xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) NASA เผยคลิปเปรียบเทียบขนาด “ 10 หลุมดำระดับมวลมหายิ่งยวด” ให้ได้ชมความใหญ่โตอลังการเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ โดยไม่ต้องจินตนาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






ในช่วงที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาที่วงการดาราศาสตร์ได้มีการค้นพบ “หลุมดำ” ได้ในจำนวนมาก โดยหลุมดำแต่ละแห่งนั้นก็มีขนาดและความสำคัญที่แตกต่างกันไป เช่น หลุมดำ Gaia BH1 ที่ใกล้โลกที่สุด , หลุมดำ M87 ที่มนุษย์สามารถถ่ายภาพและกลายเป็นภาพหลุมดำภาพแรกของมนุษย์โลกได้ และ หลุมดำ TON 618 ที่ได้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรากว่า 6 หมื่นล้านเท่า ด้วยภาพถ่ายที่มีเพียงไม่กี่ภาพ ทำให้มนุษย์โลกได้แต่จินตนาการหน้าตาและขนาดของหลุมดำ โดยเฉพาหลุมดำ TON 618 ที่มีมวลอภิมหายิ่งยวดแล้ว ยิ่งทำให้ใครหลายคนอยากรู้ขนาดที่แท้จริงของมัน

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา NASA จึงได้มีการจัดทำคลิปวีดีโอสั้นๆ เพื่อเปรียบเทียบขนาดของหลุมดำระดับมวลอภิมหายิ่งยวด (ultramassive black hole) ให้ได้ชมความใหญ่โตอลังการ เมื่อเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ โดยไม่ต้องจินตนาการถึงขนาดกันอีกต่อไป


โดยวีดีโอคลิปนั้น เป็นภาพเคลื่อนไหวแสดงหลุมดำขนาดใหญ่พิเศษ 10 หลุม ที่อยู่ในกาแล็คซีทางช้างเผือกของเรา และกาแล็คซี่อื่นๆ โดยได้มีการเปรีบเทียบกับขนาดวงอาทิตย์ ดวงฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลของเรา เริ่มตั้งแต่ หลุมดำ 1601+3113 ซึ่งมีมวลประมาณ 100,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ เป็นหลุมดำศูนย์กลางของกาแล็กซีแคระ และไล่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ Sagittarius * ที่มีมวลประมาณ 4.3 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ อยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา หลุมดำในกาแล็กซี Andromeda ที่มีมวล 140 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ รวมถึงหลุมดำ M87* ที่มีมวล 5,400 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และไปจบที่หลุมดำ TON 618 ที่เป็นหลุมดำ ณ ใจกลางเควซาร์ (Quasar) ที่มีมวลกว่า 60,000 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และได้รับการพูดถึงว่าเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา


ในเรื่องข้อมูลของ หลุมดำ (black hole) หมายถึง เทหวัตถุในเอกภพที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมาก ไม่มีอะไรออกจากบริเวณนี้ได้แม้แต่แสง ยกเว้นหลุมดำด้วยกัน เราจึงมองไม่เห็นใจกลางของหลุมดำ หลุมดำจะมีพื้นที่หนึ่งที่เป็นขอบเขตของตัวเองเรียกว่าขอบฟ้าเหตุการณ์ ที่ตำแหน่งรัศมีชวาทซ์ชิลท์ ถ้าหากวัตถุหลุดเข้าไปในขอบฟ้าเหตุการณ์ วัตถุจะต้องเร่งความเร็วให้มากกว่าความเร็วแสงจึงจะหลุดออกจากขอบฟ้าเหตุการณ์ได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่วัตถุใดจะมีความเร็วมากกว่าแสง วัตถุนั้นจึงไม่สามารถออกมาได้อีกต่อไป

เมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลมหึมาแตกดับลง มันอาจจะก่อกำเนิดวัตถุที่ดำมืดที่สุด ทว่ามีอำนาจทำลายล้างสูงสุดไว้เบื้องหลัง นักดาราศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า "หลุมดำ" เราไม่สามารถมองเห็นหลุมดำด้วยกล้องโทรทรรศน์ใดๆ เนื่องจากหลุมดำไม่เปล่งแสงหรือรังสีใดเลย แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ และคลื่นโน้มถ่วงของหลุมดำ (ในเชิงทฤษฎี โครงการไลโก) และจนถึงปัจจุบันได้ค้นพบหลุมดำในจักรวาลแล้วอย่างน้อย 6 แห่ง


หลุมดำเป็นซากที่สิ้นสลายของดาวฤกษ์ที่ถึงอายุขัยแล้ว สสารที่เคยประกอบกันเป็นดาวนั้นได้ถูกอัดตัวด้วยแรงดึงดูดของตนเองจนเหลือเป็นเพียงมวลหนาแน่นที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่านิวเคลียสของอะตอมเดียว ซึ่งเรียกว่า ภาวะเอกฐาน

หลุมดำแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ หลุมดำมวลยวดยิ่ง เป็นหลุมดำในใจกลางของดาราจักร , หลุมดำขนาดกลาง, หลุมดำจากดาวฤกษ์ ซึ่งเกิดจากการแตกดับของดาวฤกษ์, และ หลุมดำจิ๋วหรือหลุมดำเชิงควอนตัม ซึ่งเกิดขึ้นในยุคเริ่มแรกของเอกภพ


ขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA / svs.gsfc.nasa.gov / วิกิพีเดีย


กำลังโหลดความคิดเห็น