เมื่อประมาณ 120 ปีก่อนนี้ที่ประเทศเยอรมนีมีม้าอาหรับตัวหนึ่งชื่อ Kluger Hans (ซึ่งแปลว่า Hans ผู้ฉลาด) Hans เป็นม้าที่มีชื่อเสียงมาก เพราะสามารถบวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็มต่าง ๆ ได้ แยกตัวประกอบก็ได้ หรือจะให้ทำเลขเศษส่วนก็ได้ด้วย จนเจ้าของซึ่งมีนามว่า Wilhelm von Osten (1838-1909) ได้นำ Hans ไปแสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป เพื่อให้ผู้คนได้ชื่นชม และเจ้าของได้ชื่นใจ เพราะ Hans ทำเงินรายได้มหาศาลให้เจ้าของ
ความสามารถเชิงคณิตศาสตร์ของ Hans ได้เป็นชนวนจุดประกายให้นักชีววิทยา นักจิตวิทยาสัตว์ และนักคณิตศาสตร์หลายคนหันมาสนใจค้นหาสาเหตุที่ทำให้ม้า ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานเก่งเลขยิ่งกว่าคนบางคน นักวิชาการหลายคนจึงได้เข้ามาศึกษาและสังเกตวิธีคิดของ Hans อย่างละเอียด และในที่สุดก็ได้พบความจริงว่าเจ้าของซึ่งมีอาชีพเป็นคนฝึกม้า ได้แอบส่งซิก (signal) ไปชี้นำให้เห็น Hans จึงสามารถตอบคำถามที่เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
เมื่อความจริงถูกเปิดเผยเช่นนี้ ความเชื่อเรื่องการมีความสามารถเชิงคณิตศาสตร์ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ จึงได้ซบเซาลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อันที่จริงมนุษย์เราได้สนใจเรื่องการมีความสามารถด้านสติปัญญาของสัตว์เดรัจฉานมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสามารถพิเศษทางการกีฬา ทางการพูดการสื่อสาร การดำรงชีวิต การล่าเหยื่อ การเกี้ยวพาราสี การสืบพันธุ์ ฯลฯ โดยเริ่มตั้งแต่สมัยของ Aristotle (384–322 ปีก่อนคริสตกาล) และ Erasistratus แห่งเมือง Ceos (304-250 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งได้เฝ้าศึกษาพฤติกรรมต่าง ๆ ของสัตว์หลายชนิดที่มิใช่มนุษย์ แม้แต่ Charles Darwin (1809-1882) นักชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษก็สนใจศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ โดยเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะสัตว์พวก primate เพราะเชื่อว่าสัตว์ primate เท่านั้น ที่ใช้สติปัญญาเหมือนคน เวลาให้คิด สร้างความรู้ และใช้มือประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ
จนกระทั่งถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 วิทยาการด้านพฤติกรรมสัตว์ (ethology) ก็บังเกิด เมื่อ Konrad Lorenz (1903-1989) ซึ่งเป็นนักชีววิทยาชาวออสเตรีย-เยอรมัน ได้ศึกษาความผูกพันระหว่างลูกเป็ดที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่ ๆ กับสิ่งมีชีวิต (คน) ที่ให้การดูแลและปกป้อง จนทำให้มันมีจิตสำนึกที่ประทับในใจของมัน อย่างไม่รู้ลืม
