยงสัตว์ เพราะเหตุผลด้านสุขภาพกาย แต่เราจะเลี้ยง เพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดีสำหรับเราเอง และสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่คนทั้งโลกโปรดปราน ก็คือ แมว


แมว (Felis catus) เป็นสัตว์กินเนื้อที่มนุษย์นิยมเลี้ยง ประมาณกันว่า แมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงมีมากถึง 600 ล้านตัว จึงนับว่ามากเป็นรองสุนัข เพราะคนเลี้ยงชื่นชมในความน่ารัก และมีความรู้สึกอบอุ่น เวลาแมวเดินเข้ามาเคล้าแข้งเคล้าขาเจ้าของ

เราสามารถพบเห็นแมวได้ในแทบทุกหนแห่ง ทั้งในบ้าน วัด อาคาร ตามถนน ฯลฯ การที่แมวมีมากเช่นนี้ เพราะมันสามารถหาอาหารได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องคอยเจ้าของนำอาหารมาปรนเปรอให้มันกินเหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ตามปกติเวลาเลี้ยงแมว ขณะที่มันมีอายุยังน้อย เจ้าของจะให้อาหารวันละ 4 มื้อ เมื่อมีอายุมากขึ้น เขาจะให้อาหารมัน วันละ 3 มื้อก็พอ แมวชอบดื่มน้ำสะอาดและนมแพะ ชอบกินเนื้อสัตว์ เช่น หนู กระต่าย นก ฯลฯ และมักคาบหนูที่ตายแล้วมาให้ลูกมันกิน หรือคาบหนูที่อ่อนแอมาให้ลูกแมวซ้อมฆ่า แมวเป็นสัตว์ที่ชอบทำความสะอาดให้ตัวเองด้วยการเลียขนตามตัว รักสันโดษ จมูกไว ชอบปีนป่ายกำแพงและเดินย่อง ความสามารถที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของแมว คือ สามารถตกจากที่สูงได้ โดยไม่เป็นอันตราย เพราะแมวจะหมุนตัวกลางอากาศให้เท้าทั้ง 4 ของมันชี้ลงดิน และเมื่อเท้าของมันถึงพื้น มันก็จะรอดชีวิต แต่ถ้าระยะทางที่ตกไม่สูงมาก แมวจะหมุนตัวไม่ทัน ซึ่งทำให้โอกาสการได้รับบาดเจ็บก็จะสูง


นักประวัติศาสตร์ได้พบว่ามนุษย์รู้จักเลี้ยงแมวมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณเมื่อ 4,000 ปีก่อน ซึ่งนิยมการมีเทพเจ้าหลายองค์ ที่มีพระเศียรเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ และมีพระวรกายเป็นมนุษย์ เช่น มีเทพเจ้าแห่งสวรรค์ผู้ทรงนามว่า Hathor ซึ่งมีพระเศียรเป็นวัว มีเทพธิดา Taurt ผู้มีพระเศียรเป็นฮิปโป และมีเทพธิดา Bastet ซึ่งมีพระเศียรเป็นแมว ที่ชาวอียิปต์โบราณนับถือแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้ใครก็ตามที่ฆ่าแมวจะถูกลงโทษรุนแรงยิ่งกว่าการฆ่าคน หรือเวลาไฟไหม้บ้าน เจ้าของจะไม่ห่วงบ้านมากเท่าแมว เพราะถ้าแมวประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย เจ้าของก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการถูกฆ่าตายตามไปด้วย และเมื่อถึงเวลาที่แมวเสียชีวิต เจ้าของมักจะนำแมวไปทำมัมมี่ แล้วนำไปฝังรวมในสุสานแมว โดยเฉพาะที่เมือง Bubastis นั้นได้มีการขุดพบมัมมี่แมวถึง 300,000 ตัว


การมีความรักและความผูกพันกับแมวมากเช่นนี้ เกิดจากความเชื่อของคนในยุคนั้นว่า แมวเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่สามารถคุ้มครองชีวิตของผู้คนให้มีอาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ได้ เพราะเวลาชาวนาปลูกข้าวสาลีได้มาก แล้วนำไปเก็บในยุ้ง หนูมักจะลอบเข้าไปกิน เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวนาเดือดร้อนมาก ครั้นเมื่อได้พบว่า แมวชอบฆ่าหนู แมวจึงได้กลายเป็นสัตว์ประเสริฐไปในทันที จนใคร ๆ ก็จะทำร้ายแมวไม่ได้


