กลับมาอีกครั้ง! กับเวทีนำเสนอผลงานวิจัยไทยระดับชาติ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ที่ วช. ร่วมกับ เครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 พร้อมโชว์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นแห่งปี กว่า 1,000 ผลงาน จัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ กลางใจเมือง หวังเป็นเวทีเชื่อมโยงงานวิจัยให้ก้าวไกล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดตัว “ทูตวิจัย” ท็อป พิพัฒน์”
วันนี้ (22 ก.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศความพร้อมจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ( Thailand Research Expo 2023 )” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “ วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ในบทบาทของการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง จึงได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ” หรือ “ Thailand Research Expo 2023 ” ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นปีที่ 18 เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ และกระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 1,000 ผลงาน จากเครือข่ายวิจัย ฯ กว่า 140 หน่วยงาน
“ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และทุกภาคส่วน ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาการผ่านผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถเชื่อมโยง การบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดกลไกในการพัฒนาส่งเสริมการถ่ายทอดจากผู้พัฒนางานวิจัย สู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง การจัดงานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นกลไกความร่วมมือที่มีความเข้มแข็งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการพัฒนาขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์”
สำหรับกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิศวกรสังคมและนวัตกรสังคม เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน” โดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ “ บทบาทของการวิจัยและนวัตกรรมต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศไทย” โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนา กว่า 100 หัวข้อ ที่มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องของการบริหารจัดการงานวิจัย ที่ครบถ้วนรอบด้าน
พลาดไม่ได้ คือ นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ซึ่งมีการนำเสนอผลงานภายใต้ 6 Theme สำคัญ กว่า 1,000 ผลงาน อาทิ หุ่นยนต์ล้างแผงโซล่าร์เซลล์ เปลี่ยนขยะเป็นกราฟินมูลค่าสูง โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่าง เอกลักษณ์ อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เครื่องวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจพร้อมการตอบสนองด้วยเสียง การใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูงไขมันต่ำ และนวัตกรรมเซลล์เคมีไฟฟ้าขั้นสูงสำหรับบำบัดน้ำในระบบเลี้ยงปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
ปีนี้ วช.ได้เปิดตัว “นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” ทูตวิจัยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ซึ่งจะเป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ในการสื่อสารงานวิจัยให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับ งานวิจัย ว่า ในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลายด้านที่ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มนุษย์ได้ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของโลกมากขึ้น การได้รับการแต่งตั้งให้ได้รับตำแหน่ง “ทูตวิจัย”ประจำปี 2566 นี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก ความคิดเห็นส่วนตัวของผมมองว่า โลกของเรามีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีงานวิจัยเกิดขึ้นใหม่อย่างมากมายและครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตดียิ่งขึ้นอย่างสอดคล้องกับความก้าวหน้าและพัฒนาของโลกจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่าน ได้มาชมผลงานวิจัยของคนไทยที่จะถูกนำมาจัดแสดงภายในงานงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “Thailand Research Expo 2023” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th