ผลงานนี้ทำให้ Karl von Frisch (1886-1982) ชาวออสเตรีย-เยอรมัน, Konrad Lorenz และ Nikolaas Tinbergen (1907-1988) ชาวเดนมาร์ก ได้รับรางวัลโนเบลสรีรวิทยา และแพทย์ศาสตร์ร่วมกันในปี 1973
การสืบค้นประวัติความเป็นมาของม้าฉลาด Hans ได้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของ Osten มีอาชีพเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ และมีอาชีพไซด์ไลน์เป็นครูฝึกสอนม้า เขาจึงผสมผสานความสามารถทั้งสองด้านของตนมาลงที่ Hans ด้วยการฝึกให้ Hans รู้จักทำโจทย์เลขง่าย ๆ เช่น หาค่าของ 4x3, 12-5, 9÷3 ฯลฯ ตลอดจนฝึก Hans ให้สามารถบอกเวลาได้จากการดูนาฬิกา, อ่านวันที่ของเดือน และสามารถสะกดคำง่าย ๆ ในภาษาเยอรมันก็ได้ด้วย
ตามปกติเวลา Hans เห็นโจทย์คณิตศาสตร์ มันจะใช้กีบเท้าเคาะพื้นเป็นจังหวะ รวมจำนวนครั้งตรงตามคำตอบที่ควรจะเป็น
การมีความสามารถที่อาจจะเทียบได้ว่ามันเป็น Einstein ของฝูงม้านี้ ได้ชักนำให้นักจิตวิทยาสัตว์ชื่อ Carl Stumpf (1848–1936) สนใจเรื่องนี้มาก เพราะเขาต้องการจะหาสาเหตุที่ทำให้ Hans เก่งคณิตศาสตร์ว่า เกิดจากการถูกฝึกฝนโดยเจ้าของ หรือมันเก่งของมันเอง เพราะมีพรสวรรค์
การติดตามสังเกตพฤติกรรมการตอบโจทย์ของ Hans อย่างละเอียดและรอบคอบได้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า เวลาตอบโจทย์คณิตศาสตร์ ถ้ามีเจ้าของที่ชื่อ Osten มายืนอยู่ใกล้ ๆ ให้มันเห็น Hans จะตอบได้ถูกถึง 89% ของโจทย์ทั้งหมด แต่เวลาเจ้าของมายืนอยู่ข้าง ๆ ตัวมัน Hans จะเห็นเจ้าของได้ไม่ชัด ทำให้ตอบได้ถูกประมาณ 6% เท่านั้นเอง นอกจากนี้เวลาเจ้าของไม่รู้คำตอบโจทย์ Hans ก็ตอบคำถามไม่ได้เช่นกัน
อนึ่งขณะ Hans ตอบคำถาม Carl Stumpf (1848-1936) ได้สังเกตเห็นว่า มันจะใช้สายตาจ้องดูเจ้าของ Osten ตลอดเวลา และมันจะเริ่มเคาะกีบเท้าเป็นจังหวะอย่างช้า ๆ ครั้นเมื่อใกล้จะถึงคำตอบที่ใช่ มันก็จะเคาะกีบเท้าเป็นจังหวะ ๆ ถี่ขึ้น และจะหยุดเคาะทันที เมื่อเห็นคำตอบที่ต้องการ ในเวลาเดียวกัน Stumpf ก็ได้เห็นว่า เจ้าของ Osten มักจะเลิกคิ้วขึ้นเล็กน้อย หรือกระพริบตาถี่ เวลาเขาต้องการให้ Hans เคาะกีบเท้าเป็นคำตอบสุดท้ายที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
เหตุการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์ทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่งที่นักจิตวิทยาเรียก“ปรากฏการณ์ Clever Hans” ซึ่งใช้อธิบายพฤติกรรมของสัตว์เวลาคนใกล้ชิด คาดหวังจะให้สัตว์ตัวนั้น ทำกิจกรรมบางอย่างที่เขาต้องการได้
