ในเทพนิยาย “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” (One Thousand and One Nights) ซึ่งเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอาหรับ และในคัมภีร์กุรอ่านของชาวมุสลิม ต่างก็กล่าวถึงเมือง Ubar ว่า เคยตั้งอยู่ในอาณาจักรอาหรับโบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อน และเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเป็นศูนย์กลางการค้ากำยาน อันเป็นยางไม้ที่มีกลิ่นหอม จึงเป็นที่นิยมใช้ในพิธีบวงสรวงทางศาสนาและพิธีศพ ตลอดจนถึงการใช้เป็นยาอายุวัฒนะด้วย การมีสรรพประโยชน์เช่นนี้ จึงทำให้กำยานมีคุณค่ามากประดุจทองคำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันมากในบริเวณเทือกเขา Al Qarah ของ Saudi Arabia และแม้แต่คัมภีร์ไบเบิลก็ยังกล่าวถึงปราชญ์จากเมือง Ubar ว่า ได้นำกำยานไปถวายเป็นของขวัญแด่ทารกเยซู เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ๆ
ประวัติศาสตร์อาหรับยังได้จารึกอีกว่า Ubar เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทางการค้าของชนชาติต่างๆ ในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ประชากรแห่งเมือง Ubar จึงมีฐานะร่ำรวย แต่ในเวลาต่อมา พฤติกรรมของชาวเมืองตลอดจนถึงเจ้าเมืองได้เสื่อมลงมาก ความต่ำทรามของผู้คนในลักษณะนี้ได้ทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงพิโรธ จึงทรงบันดาลให้พายุทะเลทรายพัดถล่มเมือง จนหายสาบสูญไปอย่างที่ไม่มีใครได้พบเห็นเมืองอีกเลย
เรื่องเล่าขานนี้ได้จุดประกายให้บรรดานักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักผจญภัยทั้งหลายพยายามค้นหานครAtlantis แห่งทะเลทราย ตลอดไปจนถึง Thomas E. Lawrence (1888–1935) หรือLawrence แห่งอาราเบีย ซึ่งเป็นนายทหารอังกฤษที่สนใจโบราณคดีก็ได้พยายามเสาะแสวงหาเมือง Ubar เช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
จนกระทั่งถึงปี 1992 เมื่อ NASA ใช้ดาวเทียม Landsat ถ่ายภาพระยะไกล ด้วยคลื่นเรดาร์ และรังสีต่างๆ ที่มีความยาวคลื่นหลากหลายวิเคราะห์ตรวจเหนือพื้นที่ๆ ต้องสงสัยอย่างละเอียดว่า มีซากปรักหักพังของเมืองUbar ฝังอยู่ ใกล้เมืองAsh Sharqiyah ที่อยู่ทางเหนือของประเทศ Oman บนคาบสมุทรArabia และได้เห็นกองหินปรักหักพัง รวมทั้งป้อมปราการ ฯลฯ การวิเคราะห์คลื่นสะท้อนจากพื้นที่ ๆ ไม่ราบเรียบ และจากวัสดุต่างๆ ที่ฝังอยู่ไม่ลึกใต้พื้นทราย ตามโครงการGround Penetrating Radar (GPR) ของNASA ได้ชี้นำให้นักโบราณคดีไปขุดค้น“บริเวณว่างเปล่า” (Empty Quarter) นั้นทันที
หัวหน้าคณะสำรวจครั้งนั้น คือ Nicholas Clapp (1936-ปัจจุบัน) ซึ่งได้พบความจริงว่า บุคคลที่ทำลายเมือง Ubar จนสาบสูญมิใช่พระเจ้า แต่เป็นเหตุการณ์ปฐพีทรุดอย่างมโหฬาร เพราะกษัตริย์ Shaddad ibn Aad ได้ทรงสร้างพระราชวังเหนือเพดานถ้ำหินปูน น้ำหนักที่มากมหาศาลของสิ่งก่อสร้าง เช่น บ้านเรือน ได้ทำให้เพดานถ้ำทรุดถล่มลงเป็นหลุมใหญ่ฝังผู้คนทั้งเมืองและทั้งเป็น ความเชื่อในคำสาปและอภินิหารต่าง ๆ ได้ขับไล่ผู้คนให้ทอดทิ้งเมืองไปตั้งแต่นั้นมา
