xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ฯ เผย แมลงสาบวิวัฒนาการไปอีกขั้น ไม่กินหวาน แถมมีเทคนิคใหม่จับคู่ผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงแต่มนุษย์ที่สามารถวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดได้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้มีการเผยข้อมูลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (NCSU) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสาร Proceedings of the Royal Society B ว่า ปัจจุบันมีแมลงสาบจำนวนหนึ่งที่มีวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด ด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะไม่กินอาหารรสหวาน ที่ส่วนมากมนุษย์จะใช้เป็นเหยื่อล่ออีกต่อไป

แมลงสาบที่มียีนกลายพันธุ์ใหม่นี้ จะมีประสาทสัมผัสที่รับรสหวาน กลับกลายเป็นรสขม เมื่อมันลิ้มลองอาหารรสหวาน หรือเหยื่อล่อรสหวาน วิวัฒนาการก้าวไปอีกขั้นในเรื่องนี้ ยังส่งผลให้ของพฤติกรรมทางเพศของแมลงสาบสามารถแพร่พันธุ์ได้ดีกว่าแมลงสาบที่มีพันธุกรรมแบบดั้งเดิม

“แมลงสาบตัวผู้ที่ไม่ติดรสหวาน สามารถหลอกล่อตัวเมียที่มีรสนิยมแบบเดียวกันด้วยของเหลวชนิดพิเศษ พร้อมทั้งจู่โจมอย่างรวดเร็ว จนมีโอกาสผสมพันธุ์ได้สำเร็จมากกว่าแมลงสาบที่ยังกินน้ำตาลกลูโคสอยู่หลายเท่า”


ตามปกติแล้วแมลงสาบตัวผู้จะหลั่งของเหลวรสหวานจากต่อมใต้ปีกเอาไว้บนหลัง เพื่อล่อให้ตัวเมียเข้ามาลิ้มลองและจะฉวยโอกาสนี้ผสมพันธุ์ทันที ซึ่งการจับคู่บรรเลงเพลงรักอาจดำเนินไปได้นานถึง 90 นาที

การทดลองสังเกตพฤติกรรมของแมลงสาบเยอรมันหลายร้อยตัวที่มียีนกลายพันธุ์ใหม่ ในห้องปฏิบัติการ พบว่าแมลงสาบที่ไม่กินหวานจะจับคู่เฉพาะกับพวกเดียวกันเท่านั้น โดยตัวผู้จะผลิตของเหลวที่ไม่หวานให้เป็นอาหารของตัวเมียด้วย

ของเหลวชนิดพิเศษดังกล่าวคือมอลโทไตรโอส (maltotriose) น้ำตาลที่มีโครงสร้างโมเลกุลซับซ้อน ซึ่งจะสลายตัวกลายเป็นสารให้ความหวานได้ช้ามาก โดยต้องใช้เวลานานถึง 5 นาที กว่าที่เอนไซม์ในน้ำลายของแมลงสาบตัวเมียจะย่อยมันให้เป็นน้ำตาลมอลโทสและสามารถรับรู้ถึงรสชาติที่แท้จริงได้


ด้วยเหตุนี้ แมลงสาบตัวผู้ที่ไม่กินหวานจึงมีโอกาสสูงกว่า ในการจับตัวเมียที่มัวอ้อยอิ่งกินของเหลวบนหลังตัวผู้มาผสมพันธุ์ได้สำเร็จ โดยที่ตัวเมียไม่ผละหนีไปเสียก่อน

แมลงสาบตัวผู้ที่ไม่ติดรสหวานยังจู่โจมตัวเมียอย่างรวดเร็ว โดยสามารถตวัดอวัยวะเพศเข้าในร่างกายของตัวเมียได้ภายในเวลาเพียง 2.2 วินาที หลังจากตัวเมียไต่ขึ้นกินของเหลวบนหลัง ซึ่งนับว่ารวดเร็วกว่าแมลงสาบพวกที่กินน้ำตาล 1.2 วินาที ทำให้แมลงสาบไม่กินหวานประสบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์ถึงกว่า 60% ในขณะที่แมลงสาบอีกพวกมีโอกาสทำได้สำเร็จราว 50% เท่านั้น

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า “ถึงแม้วิวัฒนาการด้านประสาทรับรสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วรุ่น จะทำให้แมลงสาบที่ไม่กินน้ำตาลกลูโคสต้องพบข้อจำกัดในการจับคู่ผสมพันธุ์ แต่พวกมันก็มีการปรับตัวด้านพฤติกรรมทางเพศมาชดเชย จนทำให้ประสบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์ได้ในที่สุด”

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : bbc.com / Science Think


กำลังโหลดความคิดเห็น