xs
xsm
sm
md
lg

(ตอนที่ 2) บนเส้นทางการสร้างและใช้ระเบิดปรมาณู เมื่อ 75-78 ปีก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความจริงอุปสรรคในการสร้างระเบิดปรมาณูมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎีหรือปฏิบัติ เช่น ไม่มีใครรู้ชัดว่าปฏิกิริยา fission ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งมีนิวตรอนเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยกี่อนุภาค และมวล U-235 กับ Pu-239 ที่มีค่าน้อยที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการสร้างระเบิดปรมาณู (หรือที่เรียกว่ามวลวิกฤต (critical Mass)) ต้องบริสุทธิ์เพียงใด เพื่อให้ปฏิกิริยาลูกโซ่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด เพราะเวลานิวตรอนมีความเร็วต่าง ๆ กัน โอกาสที่นิวตรอนเหล่านั้นจะทำให้เกิดปฏิกิริยา fission ก็มีค่าแตกต่างกันด้วย ส่วนนิวตรอนที่ไม่มีโอกาสจะทำให้เกิดปฏิกิริยา fission ก็จะหนีออกทางผิวของแร่เชื้อเพลิง ถ้าการสูญเสียนิวตรอนในลักษณะนี้เกิดขึ้นมากจนเกินไป ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะหยุดทำงาน

ดังนั้นในการสร้างระเบิดปรมาณูจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์มาปิดครอบแร่เชื้อเพลิง ที่จะทำหน้าที่สะท้อนนิวตรอนที่กำลังเล็ดลอดออกมา ให้สะท้อนกลับสู่แร่เชื้อเพลิงในปริมาณมากที่สุด เพื่อให้ปฏิกิริยาลูกโซ่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และ Fermi ได้พบว่าโอกาสการเกิดปฏิกิริยา fission จะมีค่าสูงสุด ถ้านิวตรอนที่ใช้ยังมีความเร็วต่ำ (นิวตรอนที่เคลื่อนที่ช้าจะมีเวลาอยู่ใกล้นิวเคลียส U-235 ได้นาน) แต่ตามปกตินิวตรอนที่เกิดจากปฏิกิริยา fission มักจะมีความเร็วค่อนข้างสูง ดังนั้นในเตาปฏิกรณ์จึงจำเป็นต้องมีวัสดุที่สามารถลดความเร็วของนิวตรอนลง จนถึงระดับเหมาะสม เพื่อให้ปฏิกิริยา fission สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และก็ได้พบว่า แกรไฟต์ (graphite) คือวัสดุที่สามารถชะลอความเร็วของนิวตรอนได้ดี

งานวิจัยในช่วงแรกของโครงการ Manhattan จึงเป็นเรื่อง

1. การคำนวณหาพลังงานของนิวตรอนที่เกิดจากปฏิกิริยา fission ในแต่ละครั้ง เพราะได้พบว่ามีค่าต่างๆ กัน

2. การคำนวณหาโอกาสการเกิดปฏิกิริยา fission ใน U-235 กับ Pu-239 ทั้งในกรณีอนุภาคนิวตรอนที่ใช้ยิงมีความเร็วต่ำ ปานกลาง และสูง

3. การคำนวณหาโอกาสที่อุปกรณ์ซึ่งปิดครอบแร่เชื้อเพลิงจะสะท้อนนิวตรอนกลับสู่แร่เชื้อเพลิง เวลาใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์ปิดครอบ

4. การคำนวณหามวลวิกฤต (critical mass) ของแร่เชื้อเพลิง

5. การหาวิธีและขั้นตอนที่เหมาะสมในการยิงนิวตรอนจำนวนนับล้านอนุภาคเข้าไปในเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ และให้ลูกระเบิดทำงานตรงตามเวลาที่กำหนด


ในที่สุดก็ได้พบว่าระเบิดปรมาณูที่สามารถสร้างได้ มี 2 รูปแบบ คือ

แบบแรก เป็นวิธี “ยิงมวล” โดยการยิงยูเรเนียม-235 และพลูโตเนียม-239 ที่มีมวลน้อยกว่ามวลวิกฤตเล็กน้อย (subcritical mass) เข้ารวมกัน เมื่อมวลย่อยรวมกันแล้ว มวลลัพธ์ก็จะมีค่ามากกว่ามวลซูเปอร์วิกฤต (supercritical mass) ที่พร้อมจะระเบิดได้ในทันที