ในอดีตเมื่อ 2550 ปีก่อน จักรพรรดิ Cambyses ที่ 2 (525-522 ปีก่อนคริสตกาล) แห่งอาณาจักร Persia ได้กรีฑาทัพเข้าล้อมเมือง Memphis ในอียิปต์ พระองค์ทรงบัญชาให้ทหารจับแมวมาเป็นจำนวนมาก แล้วโยนแมวเป็น ๆ เหล่านั้นข้ามกำแพงเมือง การกระทำเช่นนี้ได้ทำให้ชาวเมืองสติแตก เพราะกลัวแมวสุดรักจะเป็นอันตราย จึงยินยอมยกเมืองให้โดยปราศจากการต่อสู้ใดๆ

ไม่เพียงแต่คนอียิปต์เท่านั้นที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแมว ในยุโรปทางเหนือ เช่น ในแถบ Scandinavia ชาวนาในแถบนั้น ก็มีความเชื่อว่าเมื่อแมวดำมีอายุครบ 7 ปี มันจะกลายเป็นปีศาจ และแมวใดที่มีเจ้าของครบ 9 คน เมื่อเจ้าของทั้ง 9 เสียชีวิตลง แมวตัวนั้นก็จะนำวิญญาณเจ้าของไปสวรรค์


ความกลัวแมวได้พุ่งถึงจุดสูงสุดในยุคกลาง เช่น ในปี 1612 แม่มดชาวสก็อต ชื่อIsobel Gowdie ได้บอกกล่าวแก่ผู้คนว่า เวลาใครจะฆ่าแม่มด ก็ให้นำแม่มดไปเผาทั้งเป็น แล้วแม่มดก็จะกลายร่างเป็นแมว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในพิธีล่าแม่มด ชาวสก็อตจะนำศพแมวมาเสียบด้วยเหล็กแหลมแล้วย่าง เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้ายของแม่มดออกไปอย่างถาวร

สำหรับประเด็นความผูกพันระหว่างบุคคลสำคัญต่างๆ ของโลกที่มีต่อแมวนั้นก็มีเรื่องเล่ามากมาย เช่น ศาสดา Muhammed ทรงโปรดปรานแมวมาก เมื่อแมวชื่อ Muezza ที่พระองค์ทรงเลี้ยง ได้นอนหลับบนแขนเสื้อของพระองค์ และพระองค์ทรงไม่ต้องการจะรบกวน Muezza จึงโปรดให้นำกรรไกรมาตัดชายแขนเสื้อที่ Muezza นอนทับอยู่ทิ้ง เพื่อให้ Muezza ได้นอนต่อไปอย่างเป็นสุข พระจริยาวัตรนี้ทำให้บรรดาสานุศิษย์รู้สึกประทับใจมาก จึงพากันออกกฎหมายห้ามใครฆ่าหรือทำร้ายแมวอย่างเด็ดขาด และได้ร่วมกันสร้างโรงพยาบาลแมวโดยเฉพาะ ที่เมือง Damascus


ในปี 1493 เมื่อปราชญ์เนเธอร์แลนด์ชื่อ Desiderius Erasmus (1466-1536) เดินทางไปเยือนอังกฤษ ได้สังเกตเห็นขุนนางที่สูงศักดิ์คนหนึ่งสวมเสื้อคลุมที่ประดับด้วยขนแมว และได้เอ่ยถึงประเพณีการไปเยี่ยมบ้านคนที่รู้จักว่า แขกจะต้องจุมพิตชายเจ้าของบ้าน ภรรยา และแมวที่เลี้ยงในบ้านด้วย

ด้าน Francesco Petrarch (1304-1374) ซึ่งเป็นนักบวชที่มีชื่อเสียงชาวอิตาเลียน ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก็ชอบเลี้ยงแมวและรักแมวมาก จนถึงกับว่าเวลาแมวตาย ท่านได้ทำมัมมี่แมว แล้วนำมาเก็บไว้ในห้องนอน

