แผนงานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. ร่วมสนับสนุนปฏิญญาเกาะเต่า: ความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนและมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการกลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่าการประชุมสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนครั้งแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8 – 9 มิถุนายน 2566 ณ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยความร่วมมือของประชาคมชาวเกาะ จำนวน 21 เกาะ ประกอบด้วย เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะทะลุ เกาะพิทักษ์ เกาะพะลวย เกาะพยาม เกาะภูเก็ต เกาะราชา เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี เกาะปู เกาะจัม เกาะลิบง เกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่า และองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน 23 องค์กร ประกอบด้วย กรมการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า เทศบาลตำบลเกาะเต่า สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย มูลนิธิรักษ์ไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมศึกษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยากรการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยองค์กรสนับสนุน ธนาคารกรุงไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัทเรือเร็วลมพระยา จำกัด และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
หัวข้อของการประชุมฯ คือ การขับเคลื่อนเกาะบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว จากท้องถิ่นสู่สากล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ภายใต้มิติด้านขีดความสามารถทางการแข่งขัน การใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การพัฒนาในแบบบูรณาการ และมิติด้านบุคลากร ซึ่งเผชิญกับความท้าทายร่วมกันหลายประเด็น โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนบนฐานงานวิจัยการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การจัดการของเสียและขยะ การกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมระหว่างภาคเอกชนสู่ชุมชน ความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชนและชุมชนในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน กลไกทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ทางทะเล รวมถึงทักษะที่จำเป็นของบุคคลากรและชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวเกาะ
การประชุมครั้งนี้ได้ประกาศ ปฏิญญาเกาะเต่า: ความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในวันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) วันที่ 8 มิถุนายน 2566 โดยมุ่งหวังที่จะประสานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา/วิจัย องค์กรนานาชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน วิทยาศาสตร์พลเมือง และชุมชนท้องถิ่น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ:
1.จัดทำแผนปฏิบัติการ หรือดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ การท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
2.ดำเนินการตามมาตรฐานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
3.ดำเนินการวัดและเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะ โดยใช้วิธีการและเครื่องมือตามที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และหน่วยงานในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง
4.ดำเนินการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคการท่องเที่ยวเกาะ ซึ่งรวมถึงการขนส่ง สาธารณูปโภค ที่พัก กิจกรรม อาหารและเครื่องดื่ม และการจัดการขยะ ให้เป็นรูปธรรม
5.ดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวเกาะ ตามข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และหน่วยงานในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง
6.สนับสนุนหรือดำเนินโครงการคุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) สำหรับการท่องเที่ยวเกาะ
7.ดำเนินการจัดการขยะและของเสียบนเกาะโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
8.ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเกาะที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
9.ส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะ ทั้งในด้านการแบ่งปันข้อมูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานร่วมกัน การแบ่งปันผลประโยชน์ การคุ้มครองกลุ่มเปราะบางและชุมชนท้องถิ่น
10.ส่งเสริมการดำเนินงานที่สนับสนุนด้านการเงินอย่างยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้สำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดำเนินการจัดเสวนา พัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มเกาะอย่างยั่งยืนบนฐานงานวิจัยการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในงานการประชุมสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ร่วมเวทีเสวนาประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ประธานผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการกลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาการบริหารจัดการร้านอาหารที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาและยกระดับเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในประเทศไทยในรูปแบบองค์กรจัดการจุดหมายปลายทาง สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) และมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาฆมาส สุทธาชีพ หัวหน้าโครงการวิจัยการประเมินผลผลิตก่อนดำเนินการวิจัยของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ดำเนินการเสวนาฯ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะให้มีความยั่งยืน และจำเป็นต้องแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งต้องมีการยกระดับการบริหารจัดการในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวใหม่และการพัฒนาการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายสำหรับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งการดำเนินงานตามมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย