xs
xsm
sm
md
lg

"Socotra" เกาะแก้วพิสดาร ในมหาสมุทรอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ ตำแหน่งที่อยู่ห่างจากชายฝั่งของประเทศ Yemen ไปทางใต้เป็นระยะทาง 350 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งของ Somalia ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 250 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ เกาะ Socotra (คำๆ นี้แปลว่า เกาะที่สวรรค์โปรด) ในมหาสมุทรอินเดีย


ในอดีต Socotra เคยมีชื่อเสียว่าเป็นเกาะมหาภัย เพราะในบริเวณทะเลรอบเกาะ มีคลื่นรุนแรงตลอดเวลาที่นานประมาณ 7 เดือนใน 1 ปี ทำให้เรือที่แล่นใบเข้าใกล้เกาะจะถูกลมพายุพัดจนเรืออับปาง นอกจากนี้กะลาสีเรือก็ยังเชื่ออีกว่าชาวเกาะมีความสามารถในการใช้มนตร์ดำบังคับให้กระแสน้ำทะเลไหลในทิศที่นำเรือเข้าฝั่ง เพื่อให้ชาวเกาะได้จับกุมกะลาสีและปล้นสินค้าที่มีอยู่บนเรือแต่เมื่อถึงวันนี้ Socotra กลับมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านบวก ในฐานะเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างหนาแน่นมากที่สุดเกาะหนึ่งของโลก ตามหลังเกาะ Seychelles, New Caledonia และ Hawaii เพราะมีสิ่งมีชีวิต เช่น พืชและสัตว์นานาชนิด ที่นักชีววิทยาไม่สามารถพบเห็นได้ในสถานที่อื่น นอกจากบนเกาะ Socotra แห่งเดียวเท่านั้น เกาะจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “Galapagos แห่งมหาสมุทรอินเดีย” และเป็นห้องปฏิบัติการด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์

แต่เมื่อถึงวันนี้ Socotra กลับมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านบวก ในฐานะเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างหนาแน่นมากที่สุดเกาะหนึ่งของโลก ตามหลังเกาะ Seychelles, New Caledonia และ Hawaii เพราะมีสิ่งมีชีวิต เช่น พืชและสัตว์นานาชนิด ที่นักชีววิทยาไม่สามารถพบเห็นได้ในสถานที่อื่น นอกจากบนเกาะ Socotra แห่งเดียวเท่านั้น เกาะจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “Galapagos แห่งมหาสมุทรอินเดีย” และเป็นห้องปฏิบัติการด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์


ความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพของต้นไม้ที่มีรูปร่างแปลกตา เพราะมีรูปทรงที่แตกต่างไปจากต้นไม้ที่เราคุ้นเคย ได้ทำให้ผู้คนที่เห็นต้นไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของเกาะมีความรู้สึกเสมือนว่า ตนกำลังเยือนดินแดนต่างดาว เพราะภูมิทัศน์มีลักษณะ “เหนือจริง” เหมือนดั่งภาพวาดแนว Surrealism ของศิลปินชาวสเปนชื่อ Salvador Dalí (1904-1989)


การมีภูมิทัศน์และธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวนี้ ทำให้ Socotra ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2008 ของ UNESCO ที่ชาวโลกต้องอนุรักษ์และปกป้องให้เกาะคงสภาพเป็นสรวงสวรรค์แห่ง Eden ก่อนที่มนุษย์และเทคโนโลยีปัจจุบันจะทำลายหรือเปลี่ยนโฉมของเกาะไปอย่างไม่มีวันกลับคืน


ข้อมูลสถานภาพทางภูมิศาสตร์ของ Socotra ในปัจจุบัน คือ เกาะมีความยาว 132 กิโลเมตร และกว้าง 50 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,796 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงชื่อ Hadiboh และมีเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ ๆ อีก 3 เกาะ ชื่อ Abd al Kuri, Darsah และ Samhah โดยเกาะทั้งสี่ ได้แยกตัวออกจากทวีปแอฟริกา เมื่อ 18 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาในยุค Miocene เพราะเกาะอยู่ห่างจากผืนแผ่นดินใหญ่มาก สิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายบนทวีปแอฟริกา จึงไม่สามารถว่ายน้ำข้ามทะเล Arabian ไปรุกรานสิ่งมีชีวิตบนเกาะได้ สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น จึงมีความเป็นอยู่อย่างปกติสุข เพราะแทบไม่ถูกรบกวนโดยสิ่งแวดล้อมภายนอกเลย และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้ร่างกายของมันแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ดังจะเห็นได้จากดัชนีการสำรวจที่ระบุว่า บนเกาะมีพืช 850 species และมี 1 ใน 3 ของพืชเป็นพืชประจำเกาะ 90% ของสัตว์เลื้อยคลาน กับ 95% ของหอยทากที่พบบนเกาะ จะไม่มีพบในสถานที่อื่น นอกจากที่ Socotra

