xs
xsm
sm
md
lg

"Industry 4.0 Platform" แพลตฟอร์มจาก สวทช. ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดิจิทัล เสริมศักยภาพผู้ประกอบการครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดสัมภาษณ์พิเศษในกิจกรรม NSTDA Meets the Press เรื่อง Industry 4.0 Platform แพลตฟอร์มรวบรวมบริการและกิจกรรมสนับสนุนการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผลักดันผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง นำโดย ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi

ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ EECi สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างกำลังตื่นตัวต่อการปฏิวัติสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในสายการผลิตเพื่อยกระดับสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ที่ระดับ 2–3 เท่านั้น ซึ่งหากไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ดังนั้นการยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ภาคแรงงาน ตลอดจนผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อีกทั้งยังสอดรับกับเป้าหมายสำคัญของประเทศและสอดคล้องกับการพัฒนาตามแนวทาง Thailand 4.0
“การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้สำเร็จและยั่งยืน จำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบ มีแบบแผน และเป็นขั้นเป็นตอน สวทช. ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดทำ ‘Industry 4.0 Platform’ แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและกิจกรรมสนับสนุนการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยบริการแบบครบวงจร มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนและของเสีย เพิ่มคุณภาพของการผลิตสินค้า ปรับปรุงกระบวนการให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน “NSTDA Core Business” ของ สวทช. ที่มุ่งสร้างกระบวนการวิจัยและกลไกที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ”


การยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของ Industry 4.0 Platform ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก อันดับแรกคือการประเมินความพร้อมของสถานประกอบการโดยผู้เชี่ยวชาญว่ามีข้อจำกัดหรือปัญหาในเรื่องใด เพื่อหาแนวทางการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับบริบทขององค์กร เมื่อทราบผลประเมินแล้ว ถัดมาคือการวางแผนจัดทำแผนปฏิบัติการ (Transformation roadmap) ที่มีรายละเอียดในการดำเนินงานอย่างชัดเจน และสุดท้ายคือการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ในโรงงาน มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้งานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะดำเนินการผ่านกิจกรรมและบริการภายใต้ Industry 4.0 Platform

“Industry 4.0 Platform มีงานที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) i4.0 Maturity คือศูนย์ข้อมูลความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนา Thailand i4.0 Index ดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 2) i4.0 Consulting คือการให้บริการที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในทุกสาขาตามความจำเป็นขององค์กร ให้ข้อเสนอแนะ คำปรึกษา และคำแนะนำด้านการลงทุนและสิทธิประโยชน์ที่พร้อมสนับสนุน รวมถึงบริการวิจัยและพัฒนา บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี บริการวิเคราะห์ทดสอบ และ 3) i4.0 Training การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในทุกระดับ เตรียมความพร้อม และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น หลักสูตรสำหรับ System Integrator (SI) หลักสูตร Industry 4.0 สำหรับผู้บริหารระดับสูง”


ดร.รวีภัทร์ กล่าวว่า Industry 4.0 Platform ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอก สวทช. อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันเครือข่ายและหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ อาทิ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมถึงองค์กรหรือบุคลากรด้าน System Integration

สวทช. มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ รวมทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่เป็นขุมพลังในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ยกตัวอย่าง ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ซึ่งมีเทคโนโลยีนำร่องการให้บริการแก่ผู้ประกอบการไทยแล้ว เช่น แพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform) แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลระบบภายในโรงงานผ่านเซนเซอร์และ IoT เพื่อวิเคราะห์และบริหารจัดการการทำงานของเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีบริการพร้อมถ่ายทอดสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งยังมีการพัฒนา Autonomous Mobile Robots หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายด้าน อาทิ การขนถ่ายสินค้า หุ่นยนต์บริการ


ดร.รวีภัทร์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการร่วมกันพัฒนา Industry 4.0 Platform เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความรู้ความเข้าใจ และมีแนวทางในการลงทุนยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสามารถ “ลงมือดำเนินการ” ยกระดับสถานประกอบการได้ตามลำดับความจำเป็น สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กรและสอดคล้องกับบริบทของไทย อีกทั้งข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินความพร้อมจะมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและน่าเชื่อถือ สามารถใช้เป็นฐานในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เข้าใกล้อุตสาหกรรม 4.0 และพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”




กำลังโหลดความคิดเห็น