Clapp ยังได้พบอีกว่า ที่ใกล้เมือง Ubar มีหมู่บ้านของมนุษย์ยุคหินใหม่ที่มีอายุมากกว่า 8,000 ปีด้วย และเมืองนี้เคยมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่สายน้ำได้แห้งขอดไป การมีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ในอดีตนี้ ได้ช่วยให้กองคาราวานอูฐนับพันได้แวะพักดื่มน้ำ หลังจากที่ได้เดินทางข้ามทะเลทรายมาเป็นระยะทางไกลจนถึงแหล่งน้ำกลางทะเลทราย (oasis) ชื่อ Shisr และมีเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ที่มุ่งสู่เมือง Ubar เพื่อไปสู่อาณาจักร Sumer ที่มีเมือง Damascus และ Jerusalem
Clapp เล่าว่า เขาได้รับแรงดลใจในการค้นหาเมือง Ubar ที่สาบสูญจากการได้อ่านบทประพันธ์แนวผจญภัยเรื่อง Arabia Felix โดย Bertram Thomas (1892–1950) ซึ่งเป็นนักผจญภัยและนักการทูตชาวอังกฤษที่ได้เขียนเกี่ยวกับเมือง Ubar
แต่ความพยายามของ Clapp ในครั้งนี้ ได้ผลดีกว่าความพยายามของ Thomas และ T. E. Lawrence เพราะ Clapp มี NASA ช่วย โดยได้เสนอโครงการค้นหาเมือง Ubar ไปที่ NASA ให้ใช้กระสวยอวกาศชื่อ Challenger ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล ค้นหาวัตถุที่ฝังอยู่ใต้ดินและใต้ทราย
หลังจากที่โครงการได้รับอนุมัติ Clapp ก็ได้เดินทางไปที่ Oman ในปี 1991 เพื่อสำรวจสถานที่ต้องสงสัย 35 แห่ง ตามที่ปรากฏในภาพถ่ายระยะไกล และพบว่าที่ oasis ชื่อ Shisr เป็นสถานที่มีแววว่า เคยเป็นที่ตั้งของเมือง Ubar เพราะชาวบ้านในแถบนั้น ได้บอก Clapp ว่า มีป้อมโบราณที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อน ด้วยการใช้ก้อนหินปูนจำนวนมาก และชาวบ้านได้ขุดเอาก้อนหินในบริเวณนั้นมาสร้างป้อม Clapp จึงระดมคนงาน 40 คน ไปขุดดินและทรายที่หนักประมาณ 2,000 ตัน ออกจากพื้นที่ และได้พบหลักฐานมากมายที่บ่งบอกประวัติความเป็นมาของเมือง Ubar
เช่น ชาวอาหรับในสมัยนั้นไม่มีบ้านอยู่ แต่นิยมอยู่ในเต็นท์ที่เปิดให้ลมพัดถ่ายเทเข้า-ออกได้อย่างสะดวก ทุกเต็นท์จะมีเตาหุงหาอาหาร เมืองมีป้อมปราการและกำแพงเมือง 8 ด้าน ตัวกำแพงสูง 3-4 เมตร หนา 60 เซนติเมตร และยาวด้านละ 20 เมตร ที่มุมกำแพงทั้ง 8 มีหอคอยสูง 10 เมตร และหอคอยมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 3 เมตร Clapp ยังได้พบซากแตกหักของวัตถุพวกเครื่องปั้นดินเผาด้วย โดยเฉพาะเตาที่เผากำยาน รวมทั้งได้พบกระดูกหนูและกระดูกอูฐที่ล้มตายขณะเมืองทรุดถล่ม เมื่อประมาณปี ค.ศ. 100-200
อัฟกานิสถานเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะประเทศนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างอาณาจักร Safavid ของอิหร่านที่มีเมือง Isfahan เป็นศูนย์กลางกับอาณาจักร Mughal ของอินเดียที่มีเมือง Agra เป็นเมืองหลวง