กวี Percy Shelley (1792-1822) ชาวอังกฤษ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 Charles Dickens (1812-1870) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ผู้เขียนเรื่อง A Tale of Two Cities , Emily Bronte (1818-1848) ผู้เขียนเรื่อง Wuthering Heights , Thomas Carlyle (1795-1881) นักประวัติศาสตร์ และ Mark Twain (1835-1910) นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนเรื่อง The Adventures of Tom Sawyer ทุกคนชอบเลี้ยงแมว เพราะคิดว่า การอยู่ร่วมกับแมวอย่างใกล้ชิดสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในการประพันธ์ของใคร ๆ ได้ โดยเฉพาะ Twain ได้เคยกล่าวว่า บ้านใดไม่มีแมว บ้านนั้นเป็นบ้านที่ไม่สมบูรณ์แบบ


ด้านจิตรกรชาวอังกฤษ เช่น Thomas Gainsborough (1727-1788) และ Sir Joshua Reynolds (1723-1792) ก็เคยวาดภาพคนที่อุ้มแมวหลายภาพ

นับเป็นเรื่องปกติที่เวลามีคนชอบ ก็จะมีคนเกลียด ดังนั้นโลกจึงมีคนหลายคนที่เกลียดแมวมาก ซึ่งเป็นอาการที่ได้ชื่อว่า ailurophobia และบุคคลตัวอย่างในกลุ่มนี้ ได้แก่ จักรพรรดิ Napoleon ที่ 1 (1769-1821) แห่งอาณาจักรฝรั่งเศส ผู้ทรงทำสงครามพิชิตยุโรปแทบทุกประเทศ แต่เวลาพระองค์ทรงเห็นแมว พระเสโทจะไหลพลั่กด้วยความเกลียดและความกลัว เพราะทรงเกรงว่าแมวเป็นลางที่จะทำให้พระองค์ทรงปราชัยในสงคราม

สำหรับความเชื่อที่ชนชาติต่าง ๆ มีต่อแมวนั้นก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เช่น คนอังกฤษเชื่อว่า ถ้านำหางแมวมาลูบไล้ที่เปลือกตาที่อักเสบ อาการก็จะทุเลาหายในอีกไม่นาน ชาวรัสเซียโบราณเชื่อว่า ก่อนนำทารกเกิดใหม่ไปไกวในเปล ให้นำแมวมานอนในเปลนั้นก่อน เพื่อปีศาจจะได้ไม่มารบกวนทารก ชาวอเมริกันโบราณก็เชื่อว่า วันใดที่แมวพยายามตะกายกำแพงบ้าน ในวันนั้นฝนจะตก ชาวโรมันเชื่อว่า เวลาแมวดำเดินตัดหน้าใคร เขาคนนั้นจะประสบเคราะห์กรรม และเจ้าสาวคนใด เวลาได้ยินเสียงแมวจามก่อนวันแต่งงานหนึ่งวัน ชีวิตสมรสจะเป็นสุข ด้านคนเยอรมัน และคนฝรั่งเศสก็เชื่อว่า แมวดำเป็นสัตว์อัปมงคล เพราะเป็นตัวแทนของแม่มด ดังนั้นในพิธีล่าแม่มดจึงมีการนำแมวดำมาเผาทั้งเป็น ซึ่งจะทำให้แม่มดไม่สามารถกลับมารังควานชาวบ้านได้อีก และเวลาแผ่นดินไหว ชาวเมือง Naples ในอิตาลีก็มีความเชื่อว่า แมวมักจะรู้ตัวก่อน และจะวิ่งหนีอย่างหัวซุกหัวซุน ในอดีตเมื่อ 140 ปีก่อน คนเบลเยี่ยมได้เคยจัดตั้งสมาคมพัฒนาแมวให้ทำหน้าที่นำจดหมายแทนนกพิราบสื่อสาร เพราะเชื่อว่าแมวสามารถจำบ้านตลอดระยะทาง 30 กิโลเมตรได้ แต่พบว่า แมวทำไม่ได้