การที่เป็นเช่นนี้ เพราะ Socotra ได้อยู่แยกเป็นอิสระมาเป็นเวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งเกาะมีสภาพภูมิอากาศที่ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ภัยพายุ cyclone และภัยคลื่นสึนามิ จึงแทบไม่ปรากฎ ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ของเกาะก็เป็นปัจจัยบวกอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์มีพื้นที่อาศัยได้ค่อนข้างมาก


ความอุดมสมบูรณ์ของพืชและต้นไม้ที่มีรูปทรงแปลก ๆ ได้เป็นที่ล่วงรู้ถึงสมาชิกของสมาคม British Association for the Advancement of Science ทางสมาคมจึงได้จัดส่งทีมนักสำรวจภายใต้การนำของ Isaac Bayley Balfour (1859-1933) ผลการสำรวจได้ทำให้คนทั้งโลกรู้จัก Socotra ทันที โดย Balfour ได้อ้างว่า ภายในเวลาเพียง 7 สัปดาห์ เขาสามารถเก็บสิ่งมีชีวิตตัวอย่างได้มากกว่า 500 species และ 200 species เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักมาก่อน

ลุถึงปี 1967 ทีมนักพฤษศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้สำรวจพบว่าพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นของเกาะ Socotra กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะถูกชาวเกาะบุกรุกพื้นที่อาศัย และพืชถูกกำจัดไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะพืชที่ขึ้นบนภูเขา Hajhir ที่สูง 1,700 เมตร และเป็นแหล่งที่อุดมด้วยต้นไม้ที่อยู่กันอย่างหนาแน่นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


สัตว์หายากบนเกาะที่พบ ได้แก่ นก warbler, ปูปีศาจ (ghost crab), ปูหินปูน Socotra, นกกาน้ำ cormorant, เหยี่ยวอียิปต์ และเต่า loggerhead เกาะ Socotra ยังเป็นสถานที่อพยพของนกต่างถิ่นด้วย ชีวิตของสัตว์ทะเลในบริเวณรอบเกาะ เป็นผลผลิตที่ได้จากการผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำในมหาสมุทรอินเดียทะเลแดง และทะเลด้านแอฟริกาตะวันออก

ในปี 1985 Quentin Cronk (1959-ปัจจุบัน) นักพฤษศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย British Columbia ในแคนาดา ได้เดินทางมาสำรวจเกาะ Socotra และพบว่า รายงานการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรงบนเกาะนั้น เป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป แต่ก็มีประเด็นที่ชาวเกาะจะตั้งระมัดระวัง คือ การมีผู้คนที่อพยพมาอาศัยอยู่บนเกาะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถบินจากเมือง Abu Dhabi ไปเกาะได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และทุก ๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนเกาะได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน

แม้ชาวเกาะส่วนใหญ่จะหาเลี้ยงชีพโดยการประมง เก็บพืชป่าเป็นอาหาร และเลี้ยงสัตว์ อันเป็นวิถีชีวิตที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตลอดเวลา 2,000 ปีที่ผ่านไป แต่ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บก็ยังมีอยู่ โดยมีคนป่วยเป็นโรคมาลาเรียและวัณโรคก็ยังมากอยู่ ในอดีตอัตราการตายของทารกแรกเกิดเคยสูงถึง 131 คนในทารก 1,000 คน ซึ่งนับเป็นอัตราการเสียชีวิตที่มากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันเกาะมีโรงพยาบาลและมีไฟฟ้าใช้ ดังนั้นสุขภาวะของประชากรบนเกาะก็ดีขึ้น จากจำนวนประชากรบนเกาะทั้งหมดประมาณ 90,000 คน และจำนวนนี้ก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีคนที่อพยพหนีภัยสงครามการเมืองที่ Yemen มาอาศัยอยู่ที่เมืองหลวง Hadibo เพิ่มขึ้นทุกปี


