สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ PTEC สวทช. พร้อมด้วยทีมวิศวกรและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน เปิดบ้านให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์พิเศษ ประเด็น EV ปลอดภัย ต้องใส่ใจมาตรฐานการทดสอบสากล ในกิจกรรม NSTDA Meets the Press พร้อมเข้าเยี่ยมชมมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบด้านยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าทั้งคันด้านการทดสอบ EMC /การทดสอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้า EV Charger เยี่ยมชมการทดสอบด้านความปลอดภัยและการขนส่งแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และ เยี่ยมชมการทดสอบด้านประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า
ดร.ไกรสร กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC สวทช. ให้บริการทดสอบ สอบเทียบสนับสนุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 ให้ได้การรับรองผลิตภัณฑ์ในระดับสากลโดยบุคลากรมืออาชีพ
ซึ่งปัจจุบัน PTEC ให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ลิเธี่ยมสำหรับยานยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามมาตรฐานสากลเพื่อใช้งานในประเทศ ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และทดสอบตามความต้องการเฉพาะของค่ายยานยนต์ต่างๆ ทั้งเพื่อการทำ R&D ในบริษัทผู้ผลิตหรือพัฒนายานยนต์รุ่นใหม่ ๆ
จากนโนบายยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งมีการออกมาตรการส่งเสริมออกมาหลายส่วน จึงทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในปี 2566 มียอดสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริดมากกว่า 10,000 คัน ถือเป็นประเทศต้น ๆ ในอาเซียนที่มีอัตราการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาก
และเนื่องจากการเลือกซื้อและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากผู้บริโภคจะให้ความสนใจในเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก การประหยัดค่าน้ำมันแล้ว ผู้บริโภคควรคำนึงถึงด้านความปลอดภัยด้วย และไม่ใช่แค่ยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นแต่ต้องรวมไปถึงหัวชาร์จไฟฟ้า ทั้งติดตั้งในบ้าน และในพื้นที่ให้บริการอื่น ๆ อีกด้วย โดยวิธีการที่จะใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ปลอดภัย ต้องดูที่ชิ้นส่วนและยานยนต์ไฟฟ้าว่าผ่านมาตรฐานการทดสอบสากลมาแล้วหรือไม่
โดย PTEC ได้ให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเภท ตั้งแต่ แบตเตอรี่ลิเธียม ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ระบบไฟส่องสว่าง หัวชาร์จ ไปจนถึงการทดสอบ EMC สำหรับยานยนต์ทั้งคัน โดยใช้มาตรฐานสากลและมาตรฐาน มอก. เป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้บริการทดสอบเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะแก่ค่ายยานยนต์ที่ตั้งโรงงานประกอบในประเทศและมีมาตรฐานชิ้นส่วนของตนเอง เพื่อให้สามารถส่งชิ้นส่วนไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา สำหรับกลุ่มชิ้นส่วนที่ PTEC ให้บริการทดสอบ ได้แก่
แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าทางด้านความปลอดภัย และเพื่อการขนส่งตามข้อกำหนดของสหประชาชาติ(UN)
ในด้านความปลอดภัยแบตเตอรี่ PTEC ให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ลิเธียมได้ทั้ง 3 ขนาดคือ แบตเตอรี่เซลล์ แบตเตอรี่โมดูล และแบตเตอรี่แพ็ค โดยใช้มาตรฐานสากลในการทดสอบ เช่น UN R136 สำหรับมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า และ UN R100 สำหรับยานยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งตามมาตรฐานนี้ต้องมีการทดสอบหลายหัวข้อ เช่น การป้องกันการลัดวงจรไฟฟ้า การทนต่ออุณหภูมิสูง การสั่น การตกกระแทก การบีบอัดจากการชน การเผาไฟ การจมน้ำ การอัดประจุฟ้าเกิน การคายประจุไฟฟ้าเกิน เป็นต้น
ในด้านประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ PTEC ให้บริการทดสอบด้านการชาร์จ/การดิสชาร์จแบตเตอรี่ ขณะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น โดยในส่วนนี้ PTEC สามารถทำการทดสอบแบตเตอรี่ลิเธียมขนาด กำลังไฟฟ้า 1MW ได้เป็นแห่งแรกในอาเซียน
ในส่วนของการขนส่งแบตเตอรี่บนท้องถนน ขนส่งทางเรือ ทางเครื่องบิน แบตเตอรี่ต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน UN 38.3 ก่อน เนื่องจากตามข้อกำหนดสากลแบตเตอรี่ถือเป็นวัตถุอันตรายควบคุม คล้ายกับการขนส่งน้ำมัน และแก๊สไวไฟ ดังนั้นหากมีอุบัติเหตุขณะขนส่ง อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไปได้ สำหรับการทดสอบในการขนส่ง เช่น การทดสอบการตก การสั่น การลัดวงจร อุณหภูมิ ความกดอากาศ เป็นต้น
ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการส่งออก
สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ ที่ PTEC ให้บริการทดสอบ มีตั้งแต่ ไฟในห้องโดยสารยานยนต์ ไฟหน้า/ไฟท้าย วิทยุเอ็นเตอร์เทรนเม้นต์ ระบบนำร่อง ระบบ ECU ระบบเรดาห์ สายอากาศ โดยส่วนนี้ PTEC ใช้มาตรฐาน UN R10 มาตรฐาน ISO CISPR IEC ในการทดสอบ และมีเครื่องมือในการทดสอบขนาดใหญ่รองรับการทดสอบ EMC สำหรับยานยนต์ทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็น รถเก๋ง รถปิ๊กอัฟ รถ SUV รถตู้ รถบัส หัวลากรถบรรทุก ด้วย นอกจากนี้ยังมี Dynamo meter สำหรับใช้จำลองสภาวะการขับขี่บนถนนเรียบ ทางตรง ทางโค้ง การไต่ระดับความสูง การลงทางลาด จำลองการขับเคลื่อนได้ทั้งแบบ 2 wheels drive และ 4 wheels drive และการวัดเสียงจากการขับขี่ยานยนต์ทั้งภายในและภายนอกห้องโดยสารด้วย
สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หนุน EV Ecosystem แบบครบวงจรในไทย
ในส่วนของสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า PTEC ให้บริการทดสอบหัวชาร์จแบบ AC normal charge ที่นิยมติดในบ้านและในห้างสรรพสินค้า และหัวชาร์จแบบ DC quick charge ที่ติดตั้งในปั๊มน้ำมัน โดย PTEC สามารถให้บริการทดสอบหัวชาร์จขนาด 150kW ได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนขยายขีดความสามารถในการทดสอบขึ้นเป็น 250kW ในปี 2566 ด้วย โดยจะเป็นห้องทดสอบที่มีขีดความสามารถในการทดสอบด้านหัวชาร์จใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และยังสามารถรองรับการทดสอบยานยนต์ที่ป้อนไฟฟ้าแบตเตอรี่ในรถเข้าสู่สายส่งไฟฟ้า ที่เรียกว่า Vehicle to Grid (V2G) ได้ในปีหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการทดสอบต่าง ๆ ที่กล่าวมา ถูกใช้เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือกและควบคุมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เพื่อส่งถึงมือผู้บริโภค แต่การนำยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ไปใช้งาน ผู้บริโภคควรมีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วย เพื่อทำให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง คุ้มค่าและเสียค่าซ่อมบำรุงต่ำ
ข้อควรรู้ของผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV
สำหรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการ PTEC สวทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
1. ข้อควรรู้ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในสถานการณ์ฝนตก-น้ำท่วมขังถนนเนื่องจากการออกแบบและติดตั้งแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตทุกรายได้ทำการติดตั้งแบตเตอรี่อยู่ใต้ที่นั่งผู้ขับขี่เพื่อให้มีพื้นที่ในห้องโดยสารกว้าง แต่ประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมีน้ำขังบนถนนในระดับสูง บางครั้งสูงถึงครึ่งคันรถ ดังนั้นการขับผ่านน้ำบ่อยๆ การจอดยานยนต์ไฟฟ้าแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือการใช้งานรถเป็นเวลานาน ๆ หลายปี ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจสอบเรื่องน้ำ ความชื้น และการเสียหายภายใต้ท้องรถให้บ่อยขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีน้ำรั่วเข้าสู่แบตเตอรี่ได้ นอกจากนี้การขับรถข้ามผ่านหลังเต่าที่สูง ๆ การจอดรถคร่อมฟุตบาทและมีการกระแทกใต้ท้องรถอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยไม่ได้สังเกตจึงควรระมัดระวังให้มาก
2. ข้อควรระวัง การติดตั้งชาร์จเจอร์ ใช้ในบ้านที่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับผู้ที่ติดตั้งหัวชาร์จที่บ้าน ควรตรวจสอบขนาดสายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับกระแสไฟฟ้าที่จะชาร์จรถ ไม่ควรใช้สายไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานนาน เช่น สายหุ้มเปราะหรือแตกหัก หากกระแสไฟฟ้าเสี่ยงไม่เพียงพอก็ไม่ควรพ่วงต่อสายไฟฟ้าในบ้านเข้าสู่หัวชาร์จโดยตรง ทั้งนี้แนะนำว่าก่อนการติดตั้งควรให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องการติดตั้งหัวชาร์จ ช่วยทำการประเมินด้านความปลอดภัยทางไฟฟ้าเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานออกข้อแนะนำในการติดตั้งมาให้แล้ว เช่น การไฟฟ้านครหลวง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นต้น และควรแยกประเภทหัวชาร์จให้ถูกต้องด้วยว่าแบบใดเหมาะที่จะติดตั้งในบ้าน แบบใดติดตั้งนอกอาคาร เพราะหัวชาร์จแต่ละประเภทมีความสามารถในการต้านทานอุณหภูมิ น้ำฝน ฝุ่นแตกต่างกัน
นอกจากนี้ PTEC ยังได้รับการขึ้นทะเบียนจาก ASEAN SECTORAL MRA ON ELECTRICAL AND ELECTRONIC EQUIPMENT (ASEAN EE MRA) เมื่อเดือนกันยายน ปี 2561 ที่ผ่านมา ให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของภายใต้ข้อตกลงการค้าอาเซียน โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนให้การยอมรับมากถึง 7 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังได้รับการยอมรับให้เป็นห้องปฏิบัติการการทดสอบ EMC สำหรับการนำสินค้าเข้าสู่ประเทศเวียดนาม จากหน่วยงาน QUACERT ซึ่งเป็นเสมือน สมอ.ของประเทศเวียดนาม อีกด้วย
สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ PTEC ได้ลงนามความร่วมมือกับ SGS ประเทศฟินแลนด์ เพื่อทำให้ชิ้นส่วนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ สามารถทดสอบ EMC ได้ในประเทศไทย เราสามารถเข้าตรวจโรงงานผลิตได้และ PTEC จะนำผลการทดสอบและการตรวจโรงงานเพื่อขอเครื่องหมาย E mark จากกรมขนส่งทางบกของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองยานยนต์สากล ทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถส่งผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ไปจำหน่ายในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้อีกด้วย