ด้วยเหตุนี้ เวลาใครจะทดสอบความสามารถด้านสติปัญญาของสัตว์ เขาจึงต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์ Clever Hans นี้ด้วย และก็ได้พบว่า เขาสามารถจะรู้ความสามารถที่แท้จริงของสัตว์ได้ โดยไม่ให้สัตว์เห็นเจ้าของ ขณะมันตอบคำถาม แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็อาจจะพบว่า ถ้าสัตว์ไม่เห็นเจ้าของ มันก็อาจจะมีอารมณ์เสีย จนถึงระดับที่ตอบส่งเดชก็ได้ หรือเราอาจจะใช้วิธีให้มันเห็นเจ้าของก็ได้ แต่ถามโจทย์คณิตศาสตร์ที่เจ้าของเองก็ตอบไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คำตอบที่ได้ก็จะเป็นคำตอบที่แสดงความสามารถของสัตว์อย่างแท้จริง
โดยทั่วไปม้ามิได้เป็นสัตว์ที่ “เก่ง” คำนวณ โลกยังมีสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิดที่เก่งเลข เช่น Alex (1976-2007) ซึ่งเป็นนกแก้วแอฟริกันตัวผู้ที่มีขนสีเทา โดยนักจิตวิทยาสัตว์ชื่อ Irene Pepperberg แห่งมหาวิทยาลัย Arizona, Harvard และ Brandeis ในสหรัฐอเมริกาได้พบว่า Alex มีความสามารถในการนับและรู้จักตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 6 และสามารถเชื่อมโยงตัวเลขทั้ง 6 ให้สอดคล้องกับจำนวนชิ้นของวัตถุที่มันเห็นได้ หรือแม้แต่ให้ฟังเสียงนับก็ยังได้ และในบางเวลามันยังสามารถสั่งเจ้าของให้ทำงานรับใช้มันก็ได้ (นกแก้วมีความสามารถในการเลียนเสียงคำพูดคนได้)
นักจิตวิทยาสัตว์ Pepperberg ได้ศึกษา Alex มาเป็นเวลานานถึง 30 ปี และพบว่ามันมีความสามารถทางสติปัญญาเทียบเคียงได้กับ ape ซึ่งเป็นลิงไร้หาง ปลาโลมา และทารกในวัย 5 ขวบ ในส่วนของความสามารถทางคณิตศาสตร์นั้น Alex สามารถบวกและลบเลขที่เป็นโจทย์ง่าย ๆ คือ มีค่าคำตอบน้อยกว่า 6 ได้
ในปี 2009 Kevin C. Burns แห่งมหาวิทยาลัย Victoria ณ เมือง Wellington ใน New Zealand ได้เสนอรายงานการวิจัยในวารสาร Proceedings of the Royal Society ว่า ได้ทดสอบความสามารถในการนับของนกกางเขนยุโรป (robin) โดยได้เจาะรูหลายรูในขอนไม้ แล้วเอาหนอนใส่ในรูเหล่านั้น โดยให้มีจำนวนต่าง ๆ กัน และพบว่านกจะบินกรูไปที่รูที่มีหนอนอยู่มากที่สุด และเมื่อ Burns แอบนำหนอนบางตัวออกจากรู โดยที่นกไม่ทันเห็น เขาก็ได้พบว่าฝูงนกก็ยังใช้สายตาค้นหาหนอนที่หายไปเป็นเวลาอีกนาน เสมือนกับว่ามันมีความสามารถในการนับจำนวนหนอนที่ไม่มาก (คือน้อยกว่า 12 ได้) และรู้ความแตกต่างระหว่างจำนวนต่าง ๆ เช่น 3 กับ 5 หรือ 6 กับ 10
ในปี 2010 Rosa Rugani จากมหาวิทยาลัย Padova และ Trento ใน Italy ได้เสนองานวิจัยในวารสารเดียวกันกับที่ Burns เสนอว่า ลูกไก่ที่เพิ่งถูกฝักออกจากไข่ใหม่ ๆ ก็มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่เกิดเช่นกัน โดยได้จัดให้เหล่าลูกไก่ใช้เวลานาน ในการอยู่ใกล้วัตถุ 5 ชิ้นที่มีรูปทรงเหมือนกันทุกประการ จนมันฝังใจว่าวัตถุทั้ง 5 คือ พ่อและแม่ของพวกมัน และ Rugani ได้พบว่า เวลาดึงวัตถุบางชิ้นออกไป ลูกไก่จะวิ่งกรูกันค้นหาแม่ของมัน (เสมือนว่าวัตถุที่หายไปเป็นแม่) Rugani ยังได้ทดลองเปลี่ยนขนาดของวัตถุทั้ง 5 ชิ้น และพบว่าลูกไก่ไม่ได้พิจารณาประเด็นขนาด แต่สนใจประเด็นจำนวน เวลามันค้นหาแม่