คนไทยเราก็ชอบเลี้ยงแมว และมีสำนวนพูดและสำนวนเขียนเกี่ยวกับแมวมากมาย เช่น ย้อมแมวขาย ซึ่งหมายถึงการเอาของที่ไม่ดีไปหลอกขายว่าดี แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง ซึ่งหมายถึง เวลาผู้ใหญ่ไม่อยู่ ผู้น้อยมักจะสร้างความวุ่นวาย เป็นหนูกับแมว หมายถึงการรู้สึกเกรงกัน ฝากปลาย่างไว้กับแมว เป็นการไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้เนื้อเชื่อใจ ปิ้งปลาประชดแมว หมายถึงการแดกดันด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น ปิ้งปลาให้แมวกิน เพราะแมวเองก็ชอบปลาอยู่แล้ว ดังนั้นแมวก็จะสบายท้อง แต่คนปิ้งจะไม่ได้อะไรเลย ปิดประตูตีแมว หมายถึงการปิดห้องไม่ให้เสียงเล็ดรอดออกไป ชื่อเหมือนแมวนอนหวด หวดเป็นภาชนะรูปทรงเหมือนโถ การให้แมวลงไปนอนในหวด ทำให้มันพลิกตัวไปมาไม่ได้ ตัวมันจึงแข็งทื่อ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง นี่จึงเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า คนโกงที่ทำท่าทีเสมือนเป็นคนซื่อตรง อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า เฝ้าเรือนเหมือนแมวเซา เป็นการเปรียบเทียบว่า ตามปกติแมวชอบนอนที่หัวเตาในครัว เพราะที่นั่นอากาศอบอุ่น ส่วนสำนวน ที่เท่าแมวดิ้นตาย มาจากเรื่องศรีธนญชัย ตอนทูลขอพระราชทานที่ดินจากพระราชา การพูดขอที่เท่าแมวดิ้นตายทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยผิด เพราะทรงคิดว่าศรีธนญชัยจะขอพื้นที่เพียงน้อยนิด เพราะแมวตัวเล็ก แต่ศรีธนญชัยได้นำไม้มาไล่ตีแมว บริเวณไล่ฆ่าแมวจึงมีพื้นที่กว้างอย่างที่ใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง แต่สำนวนนี้ในปัจจุบันหมายถึงบริเวณที่แคบ ยื่นหมูยื่นแมว คือ ต่างฝ่ายต่างให้และรับในเวลาเดียวกัน แมวพึ่งพระ เป็นการพูดที่มีความหมายว่า การมีผู้ใหญ่เป็นที่พึ่ง ส่วนแมวมอง ในอดีตหมายถึงทหารที่มีหน้าที่สอดแนมดูการเคลื่อนไหวของข้าศึก แต่ปัจจุบัน หมายถึงคนที่คอยแสวงหาผู้มีความสามารถสูง สวยหรือหล่อ มาเป็นนักแสดง หรือเข้าประกวด

สำหรับคนเอเชียชาติอื่น สำนวนแมวมีเขา เป็นของชาวเกาหลี หมายถึง การเป็นของหายาก และสำนวนญี่ปุ่น Neko ni koban หมายถึงการให้เหรียญโกะบันแก่แมว ซึ่งเปรียบเสมือนการให้แก้วแก่วานร ที่ไม่รู้คุณและค่าของสิ่งที่ได้

นักโบราณคดีได้มีความสนใจในประวัติความเป็นมาของแมวว่ามีวิวัฒนาการความเป็นมาอย่างไร แมวตัวแรก ๆ ของโลกถือกำเนิด ณ ที่ใด และจากแมวป่าที่ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ มนุษย์ได้นำแมวมาเลี้ยงในบ้านเป็นครั้งแรกเมื่อใด และด้วยเหตุผลใด รวมถึงความต้องการจะรู้เส้นทางการพัฒนาสายพันธุ์ต่าง ๆ ของแมวในอนาคตด้วย และได้พบว่าโลกมีแมวอยู่ 37 species ในวงศ์ (family) Felidae และมี 23 สกุล (genus) โดยแมวตัวแรกของโลกได้ถือกำเนิดเมื่อ 10.8 ล้านปีก่อน และจากแอฟริกาแมวได้กระจายแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก จนได้กลายเป็นแมวบ้านในที่สุด


