แม้ “ดาวศุกร์” จะได้รับฉายาว่าเป็นดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลก เนื่องจากอยู่มีวงโคจรที่ใกล้กัน และยังมีขนาดที่ใกล้เคียงกันมากกว่าดาวเคราะห์ดวงใดๆ ในระบบสุริยะของเราอีกด้วย แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้กลับเป็นฝาแฝดที่แตกต่างกันสุดขั้ว เพราะภายใต้เมฆสีนวลสวยของดาวศุกร์ที่สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทัศน์นั้น กลับกลายเป็นพื้นผิวที่แห้งแล้งและร้อนระอุ อีกทั้งในการจัดทำแผนที่ครั้งใหม่ก็ยังพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ มีภูเขาไฟที่ยังมีพลังมากกว่า 85,000 ลูก
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Washington ในเมือง St Louis ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ข้อมูลและภาพถ่ายดาวเทียม Magellan ของ NASA ที่ได้เก็บข้อมูลไว้เมื่อปี 1990 นำมาจัดทำแผนที่ใหม่ของดาวศุกร์ โดยแผนที่ใหม่นี้ได้กลายเป็นหนึ่งในแผนที่ที่ละเอียดที่สุดของดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งได้เผยให้เห็นว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้มีภูเขาไฟที่ยังมีพลังมากกว่า 85,000 ลูก แต่ในจำนวน 99% ที่ค้นพบนี้ มีขนาดเล็กน้อยกว่า 5 กิโลเมตร และที่ตั้งส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ที่พื้นที่เส้นศูนย์สูตรของดาว และไม่มีภูเขาไฟเลยที่ขั้วโลกใต้
การจัดทำแผนที่ใหม่ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการค้นพบข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกระบวนการด้านธรณีวิทยาของดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลกดวงนี้ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นเปลือกโลกที่ดาวศุกร์ไม่มีเหมือนโลก หรือจะมีเมื่อครั้งอดีต และดาวดวงนี้จะมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่
“แม้ว่าดาวศุกร์มีขนาดเท่ากับโลกของเรา แต่เรารู้จักดาวเคราะห์ดวงนี้น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับดวงดาวอื่นๆ ในจักรวาล ข้อมูลและแผนที่ใหม่นี้ จึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญ แก่เหล่านักสำรวจที่สนใจดาวเคราะห์ดวงนี้ต่อจากนี้” .... Paul Byrne รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์ กล่าว
ในอนาคต NASA มีโครงการสำรวจดาวศุกร์ครั้งใหม่ที่ชื่อว่า VERITAS ที่สามารถมองผ่านชั้นบรรยากาศหนาแน่นของดาวศุกร์ แต่ทุนของโครงการสำรวจในครั้งนี้ถูกตัดลดลงไป จึงทำให้เกิดการล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ดาวศุกร์ (Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 ก่อนหน้าโลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 224.7 วันของโลก เมื่อมองจากโลกในตอนกลางคืน ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าซึ่งสว่างรองลงมาจากดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองช้าที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล ใช้เวลาหมุนรอบครบบริบูรณ์ 243 วัน ซึ่งมากกว่าเวลาการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ส่วนโลกของเราใช้เวลาหมุนรอบตัวเอง 23 ชั่วโมง 56 นาที
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : NASA / agupubs.onlinelibrary.wiley.com / theguardian.com/science / FB : environman.co.th