จุดประสงค์หลักของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน Socotra ในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศบนเกาะเย็นสบาย คือ การได้เห็นและสัมผัสต้นเลือดมังกร (dragon's blood tree, Dracaena cinnabari) ที่มียางไม้สีแดงเลือดนก (ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเลือดของมังกรที่ต่อสู้กับช้างจนมังกรเสียชีวิต) ต้นไม้นี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก คือ มีกิ่งก้านทุกกิ่งชูชันขึ้นฟ้า รวมกันจนดูคล้ายร่มที่ถูกลมตีจนร่มหุบขึ้น (แทนที่จะหุบลงเหมือนร่มทั่วไป) และเวลาลำต้นถูกมีดกรีด จะมีน้ำยางสีแดงไหลซึมออกมา ซึ่งไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ชาวบ้านใช้ยางไม้เป็นยาพื้นบ้านใช้ทาแผลที่อักเสบ เป็นยาระบายอ่อนๆ รักษาแผลในกระเพาะ แผลกดทับ แก้โรคหอบหืด ไอ และเจ็บคอ ใช้เคลือบไม้เป็นสีย้อมผ้า ให้ศิลปินใช้ระบายภาพวาด และใช้เป็นพิธีกรรมทางศาสนา เพราะมีกลิ่นหอมมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน ต้นเลือดมังกรจึงเป็นต้นไม้ทองคำที่มีค่าสำหรับชาวเกาะ ซึ่งจะหวงแหนไม่ให้ใครมาขโมยตัด ถึงกับได้สร้างนิทานขึ้นมาว่า ต้นไม้ชนิดนี้มีงูยักษ์คอยพิทักษ์รักษา และงูตัวนั้นอาศัยอยู่ในถ้ำลึก ต้นเลือดมังกรตามปกติอาจมีอายุได้มากถึง 650 ปี และสูงตั้งแต่ 10-15 เมตร

ความมีชื่อเสียงของยางไม้คู่กับยางของต้นกำยาน และมดยอบที่ชอบขึ้นในตะวันออกกลางได้มีมานาน ตั้งแต่ยุคของฟาโรห์แห่งอียิปต์ และพระราชินี Sheba ในกษัตริย์ Solomon ของอิสราเอลว่า ทรงใช้ยางไม้หอมในงานเฉลิมฉลองตลอดมาจนถึงยุคของอารยธรรมกรีก ซึ่งนิยมใช้ในพิธีบูชาเทพเจ้า

ครั้นเมื่ออารยธรรมโบราณเหล่านี้ล่มสลาย เส้นทางการค้าเครื่องหอมก็ได้เปลี่ยนไป เกาะ Socotra ก็ยังมีพ่อค้า Bedouin ที่เร่ร่อน และเลี้ยงแพะกลางทะเลทราย เดินทางมาพักผ่อนบ้าง ด้านชาวเกาะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายฝั่งก็ยังจับปลาและทำการประมงต่อไป

นักพฤษศาสตร์มีความสนใจในเรื่องรูปทรงที่แปลกของต้นเลือดมังกรนี้มาก และได้อธิบายการที่มันมีโครงสร้างเช่นนี้ เพราะต้นไม้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จึงได้ชูกิ่งก้านขึ้นรับความชื้นจากสายหมอกและแสงแดด ซึ่งจะรับได้มากที่สุด ถ้ากิ่งก้านกระจายออกตามแนวราบ และถ้าแสงมีน้อย ต้นจะแคระเตี้ย สภาวะแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศ จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในการทำให้ต้นเลือดมังกรไม่สูญพันธุ์ นอกจากยางไม้จะมีประโยชน์แล้ว ลำต้นเองก็ยังเป็นแหล่งอาศัยของผึ้ง และใบเป็นอาหารให้วัว ต้นเลือกมังกรเติบโตและแพร่พันธุ์โดยใช้เมล็ด มันชอบขึ้นในพื้นที่ไม่ชื้นแฉะหรือหนาวจัด ตามปกติมันจะเก็บน้ำในลำต้น และถ้าปลูกในบ้านต้นจะช่วยกรองอากาศ อีกทั้งนำโชคดีมาสู่เจ้าของบ้านด้วย


Socotra ยังมีพืชเก่าแก่โบราณอีกหลายชนิด เช่น ต้นกะหล่ำไม้ (woody cabbage, Hemicrambe townsendii) ต้นแตงกวา (cucumber tree, Dendrosicyos socotrana) ที่มีลำต้นกลมเหมือนขวด และมีดอกสีขาวหรือเขียวที่ปลายกิ่ง มีต้น Bluebell (Ledebouria) ที่มีลักษณะเป็นหัวอยู่ใต้ดิน และจะเผยโฉมเป็นดอก เมื่อเริ่มฤดูฝน


ในปี 1999 Kay Van Damme จากมหาวิทยาลัย Mendel ที่เมือง Brno ในประเทศ Czechoslovakia ได้มาเยือน Socotra และพบสัตว์ท้องถิ่นประจำเกาะพวกกุ้ง กั้ง ปู (crustacean) เช่น ปูน้ำจืด (Socotrapotamon socotrensis) ที่ไม่เหมือนสัตว์อะไรอื่นใด เพราะปูชนิดนี้ชอบล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร แต่ตัวเองไม่ได้เป็นอาหารของสัตว์อื่นใด นอกจากนี้ก็ยังได้พบตัว chameleon (Chamaeleo monachus) ซึ่งมีมากถึง 90% ของสัตว์เลื้อยคลานที่พบบนเกาะ และชาวบ้านเชื่อว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีอาถรรพ์ เพราะเวลาใครได้ยินเสียงมันร้อง เขาคนนั้นก็จะเป็นใบ้ไปในทันที