ในปี 2014 Gil Stein (1956-ปัจจุบัน) นักโบราณคดีชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัย Chicago ในสหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการ Afghan Heritage Mapping Partnership (AHMP) กับมหาวิทยาลัย Kabul ให้ใช้ดาวเทียมพาณิชย์ ดาวเทียมจารกรรม และโดรน (drone) ถ่ายภาพระยะไกลของพื้นที่ทั้งประเทศอย่างละเอียด และได้พบว่า บนเส้นทางสายไหมที่ตัดผ่านประเทศอัฟกานิสถานนี้ เคยมีกองคาราวานอูฐนับพันที่ขนผ้าไหม เครื่องเทศ อัญมณี กำยาน เครื่องปั้นดินเผา อาหารแห้ง ฯลฯ จากจีนไปขายในยุโรป และนำความรู้ด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ เครื่องแก้ว ฯลฯ จากยุโรปไปจีน ความคับคั่งของการคมนาคมได้ทำให้ผู้ครองอาณาจักรอัฟกานิสถาน จำเป็นต้องสร้างที่พักแรมกลางทาง ตลอดการเดินทาง โดยให้สถานพักแรมแต่ละแห่งตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 20 กิโลเมตร และเป็นอาคารที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เท่าสนามฟุตบอล โดยที่บริเวณตรงกลางเป็นที่ว่างเปล่า ภาพถ่ายทางอากาศยังแสดงให้เห็นซากอาคารทั้งหมดประมาณ 120 หลัง ว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,000 ปีก่อน ตัวอาคารมีผนังที่ทำด้วยดินโคลน ลักษณะของโครงสร้างแสดงให้เห็นความรู้ และความสามารถในการออกแบบ และการวางแผนของอาคาร เพื่อให้พ่อค้า นักเดินทาง ปลอดภัยจากการถูกสลัดทะเลทรายทำร้าย และสินค้าปลอดภัยจากการถูกโจมตี และปล้นกลางทาง
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ ยังแสดงให้รู้อีกว่า อาณาจักร Safavid ที่นักประวัติศาสตร์เคยเชื่อว่ากำลังจะล่มสลายในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะกองคาราวานอูฐก็ยังใช้เส้นทางสายนี้อยู่ จนกระทั่งถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17
ส่วนที่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศ Afghanistan ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนของ Uzbekistan นั้น ก็มีแหล่งน้ำกลางทะเลทราย (oasis) ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Balkh ที่เคยมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่แม่น้ำได้เปลี่ยนเส้นทางการไหลแล้ว ดังนั้นชาวบ้านที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้นจึงต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไป การวัดอายุวัตถุโบราณที่ขุดพบและความรู้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้จากการไหลของน้ำ ได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรในประเทศ Afghanistan เคยอยู่กันอย่างหนาแน่นมากกว่าที่นักประวัติศาสตร์เคยรู้มาในอดีต
ภาพถ่ายระยะไกลยังชี้ให้เห็นอีกว่า ประเทศนี้ในอดีตยังมีสถานที่ “น่าสนใจ” อีกกว่า 200 แห่ง จึงเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมากในสมัยของอาณาจักร Parthian (247 ปีก่อนคริสตกาลถึงค.ศ. 324) เพราะได้พบสถูปเจดีย์ และศาสนสถานของชาว Zoroastrian หลายแห่ง และได้พบแผ่นหินที่มีอักษรจารึกเป็นภาษากรีกและภาษา Aramaic มากมาย Stein จึงได้รวบรวมหลักฐานเหล่านี้ส่งมอบให้สถาบันโบราณคดีแห่ง Afghanistan (Afghan Institute of Archaeology) ที่เมือง Kabul เก็บสะสมไว้ เพื่อให้จัดสร้างระบบฐานข้อมูลทางโบราณคดีของชาติให้คงอยู่ยั่งยืน ก่อนที่วัตถุโบราณเหล่านี้จะถูกทำลายไป โดยโจรอารยธรรม เหมือนดังที่พระพุทธรูปหิน Bamiyan ซึ่งได้ถูกนักรบ Taliban ระเบิดทำลายไปเมื่อปี 2001