และวิธีที่สอง คือ แบบ implosion (ระเบิดอัดลง) โดยวิธีนี้แร่เชื้อเพลิงที่ใช้มีมวลน้อยกว่ามวลวิกฤตเพียงเล็กน้อย และมวลทั้งหมดถูกปิดครอบด้วยวัสดุที่ระเบิดได้ ดังนั้นเมื่อมีการจุดชนวนให้วัสดุปิดครอบระเบิด แรงอัดที่มากมหาศาลจากภายนอกจะอัดแร่เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ให้มีความหนาแน่นสูงมาก จนระยะห่างระหว่างนิวเคลียสของอะตอมในแร่เชื้อเพลิงได้ลดลงมาก ระบบจึงอยู่ในสภาพซูเปอร์วิกฤต (supercritical) ที่สามารถระเบิดได้ในทันทีเวลาถูกกระตุ้นด้วยนิวตรอนความเร็วต่ำ

เพราะยูเรเนียมที่ใช้ทำระเบิดปรมาณูเป็นยูเรเนียม-235 ที่ไม่บริสุทธิ์ 100% คือมี U-234, U-235 และ U-238 อยู่ปนกัน ดังนั้นเวลานิวตรอนที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชันพุ่งมาชน ในบางครั้งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชัน แต่ก็มีหลายครั้งที่นิวตรอนมิได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาใด ๆ จะอย่างไรก็ตามในการชนนิวเคลียสยูเรเนียมทุกครั้ง ความเร็วของนิวตรอนจะลดลง นอกจากนี้เวลานิวตรอนพุ่งชนนิวเคลียสของคาร์บอนในแท่ง graphite มันจะมีความเร็วลดลง เพื่อให้ปฏิกิริยาลูกโซ่สามารถดำเนินไปด้วยดี เตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ Fermi ออกแบบ ได้เริ่มทำงานในเดือนธันวาคมปี 1942 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ห้องปฏิบัติการที่ Los Alamos ในรัฐ New Mexico ของสหรัฐฯ เป็นสถานที่ผลิตระเบิดปรมาณูจากยูเรเนียม-235

ส่วนการผลิตเชื้อเพลิงพลูโตเนียม-239 นั้น ได้เริ่มดำเนินการที่เมือง Hanford ในรัฐ Washington เมื่อเดือนกันยายนปี 1944 โดยใช้สารประกอบพลูโตเนียมไนเตรท ทำให้ได้พลูโตเนียม-239 ที่บริสุทธิ์ในปริมาณมาก


ในที่สุดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์มวล 1 กิโลกรัมที่มียูเรเนียม-235 บริสุทธิ์ 63% ก็ถูกลำเลียงส่งถึงห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ที่ Oak Ridge เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำให้ U-235 มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น (enrichment) จนได้ U-235 ที่บริสุทธิ์ถึง 89% เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 ระเบิดปรมาณูที่สร้างโดยวิธียิงมวลที่มีค่าน้อยกว่ามวลวิกฤต (subcritical mass) เข้าหากัน ทำให้ได้ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกนามว่า “Little Boy” ก็ได้ถูกนำไปทดสอบประสิทธิภาพก่อนจะมีการนำไปใช้จริง และทีมผู้สร้างระเบิดได้คาดหวังจะเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้จากการระเบิด เช่น ปริมาณความร้อน และสารกัมมันตรังสี ตลอดจนถึงความรุนแรงของการระเบิด ณ ตำแหน่งที่ลูกระเบิดลง รวมถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของสถานที่ทดลองด้วย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวางแผนพัฒนาประสิทธิภาพของระเบิดได้ในอนาคต และคณะกรรมการได้กำหนดให้สถานที่ทดสอบระเบิดเป็นที่ราบ เพราะเวลาลูกระเบิดทำงาน ทัศนวิสัยในบริเวณนั้นควรปราศจากฝุ่นและหมอก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทุกคนสามารถเห็นผลการระเบิดได้ด้วยตา หรือใช้ทัศนอุปกรณ์สังเกตดูเหตุการณ์ นอกจากนี้สถานทดลองระเบิดจะต้องไม่อยู่ใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน และไม่ควรอยู่ไกลจากห้องปฏิบัติการ Los Alamos มาก เพื่อให้บุคลากรไม่ต้องเสียเวลามากในการเดินทางไปสังเกตเหตุการณ์


ในที่สุดคณะกรรมการได้ตัดสินใจเลือกบริเวณ Jornada de Muerto (คำนี้แปลว่า เส้นทางมรณะ) ในรัฐ New Mexico เป็นตำแหน่งทดลองระเบิด จากคำล่ำลือว่านักเดินทางคนใดที่เดินทางถึงสถานที่นี้อาจจะสูญเสียชีวิต เพราะไม่มีน้ำให้ดื่ม และไม่มีใครจะให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย

เมื่อถึงเวลา 5:29:45 นาฬิกาของวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 เจ้าหน้าที่ทุกคนในบริเวณทดสอบก็ได้เห็นลูกไฟสว่างจ้าปรากฏเหนือขอบฟ้า จนทุกคนรู้สึกร้อนวูบวาบ และเห็นท้องฟ้าในเวลาเช้าสว่างยิ่งกว่าเวลากลางวัน จนต้องสวมแว่นตาดำเพื่อสังเกตการระเบิด พร้อมกันนั้นก็เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยขึ้นท้องฟ้าเป็นรูปดอกเห็ดที่กำลังเบ่งบานจนถึงระยะสูงประมาณ 10,000 เมตร แล้วกลุ่มควันก็ลอยนิ่ง ให้กระแสลมเบื้องบนพัดจนควันแตกกระจาย


Fermi ได้ออกแบบการทดลองง่าย ๆ ที่แสดงให้เห็นความรุนแรงของระเบิดปรมาณู และพบว่าหลังการระเบิด 40 วินาที กระแสลมแรงได้พุ่งถึงตัวเขา จึงได้โปรยเศษกระดาษจากระยะที่สูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร เมื่อกระแสลมสงบ ก็พบว่าเศษกระดาษได้ปลิวตกห่างจากตำแหน่งที่โปรยประมาณ 2.5 เมตร Fermi จึงคำนวณ พบว่าพลังระเบิดมากเทียบเท่าดินระเบิดที่หนัก 1 หมื่นตัน

ด้าน Hans Bethe (1906-2005) ซึ่งเฝ้าดูเหตุการณ์เดียวกัน ก็ได้รายงานการเห็นควันดอกเห็ดลอยขึ้นท้องฟ้า โดยทิ้งกลุ่มฝุ่นสีดำไว้เบื้องล่าง เมื่อวัดความเร็วในการลอยตัวของลูกไฟ ก็พบว่ามีค่าประมาณ 120 เมตร/วินาที หลังจากนั้นอีก 30 วินาที เปลวไฟก็ดับ และควันสีขาวได้กลายเป็นสีม่วง แล้วลอยขึ้นไปหยุดที่สูงประมาณ 13 กิโลเมตร

การระเบิดครั้งนั้นได้ทำให้ทุกคนเห็นอำนาจในการทำลายล้างอย่างที่มนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งได้เห็นความสว่างที่เจิดจ้ายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน และสัมผัสพายุลมร้อนที่เกิดหลังการระเบิดพร้อมเสียงระเบิดคำราม จนทำให้ทุกคนรู้สึกเสมือนว่า นี่คือ จุดจบของสรรพสิ่งจน Robert Oppenheimer ได้รำพึงว่า “ข้าพเจ้าคือยมทูต ผู้ทำลายโลก” (“ I have become Death , the destroyer of worlds.”)
ในช่วงวินาทีที่ระเบิดปรมาณูสำแดงฤทธิ์ มีคนที่นั่นเพียงไม่กี่คนที่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมา นอกเหนือจากการจะใช้ระเบิดเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สำหรับนักฟิสิกส์แล้ว ทุกคนตระหนักดีว่า นี่คือวันที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคปรมาณู

ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง Albuquerque , Santa Fe , Silver City และ El Paso ในรัฐ New Mexico ซึ่งมิได้เห็นการทดลองระเบิดด้วยตนเอง แต่ได้เห็นท้องฟ้าสว่างไสวเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ว่า เห็นกระจกหน้าต่างอาคารสั่นรัว ได้เปรียบเทียบเสียงที่ได้ยินว่าดังเหมือนเสียงเครื่องบินตก และมีคนเห็นแสงสว่างจากที่ไกลออกไปถึง 400 กิโลเมตร รวมถึงการได้ยินเสียงระเบิดจากที่ไกลถึง 80 กิโลเมตร


ด้านนายพล Leslie R. Groves (1896-1970) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมศาสตร์ของโครงการ Manhattan ก็ได้ปรึกษากับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เรื่องการทำงานในขั้นตอนต่อไป นั่นคือการใช้ระเบิดปรมาณูถล่มเมืองในประเทศญี่ปุ่น เพราะการทดสอบให้ผลดีเกินความคาดหมาย Groves ก็รู้ว่า ระเบิดปรมาณูที่สร้างจากพลูโตเนียม -239 ชื่อ Fat Man ก็จะให้ผลเช่นเดียวกัน จึงขอให้ทุกคนร่วมกันสร้างระเบิดให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ก่อนวันที่ 6 สิงหาคม