ในปี 2004 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ Jean-Denis Vigne (1954-ปัจจุบัน) ได้ขุดหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคหินใหม่ (Neolithic) ที่หมู่บ้าน Shillourokambos บนเกาะ Cyprus ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และพบโครงกระดูกของคนกับแมวฝังอยู่ด้วยกัน โดยอยู่ห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร ในหลุมศพมีเครื่องใช้ เครื่องประดับ เปลือกหอย และหินเหล็กไฟ การวัดอายุของกระดูกแมว (Felis silvestris) แสดงให้เห็นว่ามันเป็นแมวป่าอายุ 8 เดือน ส่วนการวัดอายุกระดูกของคนและของใช้ แสดงว่า ผู้ตายได้เสียชีวิตลงเมื่อ 9,500 ปีก่อน และที่กระดูกของแมวก็ไม่มีรอยมีดขีดใด ๆ จึงแสดงว่า แมวมิได้ถูกฆ่าเป็นอาหาร ดังนั้นมันคงเคยเป็นสัตว์เลี้ยงของคน และเจ้าของจะต้องรักมันมาก บรรดาญาติ ๆ จึงได้นำมันมาฝังรวมกับเจ้าของเวลาเจ้าของตาย


สำหรับตัวเลขอายุ 9,500 ปีนั้นดูสมเหตุสมผล เพราะเมื่อ 10,000 ปีก่อน Cyprus คือแหล่งกำเนิดของการทำเกษตรกรรม ดังนั้นจึงมีผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นเมล็ดข้าวอย่างอุดมสมบูรณ์ ให้หนูได้ขโมยกิน การได้เห็นแมวป่าเข้ามาล่ากินหนู คงทำให้ชาวบ้านพยายามจับแมวมาเลี้ยง เพื่อให้ฆ่าหนูได้ตลอดเวลา จนแมวป่าได้เปลี่ยนสภาพเป็นแมวบ้านไปในที่สุด และเมื่อ 3,700 ปีก่อน นักโบราณคดีได้ขุดหลุมศพและพบตุ๊กตาแมวในดินแดน Mesopotamia ในเวลาไล่เลี่ยกันที่เมือง Thebes ในอียิปต์ก็มีตุ๊กตารูปปั้นแมวมากมาย เพราะแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอียิปต์ และเมื่อ 2,300 ปีก่อน ฟาโรห์ Ptolemy (366-282 ปีก่อนคริสตกาล) ของอียิปต์ได้ทรงออกกฎหมายห้ามส่งแมวเป็นสินค้าออกนอกประเทศ

และเมื่อ 2,000 ปีก่อน ที่เมือง Schleswig ในเยอรมมี ได้พบหลักฐานแสดงการเผาแมวดำในพิธีล่าแม่มด และในเวลาเดียวกันนั้นแมวก็ได้เข้ามามีบทบาทเป็นต้นแบบในการวาดภาพของศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน

ในปี 1971 ได้มีการประกวดแมวงามที่ Crystal Palace ที่กรุงลอนดอน ในอังกฤษ โดยแมวที่นำมาแสดงมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนอังกฤษได้เริ่มผสมพันธุ์แมวจนได้สายพันธุ์ดี หลังจากที่ได้รู้จักวิธีผสมพันธุ์ม้า หมู ไก่ และสุนัขแล้ว

ในปี 2007 นักบรรพชีวินวิทยาจีน ชื่อ Hu Yaowu แห่ง Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology ที่ปักกิ่ง ได้ขุดสุสานในหมู่บ้าน Quanhucam และได้พบหลักฐานของอารยธรรมจีนโบราณ Yangshao ที่มีอายุ 5,300 ปี ฐานเป็นกระดูกแมว 8 ชิ้น ในหลุม 3 หลุม การวัดอายุของกระดูก โดยใช้เทคโนโลยี C-14 , C-13 และ N-5 ปรากฏว่าได้พบ C-13 ในปริมาณมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แมวได้เริ่มกินพืชเป็นอาหารแล้ว และการพบ N-5 มาก ก็แสดงว่าแมวได้กินเนื้อ นี่จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า คนจีนได้เลี้ยงแมวมาอย่างน้อย 5,500 ปี

แม้คนหลายคนจะรักแมว แต่ก็มีอีกหลายคนที่เกลียดแมว เพราะ เวลาเข้าใกล้แมว เขาจะไอหรือจามบ่อย และผิวหนังจะเป็นผื่นเวลาได้สัมผัสแมว ตาจะแดงและน้ำมูกจะไหลมากผิดปกติ อาการ hypoallergenic นี้ เกิดจากการที่แมวขับสาร glycoprotein ชื่อ Fel d 1 จากต่อมที่อยู่ใต้ผิวหนังของมันออกมา และเวลาแมวเลียขนตามตัว สารนั้นจะติดที่ขน ดังนั้นเวลาเอามือลูบขนแมว สารนี้จะเข้าทำอันตรายคนทันที


