xs
xsm
sm
md
lg

สกสว.เดินสายตรวจเยี่ยมหน่วยงาน รวบรวมผลงานวิจัยเด่น นำเสนอแก่ “กรรมาธิการงบประมาณฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. เยี่ยมชมผลงานเด่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมหารือกลไกการดำเนินงาน การผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการนำส่งผลลัพธ์ ผลกระทบ ไว้เป็นข้อมูลเพื่อชี้แจงแก่ “กรรมาธิการงบประมาณฯ”

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมและติดตามผลการดําเนินงานโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ วงษ์พานิช. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะอาจารย์และนักวิจัย ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน ก่อนเยี่ยมชมผลงานวิจัยเด่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม หน่วยวิจัยระบบพลังงานสะอาดวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ และ หน่วยวิจัยนวัตกรรมและทดสอบผลิตภัณฑ์ระบบราง

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และ บริหารระบบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งงบประมาณออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. งบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) เพื่อดำเนินงานตามแนวนโยบายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และแผนด้าน ววน. หรือ ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็นที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง 2. งบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. กว่า 180 หน่วยงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ 3. งบประมาณด้านการนำผลการวิจัยวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำหรับขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 และ 4. งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากการจัดทำแผนด้าน ววน. และ บริหารระบบงบประมาณแล้ว สกสว. ยังมีพันธกิจในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ของหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. ทั้งในส่วนของการนำส่ง Output Outcome Impact ความสามารถในการจัดการและดำเนินการตามแผนงาน ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจากการนำผลงาน ววน.ไปใช้ประโยชน์ สำหรับการเยี่ยมชมผลการดําเนินงาน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครั้งนี้ เพื่อหารือต่อแนวนโยบายของกองทุนส่งเสริม ววน. ที่เกี่ยวกับงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน การบริหารจัดการงบประมาณ การพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการติดตามประเมินผล และการดำเนินการที่สอดคล้องกับพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯ ร่วมกัน อีกทั้งได้ทำความเข้าใจกระบวนการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานและจะได้หนุนเสริมให้หน่วยงานมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ให้การใช้งบประมาณมีความคุ้มค่า ที่สกสว.สามารถนำไปเสนอและใช้ชี้แจงแก่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ 2567 ต่อไป

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน ตามพันธกิจ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่เป็นการสร้าง และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ความต้องการของสังคม ชุมชน ภาครัฐและเอกชน และประเทศ ให้บริการวิชาการที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับบริบทมหาวิทยาลัยด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี และตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ชุมชนและสังคม อย่างต่อเนื่อง

โดยในปีงบ 2567 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้พัฒนากรอบและข้อเสนอโครงการวิจัย ภายใต้แนวคิด BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ใน 8 เรื่อง คือ 1.สังคมสูงวัย สุขภาพ และ เครื่องมือการแพทย์ 2. อุตสาหกรรมสมัยใหม่ วัตถุ พลังงานและสิ่งแวดล้อม 3.เศรษฐกิจฐานราก การค้าชายแดน และธุรกิจรูปแบบใหม่ 4. เกษตร อาหารและสมุนไพร 5.ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว 6.ระบบนิเวศน์วิจัยและนวัตกรรม งานวิจัยสู่งานประจำ 7. การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ และ 8.การวิจัยและพัฒนาตามแนวทางศาสตร์พระราชา

อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรอบงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ของแผนด้าน ววน. เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญของประเทศ อาทิ ผลการวิจัยเรื่อง PM 2.5 และระบบราง เป็นต้น














กำลังโหลดความคิดเห็น