โดยสรุป ถ้าเราจะกล่าวถึงความหลากหลายที่น่าสนใจที่สุดของเกาะ Socotra คือ การมีความหลากหลายของพืช เพราะจากพืช 825 species ปรากฏว่ามี 307 species (37% ที่เป็นพืช endemic)


เมื่อพูดถึงคนที่สนใจความน่าตื่นตาตื่นใจของต้นไม้ โลกก็มี Thomas Pakenham (1933-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ แต่มีความสนใจเรื่องรูปทรงของต้นไม้เป็นงาน side-line โดยได้ถ่ายภาพของต้นไม้ที่มีรูปร่างประหลาดมากมาย เช่น ต้นไม้ยักษ์ ต้นไม้ดึกดำบรรพ์ ต้นไม้ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ต้นไม้ที่มีลำต้นใหญ่ที่สุดใน Mexico ต้นเท้าช้างบนเกาะ Madagascar ต้น baobab ต้น oak ที่มีลำต้นและกิ่งก้านใหญ่มาก จนสามารถใช้เป็นสถานที่สวดมนต์ได้ในฝรั่งเศส


Pakenham ได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อถ่ายภาพของต้นไม้ต่าง ๆ ที่เขาสนใจด้วยกล้องถ่ายรูปที่หนัก 15 กิโลกรัม แล้วรวบรวมภาพมาพิมพ์เป็นเล่มในปี 2002 โดยใช้ชื่อว่า “Remarkable Trees of the World” ภาพต้นไม้ที่ Pakenham ถ่าย ได้ถูกนำไปแสดงที่สนามบินให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศได้รู้ว่า จะสามารถเห็นต้นไม้ต้นนั้นได้ ณ ที่ใด และ Pakenham ก็ได้เน้นย้ำว่า เขาต้องการถ่ายภาพของต้นไม้เท่านั้น ไม่ใช่ถ่ายทิวทัศน์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นความซับซ้อน ความสวยงาม และความน่าสนใจในเชิงวิทยาศาสตร์ของต้นไม้ โดยใช้ภาพถ่ายสองมิติ


ในหนังสือภาพเล่นนั้น Pakenham ได้เลือกภาพของต้นไม้ที่ทุกคนรู้จักดี เช่น ภาพต้น General Sherman sequoia ที่ขึ้นใน California ต้นโพธิ์ อายุ 2,000 ปี ที่ขึ้นใน Sri Lanka ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้านั่งตรัสรู้ ต้น Montezuma cypress ที่ขึ้นในเมือง Tule ของ Mexico ซึ่งสูง 43 เมตร และมีเส้นรอบวงของต้นยาว 58 เมตร ต้นไม้ที่มีรูปร่างคล้ายปีศาจในป่าออสเตรเลีย เพราะมีรูปคล้ายต้นไม้ในภาพยนตร์เรื่อง Lord of the Rings ที่ประพันธ์โดย Tolkien


ในรายงานของ Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) ของสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่จะต้องรายงานสถานภาพของระบบนิเวศทั่วโลกทุกปี ได้รายงานว่า ภายในปี 2050 สัตว์และพืชจำนวนนับล้านสปีชีส์จะสูญพันธุ์ เพราะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์กระทำ และความรวดเร็วในการสูญพันธุ์ ณ เวลาปัจจุบันนี้ก็ยังสูงกว่าในอดีต เมื่อหลายล้านปีก่อนเป็นหมื่นเท่า ดังนั้นถ้าไม่มีเทคโนโลยีคุ้มครองป่าอย่างมีสมรรถภาพ ความรวดเร็วในการสูญพันธุ์ของต้นไม้ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ปัจจุบัน 75% ของพื้นดินและ 66% ของพื้นน้ำ ได้ถูกมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยการทำเกษตรกรรม การรวบรวมรายงานร่วม 15,000 ฉบับ ที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จำนวน 132 ประเทศ ได้เสนอข้อมูลว่า ความสูญเสียความหลากหลายทางด้านชีวภาพ กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะทำให้สิ่งมีชีวิตประมาณ 5% ของ สปีชีส์ทั้งหมด มีโอกาสจะสูญพันธ์ เมื่ออุณภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม

ดังนั้นวิกฤตการณ์ด้านความหลากหลายทางชีววิทยาจึงความสำคัญพอ ๆ กับวิกฤตการณ์โลกร้อน

อ่านเพิ่มเติมจาก
“Remarkable Trees of the World” โดย Thomas Pakenham จัดพิมพ์โดย Orion Pub Co. ปี 2002


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น