สกสว. และ คณะผู้แทนสำนักงบประมาณ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของกองทุน ววน. งานวิจัยสำคัญของประเทศ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในมิติ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม คณะผู้แทนสำนักงบประมาณ และคณะผู้แทนหน่วยบริหารจัดการทุน นำโดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลฯ และ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ร่วมลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดําเนินงานของโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อาทิ โครงการ ครูช่าง สล่าศิลป์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่ โครงการ "มีดี" พลังเกษียณ สร้างชาติ : นวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของธุรกิจสปาและการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ด้วยแนวคิด BCG Economy การวิจัยด้านกัญชงและกัญชา ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ และการอนุรักษ์พันธุ์พืชในสภาพนอกถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของประเทศไทย เป็นต้น
โอกาสนี้ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมการวิจัย มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้วางกรอบในการดำเนินการ ในด้าน ววน. ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (advanced therapy medicinal products: ATMPs) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (innovation-driven enterprises: IDEs) การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน functional ingredients, functional food และ novel food 2) การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพึ่งพาตนเองและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น การพัฒนาผู้สูงอายุในชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม 3) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (earth space technology) โดยสามารถสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทย และ 4) การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกำลังคนระดับสูง (hub of talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (hub of knowledge) ของอาเซียน และจากการรับฟังสรุปการดำเนินงาน ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ พบว่า มีหลายโครงการที่สามารถพัฒนาต่อยอด และนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศได้
ด้าน รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ มีหน้าที่ในการจัดทำแผนด้าน ววน. เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติ แผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า ที่ก้าวหน้าล้ำยุค และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นอกจากการจัดทำแผนด้าน ววน. แล้ว สกสว. ยังมีหน้าที่จัดทำกรอบและบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) และ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) ที่มีการระบุผลผลิต ผลลัพธ์ที่จะส่งมอบอย่างชัดเจน อีกทั้งมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยมีคำรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุมัติงบประมาณ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือที่ในการกำกับติดตามประเมินผลการจัดสรรงบประมาณ
สำหรับการติดตามการดดำเนินงานของโครงการภายใต้กองทุน ววน. พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ทาง สกสว. ได้ร่วมตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยในพื้นที่ร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อร่วมรับฟังผลการดำเนินงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกลไกการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคการศึกษา และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