การขุดค้นทางโบราณคดีที่เมือง Mes Aynak ในอัฟกานิสถานก็ให้ข้อมูลว่า วัดวาอารามเคยเป็นศูนย์กลางของการทำเกษตรกรรม การขุดหาแร่ และเป็นสถานที่ให้พ่อค้าวาณิช และนักจารึกแสวงบุญเดินทางมาพักผ่อนและสวดมนต์ด้วย วัดในสมัยนั้นจึงเป็นสถานที่ให้ทั้งอาหาร สถานพยาบาล และมิตรภาพแก่ผู้มาเยือน
สำหรับที่ปากีสถานนั้น ก็มีการขุดพบพระพุทธรูป “นอน” ที่มีอายุมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2015 โดย Abdul Samad ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านโบราณคดีของเมือง Khyber Pakhtunkhwa ได้รับความร่วมมือในการค้นหาโบราณวัตถุที่อยู่ใต้ดินจากคณะนักสำรวจในสังกัดมหาวิทยาลัย Wisconsin ที่ Madison ในสหรัฐอเมริกา
ในวันที่พบพระพุทธรูปนอนนั้น Samad คิดว่าจอบของเขา ขณะขุดได้สัมผัสก้อนหินใหญ่ที่บริเวณเมือง Bhamala Stupa ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมือง Islamabad แต่เมื่อขุดไป ๆ ก็ได้พบพระพุทธรูปนอนที่มีความยาวถึง 15 เมตร
เท่านั้นยังไม่พอ การวัดอายุของซากไม้ที่ทับถมบนพระพุทธรูปได้แสดงให้เห็นว่า ไม้มีอายุร่วม 2,000 ปี (คือ ตั้งแต่ค.ศ. 240-390) ข้อมูลนี้จึงแสดงว่า การสร้างพระพุทธรูปได้เกิดขึ้นในดินแดนชมพูทวีปมาเป็นเวลานานมากแล้ว
ขนาดของพระพุทธรูปก็แสดงให้เห็นว่า ผู้สร้างจะต้องเป็นคนที่มีฐานะดีและมีอำนาจ เขาจึงสามารถระดมเงินสร้างพระพุทธรูปได้ใหญ่ขนาดนั้น ขนาดใหญ่ของพระพุทธรูป จึงแสดงให้เห็นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนา การเมือง และการปกครองในเวลานั้นว่าเป็นไปอย่างใกล้ชิด เพราะตามพระวรกายของพระพุทธรูปมีซากของแผ่นทองคำเปลวติดอยู่
ด้านพระพุทธรูป “ยืน” ที่หุบผา Bamiyan ใน Afghanistan ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักโบราณท่ายืนที่สูงที่สุดในโลก คือ สูงประมาณ 60 เมตร นั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 นั่นแสดงว่า พระพุทธรูปนอนที่ Bhamala Stupa มีอายุมากกว่าประมาณ 400 ปี
คำถามที่นักประวัติศาสตร์สนใจใคร่จะรู้คำตอบ คือ ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการมีอำนาจทางทหารได้มีส่วนในการเผยแพร่พุทธศาสนาอย่างไร เพราะตำราหรือวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ในสมัยเมื่อ 2,000 ปีก่อน เป็นของหายาก คือ แทบไม่มีปรากฏ
ข้อมูลโบราณที่อายุมากที่สุดได้กล่าวถึง อาณาจักรกุษาณะ (Kushan Empire) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียว่า เป็นสังคมของชาวเอเชียกลางที่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุดหรู เช่น ดื่มเบียร์จากแก้วที่ทำในอียิปต์ สวมผ้าไหมที่ทอในจีน สนทนากันเป็นภาษากรีก และมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำอาณาจักร
แต่เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3 อาณาจักร Kushan ก็เริ่มแตกสลาย เพราะถูกชนชาวฮั่นที่นับถือศาสนาฮินดูและลัทธิ Zoroastrianism รุกราน นักรบฮั่นได้ทำลายวัดวาอาราม นับร้อยแห่งจนวอดวาย ทำให้การเผยแพร่พุทธศาสนาต้องหยุดชะงัก นั่นคือความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ทุกคนมี ก่อนที่จะมีการพบพระพุทธรูปนอนที่ Bhamala Stupa แต่หลักฐานที่พบได้แสดงว่า ชนชาวฮั่นก็ยังสนับสนุนพุทธศาสนาอยู่เช่นกัน