ด้าน Jessica Cantlon แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ทดลองวัดความสามารถของลิงวอก (rhesus monkey) ในการนับด้วยการให้มันได้ยินจำนวนเสียงเป็นครั้ง ๆ ตามจำนวนของวัตถุที่มันเห็น เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการนับกับการได้ยินเสียง และพบว่าลิงวอกบวกและลบเลขเป็น แม้ว่าลิงเหล่านี้จะไม่รู้ความหมายของเลขศูนย์ แต่มันก็รู้ว่าศูนย์มีค่าน้อยกว่าหนึ่งและสอง ซึ่งเธอคิดว่าการมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์เช่นนี้ มีบทบาทในการช่วยให้สัตว์สามารถดำรงชีพได้ดี เพราะช่วยให้มันรู้ว่าบางพื้นที่มีอาหารให้มันบริโภคในปริมาณมากกว่าสถานที่อื่น โดยการนับจำนวนเหยื่อและอาหารที่มันเห็น
ที่มหาวิทยาลัย Kingston ในอังกฤษ Claudia Uller สนใจสัตว์ที่มีโครงสร้างของ DNA แตกต่างห่างไกลจากลิงวอกมากว่า นับเลขเป็นหรือไม่เป็น โดยได้ศึกษาตัว salamander หลังแดง (Plethodon cinereus) ด้วยการให้มันเฝ้าดูหลอดทดลองที่ทำด้วยแก้วใส 2 หลอด และมีแมลงหวี่จำนวนมากบรรจุอยู่ภายในหลอด จนได้พบว่าเวลาหลอดทดลองมีจำนวนแมลงหวี่ที่แตกต่างกันมาก เช่น 8 กับ 16 (แต่ไม่ใช้ 3 กับ 4 หรือ 4 กับ 6) เธอก็ได้พบว่าตัว salamander หลังแดง สามารถบอกความแตกต่างระหว่างตัวเลขมาก ๆ ได้ เช่น 8 กับ 16 แต่บอกความแตกต่างระหว่าง 3 กับ 4 หรือ 4 กับ 6 ได้ค่อนข้างยาก เพราะมันจะเดินกรูไปหาหลอดที่มีแมลงหวี่มาก
การทดลองนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของสัตว์ว่า มีวิวัฒนาการที่ช่วยให้มันสามารถเลือกเหยื่อที่มีจำนวนน้อยหรือจำนวนมากได้
ด้าน Jürgen Tautz นักกีฏวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Würzburg ในเยอรมนี ได้ใช้ผึ้งเป็นสัตว์ทดลอง เพื่อพิสูจน์ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และพบว่าผึ้งสามารถบอกความแตกต่างด้านรูปร่างของวัตถุได้มากถึง 4 แบบ แต่ถ้าจำนวนแบบมีมากกว่านั้น ผึ้งจะรู้สึกสับสนทันที
สำหรับ Bruce Lyon จากมหาวิทยาลัย California ที่ Santa Cruz ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้พบว่า นกคูท (coot) ที่มีปีกและหางสั้น สามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี เวลานกคูทตัวเมียวางไข่ มันจะนับจำนวนฟองที่มันวาง ดังนั้นถ้ามีไข่แปลกปลอมที่นกชนิดอื่น ลอบเข้ามาวางไข่ในรังมันเวลามันไม่อยู่ มันก็จะรู้ และจะดันไข่แปลกปลอมให้ตกจากรังทุกครั้งไป งานวิจัยของ Lyon ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature ฉบับที่ 422 หน้า 495 ปี 2003 ซึ่งแสดงว่านกคูทก็เหมือนนกคัดคู (cuckoo) ที่สามารถนับ และบอกลักษณะที่แตกต่างระหว่างไข่ของมันกับไข่ของนกกาเหว่าได้
โดยสรุปความสามารถทางคณิตศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตเป็นพรสวรรค์รูปแบบหนึ่ง นอกจากจะมีภาษาพูดแล้ว นักจิตวิทยาสัตว์ยังได้มีการพบว่า นกก็นับเลขเป็น (นกพิราบรู้ว่า 7 มีค่ามากกว่า 5) ตัว salamander หลังแดงก็รู้ความแตกต่างระหว่าง 2 กับ 3 ตัว นกอีกาสีดำหรือเทา (jackdaw) ก็รู้ว่าวัตถุต่างชนิดกัน อาจมีจำนวนเท่ากันก็ได้
การศึกษาเหล่านี้ได้ทำให้เรารู้ว่า สมองของสัตว์และของคนมีวิธีคิดเลข และนับจำนวนได้ลึกซึ้งไม่เท่ากัน เช่น เด็กทารกก็สามารถบวกและลบเลขง่าย ๆ ได้เหมือนหนู แต่แล้วพัฒนาการด้านความสามารถในการนับของทารกก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ครั้นเมื่อทารกมีพัฒนาการด้านภาษา ความสามารถด้านคำนวณของทารกก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าของสัตว์ และนั่นก็หมายความว่า สัตว์จะต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะเข้าใจความหมายเชิงนามธรรมของสมการ เช่น E = mc2
ดังนั้นการศึกษาลักษณะการทำงานของสมองที่ใช้ในการเรียนและเข้าใจคณิตศาสตร์ จึงมีบทบาทช่วยในการเข้าใจอาการเป็นโรค autism และโรคจิตเภท (schizophrenia) ในคนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และรักษาได้อย่างไร นอกเหนือจากการช่วยให้สัตว์รู้ว่า มันมีศัตรูมากหรือน้อย แล้วความรู้ทางคณิตศาสตร์ของมันก็ยังช่วยให้มันสามารถมีชีวิตรอดได้ด้วย เช่น ถ้าตามปกติ ละมั่งเห็นสิงโต 6 ตัว อยู่รวมกันเป็นฝูง แล้วอยู่มาวันหนึ่งมันเห็นสิงโตเหลืออยู่เพียง 4 ตัว มันก็จะรู้สึกระแวงว่าอีก 2 ตัวหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใด ความรู้เช่นนี้จะทำให้มันระมัดระวังตัวมากขึ้น
แม้ว่าเมื่อเริ่มต้นชีวิตของลิงชิมแปนซีและเด็กทารกจะนับจำนวนเลขเป็นเร็วพอ ๆ กัน แต่ต่อมาทารกกลับเรียนเลขได้เร็วกว่าลิงชิมแปนซี เพราะความสามารถในการนับของสัตว์ชั้นต่ำ โดยทั่วไปมักจะสิ้นสุดที่เลข 4 หรือถ้าให้ทารกเลือกระหว่างของ 2 ชิ้นกับ 3 ชิ้น ทารกจะเลือกกลุ่มที่มี 3 ชิ้น แต่พอให้เลือกกลุ่มที่มี 4 กับ 6 หรือ 3 กับ 4 ในบางเวลาทารกจะเลือกกลุ่มน้อย และบางเวลาก็เลือกกลุ่มใหญ่ คือ เอาแน่เอานอนไม่ได้ในทำนองเดียวกัน ลิงวอก (rhesus) ที่พบมากในอินเดียซึ่งรู้ความแตกต่างระหว่าง 1 กับ 2 และ 2 กับ 3 แต่ไม่รู้ความแตกต่างระหว่าง 3 กับ 4 หรือ 4 กับ 6