ในปี 2015 นักพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต San Diego ได้วิเคราะห์ยีน (gene) ทุกตัวของแมวจนได้ข้อมูลยีนอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่นักพันธุศาสตร์ได้วิเคราะห์ศึกษาจีโนมของสุนัขอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อปี 2005 จากความรู้ที่ว่าโมเลกุลต่าง ๆ ที่อยู่ใน DNA เปรียบเสมือนตัวอักษรที่นำมาเรียงเป็นประโยค เป็นยีน และเมื่อโครโมโซมมียีน ดังนั้นการรู้ตัวอักษรทุกตัวของ DNA จึงเปรียบเสมือนกับการได้รู้ข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ทั้งหมด

ปัจจุบันเรามีข้อมูลยีนของคนอย่างสมบูรณ์ และรู้ข้อมูลยีนของแมวอย่างสมบูรณ์ด้วย ซึ่งทำให้ได้พบว่า ยีนบนโครโมโซมแมวเหมือนยีนบนโครโมโซมคนหลายตัว เช่น ในโครโมโซม D1 ของแมวป่ามียีน HRAS , ABB , LDHA , FGF3 , TYR , GANAB , ETS1 เหมือนยีนบนโครโมโซม 11 ของคนทุกประการ นั่นหมายความว่าแมวสามารถเป็นโรคไตวาย เบาหวานชนิดสอง หอบหืด ลมชัก HIV ไขข้ออักเสบ และชรา ฯลฯ ได้เหมือนๆ คน

ด้วยเหตุนี้การศึกษาอาการโรคต่าง ๆ ที่แมวเป็น จึงเอื้อต่อการรู้ความเป็นไปของโรคนั้นๆ ในคนด้วย

สถิติคนที่มีอายุยืนที่สุด คือ สตรีชาวฝรั่งเศส ชื่อ Jeanne Calment ซึ่งได้เสียชีวิต เมื่ออายุ 120 ปี และสถิติอายุยืนที่สุดของแมวชื่อ Crème Puff คือ 38 ปี ข้อมูลนี้อาจทำให้หลายคนสนใจว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ Crème Puff มีอายุยืนมากเช่นนั้น ซึ่งมากกว่าสถิติอายุยืน 29 ปีของสุนัขเสียอีก

ในอดีตเมื่อ 2,350 ปีก่อน Aristotle ได้เคยกล่าวว่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ คือ มีน้ำหนักตัวมากมักจะมีอายุยืน และสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวน้อยมักจะมีอายุสั้น ตามความคิดเห็นนี้ วาฬที่หนัก 100 ตัน น่าจะมีอายุยืน 200 ปี และคนที่หนัก 100 กิโลกรัมควรจะมีอายุยืน 120 ปี ด้วยเหตุนี้ แมวที่หนัก 10 กิโลกรัม ก็จะต้องมีอายุยืน 40 ปี แต่แมวก็มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าสุนัข ดังนั้นการมีอายุยืนยิ่งกว่า จึงเป็นปริศนาที่น่าสนใจ

และ นักชีววิทยาได้สันนิษฐานว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสัตว์ใหญ่มักไม่ถูกสัตว์อื่นทำร้าย แต่แมวปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการเลี้ยงดูที่ดี และมีสัตวแพทย์ที่สามารถคอยพยาบาลรักษาเวลาป่วยแล้ว แมวยังเป็นสัตว์ที่คล่องแคล่ว และว่องไวในการหลบลี้หนีภัยด้วย

วันหนึ่งข้างหน้าในอนาคต ถ้าเราสามารถทำให้แมวมีอายุยืนยิ่งกว่าคนได้ นั่นก็คงจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเจ้าของที่ตายหลังแมว จะไม่ต้องรู้สึกเสียใจมาก

อ่านเพิ่มเติมจาก Phylogeny and Evolution of Cats โดย L. Werdelin กับคณะ จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ปี 2010


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงา- ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น