สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำกิจกรรมร่วมสนุกในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ชวนน้องๆ ร่วมสนุกกับการแข่งขันต่อจิ๊กซอว์ยักษ์ ประลองความไวถอดรหัสดาวินชี่ ระบายสีปูนปลาสเตอร์เติมแต่งจินตนาการ และลุ้นของรางวัลไปกับเกมบิงซินโครตรอน พร้อมของรางวัลสุดพิเศษ “ดาบซินโครตรอน”
ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า สถาบันฯ ได้นำกิจกรรมไปร่วมจัดในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-20 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 9-11 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อให้เยาวชนได้ร่วมสนุกตลอดการจัดจัดงานทั้ง 10 วัน
“น้องๆ จะได้สนุกในการประลองความไวถอดรหัสดาวินชี่ โดยการทายคำศัพท์จากภาพที่กำหนดให้ และมีการแข่งขันต่อจิ๊กซอว์ยักษ์ที่สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีซินโครตรอน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเกมบิงโกซินโครตรอน และการตอบคำถามชิงรางวัล โดยมีของรางวัลพิเศษคือ “ดาบซินโครตรอน” ที่สถาบันฯ จัดเตรียมมาแจกเป็นประจำทุกปี” ... ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว
ภายในบูธของสถาบันฯ ยังมีนิทรรศการผลงานวิจัยเด่นของสถาบันฯ ได้แก่ การศึกษาเมล็ดกาแฟด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อไขความลับการคั่วกาแฟให้เกิดกลิ่นรสกาแฟที่มีเอกลักษณ์ การศึกษากระดูกพรุนจากการกินอาหารรสเค็มด้วยแสงซินโครตรอน การพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นเพื่อการประยุกต์ใช้ทางด้านการเกษตร ผลงานร่วมวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันฯ และบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) ที่ได้รับรางวัลจากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 48 และการพัฒนากราฟีนจากขยะเพื่อช่วยเรื่องจัดการขยะและหมุนเวียนคาร์บอน และเป็นการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ประโยชน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) พร้อมด้วยนิทรรศการความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับซินโครตรอน และเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน 3 GeV ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย
“ขอเชิญชวนน้องๆ และผู้ปกครองมาเยี่ยมชมบูธของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นอกจากกิจกรรมร่วมสนุกและของรางวัลมากมายแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้รู้จัดเทคโนโลยีซินโครตรอน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงผลงานวิจัยของพี่ๆ นักวิทยาศาสตร์ไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ” ..... ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าว