ในเวลาเดียวกันที่เมือง Potsdam ในประเทศเยอรมนี ประธานาธิบดี Harry Truman (1884-1972) ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี Winston Churchill (1874–1965) ของอังกฤษ ซึ่งกำลังจะสนทนากับนายกรัฐมนตรี Joseph Stalin (1879-1953) ของรัสเซีย ในการร่วมกันเรียกร้องให้กองทัพญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไร้เงื่อนไขใด ๆ เมื่อได้ทราบข่าวความสำเร็จในการทดสอบระเบิดปรมาณู และรู้ว่ากองทัพอเมริกันจะมีระเบิดลูกใหม่ที่พร้อมจะใช้งานได้ก่อนวันที่ 6 สิงหาคม การมีระเบิดปรมาณูนี้ได้ทำให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรไม่จำเป็นต้องยกพลขึ้นบกที่ญี่ปุ่นอีกต่อไป นอกจากนี้ความสำเร็จในการทดลองระเบิดจะเสนอทางเลือกให้จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะมีผลทำให้สงครามโลกครั้งที่สองยุติในทันที และจะมีผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษไม่จำเป็นต้องการความช่วยเหลือทางทหาร จากรัฐบาลรัสเซียในการบุกประเทศญี่ปุ่นอีกต่อไป

เมื่อระเบิดปรมาณูที่สร้างจากยูเรเนียม-235 ทำงานได้ผล คณะทำงานก็ตระหนักว่า ระเบิดปรมาณูที่สร้างจากพลูโตเนียม-239 ก็จะทำงานได้ผลดีเช่นกัน ดังนั้นในวันที่ 16 กรกฎาคม วัสดุดิบทุกชิ้นที่จำเป็นในการประกอบระเบิดปรมาณูก็ถูกลำเลียงขึ้นเรือลาดตะเวน Indianapolis ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่เมือง San Francisco อีก 10 วันต่อมา เรือก็ได้เดินทางถึงเกาะ Tinian ซึ่งตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

ความจริงสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดในยุโรป ตั้งแต่ปี 1939 โดยไม่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม แต่เมื่อกองทัพอากาศญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl Harbor บนเกาะ Oahu ในหมู่เกาะ Hawaii เมื่อเวลาเช้าของวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1942 กองทัพอากาศของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบิน 360 ลำ ได้ทิ้งระเบิดทำลายเรือรบอเมริกันที่จอดเทียบท่าอยู่ เช่น เรือรบ Arizona , Oklahoma , California , Nevada และ West Virginia จนอับปางราบเรียบ กองบินญี่ปุ่นยังได้ทำลายเครื่องบินสหรัฐฯ 200 ลำ ที่จอดอยู่ที่สนามบินและได้ฆ่าทหารไป 2,300 คน ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้นรัฐบาลญี่ปุ่นมิได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ


การ “ลอบกัด” เช่นนี้ ได้ทำให้ประชาชนอเมริกันรู้สึกเคืองแค้นมาก รัฐบาลสหรัฐฯ จึงประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในทันที และตั้งใจจะเอาคืนความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้ระเบิดปรมาณูถล่มเมือง Hiroshima เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 โดยใช้เครื่องบิน B-29 ชื่อ Enola Gay ซึ่งมีกัปตันชื่อ Paul Tibbets (1915–2007) ให้บินขึ้นจากสนามบินบนเกาะ Tinian ในหมู่เกาะ Marina เมื่อเวลา 2.45 นาฬิกาในความมืด โดยได้บรรทุกระเบิดปรมาณูชื่อ Little boy ที่สร้างจากยูเรเนียม-235 ไปด้วย อีก 2 นาทีต่อมา เครื่องบิน B-29 ลำที่สอง ชื่อ The Greal Artiste ก็ได้บินตาม ในเครื่องบินลำหลังนี้ มีคณะผู้สังเกตการณ์ตามไปด้วย 10 คน


เมื่อถึงเวลาเช้า 8.15 นาฬิกา ขณะเครื่องบินใกล้จะถึงเมือง Hiroshima และอยู่ที่ระยะสูง 10,000 เมตร ระเบิดปรมาณูลูกแรกก็ถูกปล่อยลงจากเครื่องบิน เพื่อให้ระเบิดกลางอากาศที่ระยะสูง 200 เมตร พลังระเบิดได้ทำลายพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ของเมือง Hiroshima จนราบเรียบ มีคนเสียชีวิตในทันทีประมาณ 100,000 คน อีก 100,000 คน ได้รับภัยกัมมันตรังสี หลายคนมีอาการพิการและทุพพลภาพ

ขณะระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกสำแดงฤทธิ์ คณะผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในเครื่องบินลำติดตาม ได้ถ่ายภาพดอกเห็ดมฤตยู วัดความเร็วของกระแสลมที่เกิดขึ้น และตรวจจับคลื่นความร้อน ณ ตำแหน่งที่อยู่ไกลจากตำแหน่งระเบิดประมาณ 5 กิโลเมตร


แม้ความเสียหายทั้งชีวิตจิตใจและทรัพย์สินจะมากมหาศาลสักปานใด รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมจำนน โดยจักรพรรดิ Hirohito ได้เสด็จจากกรุง Tokyo ไปเมือง Hiroshima เพื่อทอดพระเนตรความเสียหายจากการระเบิด และตรัสสั้น ๆ เพียงว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเมืองเสียหายมาก”

เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ อีก 3 วันต่อมา ประธานาธิบดี Truman ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งแทนประธานาธิบดี Roosevelt ที่เสียชีวิตไป ก็ได้ตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองชื่อ Fat Man ซึ่งสร้างจากพลูโตเนียม-239 ที่เมือง Nagasaki เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม โดยให้เครื่องบิน B-29 ชื่อ Bock’s Car การระเบิดครั้งนั้นได้ทำให้ชาวเมืองเสียชีวิต 75,000 คน

คราวนี้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาประกาศยอมแพ้อย่างรวดเร็ว และได้เซ็นสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี 1945 ปฏิกิริยาของสังคมอเมริกันที่มีต่อการทิ้งระเบิดปรมาณูในทั้งสองครั้งได้ทำให้สังคมแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การสังหารพลเมืองที่ปราศจากอาวุธเป็นเรื่องผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า เป็นเรื่องปกติของการทำสงคราม ที่จะต้องมีการเสียชีวิต ในความเป็นจริงจักรพรรดิญี่ปุ่นควรประกาศยอมจำนน ตั้งแต่วันที่เมือง Hiroshima ถูกระเบิดปรมาณูลูกแรกถล่มแล้ว จะอย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณู ประธานาธิบดี Truman ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้ว และรู้ดีว่ากองทัพญี่ปุ่นได้กระทำกรรมโหดร้าย โดยได้ทารุณบรรดาเชลยศึกจำนวนมาก เช่น จับชาวต่างชาติมาขังเป็นทาส ให้ทำงานสร้างทางรถไฟระหว่างประเทศหลายประเทศ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นรู้ว่า สหรัฐฯ วางแผนจะโจมตีญี่ปุ่นทางอากาศ กองทัพญี่ปุ่นได้นำเชลยต่างชาติ ไปที่ประเทศญี่ปุ่น และขังคนเหล่านั้นตามเมืองต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นโล่คุ้มกันไม่ให้เมืองถูกระเบิดโจมตี แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็รู้ดีว่า เมื่อใดที่กองทัพนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบก ทหารญี่ปุ่นก็จะฆ่าเชลยเหล่านั้นทันที


ดังนั้นประธานาธิบดี Truman จึงตัดสินใจใช้ปรมาณูถล่มเมือง Hiroshima กับ Nagasaki เพื่อยุติสงครามโลก หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลว่า พลโลกประมาณ 55 ล้านคนได้เสียชีวิตไปแล้ว

สงครามโลกครั้งที่สองจึงยุติหลังจากที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลา 6 ปี หลังจากที่สงครามโลกยุติ บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและครอบครัว ของเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ได้เดินทางออกจากห้องปฏิบัติการที่ Los Alamos เพื่อกลับบ้านเกิด บ้างก็ไปทำงานต่อที่มหาวิทยาลัยที่เคยสังกัด หรือกลับไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยทำงานมาก่อน เพราะรู้ดีว่าเมื่อโครงการ Manhattan สิ้นสุดห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ของโครงการก็จะถูกปิด


ในเวลาต่อมารัฐสภาของสหรัฐฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์ (Atomic Energy Commission) ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระเบิดมีพลังในการทำลายล้างยิ่งกว่าระเบิดปรมาณู นั่นคือให้ Los Alamos เป็นห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดไฮโดรเจน

อ่านเพิ่มเติมจาก Nuclear Fusion and Fission (Great Discoveries in Science) โดย Fiona Young-Brown จัดพิมพ์โดย Cavendish Square (July 30, 2016)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น