กระนั้นการสรุปผลเช่นนี้ ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายโดยปราศจากข้อสังเกต เพราะนักวิชาการหลายคนยังไม่ไว้วางใจในความแม่นยำของเทคโนโลยีคาร์บอน-14 (C-14) ที่ใช้วัดอายุของวัตถุโบราณ เพราะไม้ที่นำมาวัดอายุ อาจจะเป็นชิ้นไม้ที่ได้รับอะตอมกัมมันตรังสีของคาร์บอนมาเป็นเวลานานก่อนที่ต้นไม้จะถูกโค่น หรือไม้ที่ใช้วัดอายุอาจจะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กที่มีอายุน้อยก็เป็นได้
แต่ Samad ก็ยังยืนยันว่าพระพุทธรูปนอนที่ Bhamala Stupa เป็นของจริง และเขาคิดว่าดินแดนนี้จะเป็นศูนย์การศึกษาทางพุทธศาสนาในปัจจุบัน ในทำนองเดียวกับที่ได้เคยเป็นเมื่อ 2,000 ปีก่อน
คำถามอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเข้ามามีบทบาทมากเพียงใดในการวิจัยด้านโบราณคดีในอนาคต ที่มุ่งหาฟอสซิลหรือโบราณวัตถุที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน
ในอดีตนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยามักใช้พลั่วหรือจอบขุดดิน แล้วใช้สายตาที่แหลมคม “เห็น” ความผิดปกติที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นกระดูก เศษกระเบื้อง หรือฟอสซิลสัตว์/พืชที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว
แต่ในอนาคต นักโบราณคดีจะใช้ software AI ตรวจภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์สถานที่ต่าง ๆ ที่เขาสงสัยว่าน่าจะมีวัตถุใต้ดินที่น่าสนใจแอบแฝงอยู่ โดยนักโบราณคดีจะใช้ระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ที่เรียกว่า neural network ค้นหาฟอสซิลและวัตถุใต้ดิน โดยการเขียน software ให้รู้วิธีค้นหาก่อน ด้วยการใช้สถานที่ ๆ เคยมีฟอสซิลและวัตถุใต้ดินมาป้อนข้อมูลให้ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เช่น Landsat ซึ่งได้บันทึกไว้ โดยใช้แสงที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ ตั้งแต่รังสีอินฟราเรดจนถึงรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จนกระทั่ง machine learning สามารถจะบอกได้ว่าดินชนิดใด ณ ที่ใด มีโอกาสจะพบฟอสซิลและวัตถุใต้ดินที่น่าสนใจได้มากที่สุด สำหรับในกรณีของฟอสซิลนั้น ชั้นดินที่ต้องสงสัยจะต้องมีอายุมากถึง 50 ล้านปี เพื่อจะทำให้โอกาสการพบ primate ดึกดำบรรพ์เป็นไปได้สูง
ความสามารถของ software ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมากถึง 80% แล้ว
สำหรับประเทศที่ยังไม่มีดาวเทียมสำรวจทางโบราณคดี การใช้เครื่องบินให้บินที่ระยะสูง 1.5 กิโลเมตร เพื่อถ่ายภาพ ก็สามารถทำงานได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่นักโบราณคดีปัจจุบันทุกคนคงจะยินดี
อ่านเพิ่มเติมจาก “Satellites trace Afghanistan's lost empires” โดย Andrew Lawler ใน Science ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2017
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์