ความล้มเหลวในสมองของสัตว์ เวลาให้นับจำนวนที่เกิน 4 นี้ นักสรีรวิทยาบางคนคิดว่า สมองมีการแบ่งบทบาทในการทำงานออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใช้คำนวณโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับเลขมาก ซึ่งทำให้สัตว์ต้องใช้ความสามารถด้านการกะประมาณ และส่วนที่สองจะทำงานคำนวณโจทย์ที่เกี่ยวกับเลขน้อย แต่ก็มีนักวิจัยหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าสมองทุกส่วนทำงานร่วมกัน และตามปกติสมองจะไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่าง 49 กับ 50 ได้ ในขณะที่สมองสามารถบอกความแตกต่างระหว่าง 2 กับ 3 ได้ แม้ว่าในกรณีทั้งสองนั้น ความแตกต่างระหว่างตัวเลขจะมีค่าเท่ากับ 1 เท่านั้นเอง
ความสนใจในปัจจุบันจึงเป็นประเด็นว่า สมองนับจำนวนต่าง ๆ ได้อย่างไร และสมองมีวิธีคิดคำนวณโจทย์คณิตศาสตร์ต่าง ๆ ได้อย่างไร นักวิจัยบางคนคิดว่าสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่กำกับเฉพาะเลขแต่ละจำนวน แต่เมื่อเลขมีค่ามากขึ้น ๆ สมองที่มีจำนวนเซลล์มากมายก็ต้องทำงานมากขึ้น ๆ ด้วย การทดลองที่ Picower Institute for Learning and Memory/Neuroscience and Brain Research ที่สถาบัน MIT กำลังวิเคราะห์กลุ่มเซลล์ในสมอง เพื่อให้รู้บทบาทและความสามารถของมัน
ในที่สุดก็ได้พบว่าเวลาเผชิญตัวเลข สมองส่วนที่เรียก prefrontal cortex จะเริ่มทำงานทันที ดังนั้นในคนที่สมองส่วนนี้เสื่อมสภาพ คนเหล่านี้จะคิดเลขช้าหรือคิดเลขไม่เป็น การใช้ขั้วไฟ (electrode) บันทึกการทำงานของกลุ่มเซลล์สมองกว่า 3,000 กลุ่มใน prefrontal cortex ของลิงวอกได้ข้อมูลที่แสดงว่า เซลล์สมองแต่ละกลุ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อจำนวนเลขแตกต่างกัน และเซลล์สมอง (neuron) หลาย neuron มีการทำงานร่วมกันด้วย
ความก้าวหน้าในการศึกษาเซลล์สมองใน posterior parietal cortex ก็ได้แสดงให้เห็นว่า บริเวณสมองส่วนนี้เป็นส่วนแรกก็เริ่มทำงานเวลาลิงวอกเห็นตัวเลข
ในอนาคตการรู้วิธีทำงานของสมองเวลาคิดเลข หรือทำโจทย์คณิตศาสตร์จะช่วยให้คนที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่ได้ หรือเรียนได้ไม่ดี เรียนได้ดีขึ้น และช่วยให้ครูสามารถสอนคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น เมื่อครูรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของศิษย์
ณ วันนี้นักวิทยาศาสตร์เรายังไปไม่ถึงขั้นที่จะช่วยให้คนสามารถเรียนอะไรก็ได้
ดังนั้นเราจะต้องศึกษาความสามารถทางสมองของสัตว์ก่อน โดยเริ่มศึกษาสมองของสัตว์ตั้งแต่อุรังอุตัง โลมา ชิมแปนซี ช้าง นกแก้ว หมึก หมู กา นกพิราบ และหนู ตามลำดับ ความสามารถทางสมองจากสูงไปหาต่ำ และตลอดไป จนถึงสัตว์ประเภทแมลง เช่น จักจั่น แมลงสาบ และผึ้ง ฯลฯ และสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมจาก Mindreading Animals : The Debate over What Animals Know about Other Minds โดย Robert W. Lurz จัดพิมพ์โดย The MIT Press ปี 2011
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน -ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์