บพค. จัดงานเปิดตัว (Kick off) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Science : TAS)
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดงานเปิดตัว (Kick off) และพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Science : TAS) ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานและสักขีพยาน พร้อมกล่าวปาฐกถานำ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บพค. กล่าวถึงหลักการและบทบาทของ บพค. ในการเป็นตัวกลางการสนับสนุนและผลักดันโครงการ “ธัชวิทย์” และ ศาสตรจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวถึงแผนการทำงานของ บพค. ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ที่เป็น Non-conventional Futures Graduate Platform ตามความต้องการของสถาบันวิจัยและภาคอุตสาหกรรมของประเทศภายใต้ TAS educational sandbox พร้อมนำทีมอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผู้อำนวยการจากสถาบันวิจัย และตัวแทนภาคเอกชน มาร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน
ภายในงาน ศ(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และการพัฒนาที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วนวัตกรรม (Disruption) จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
จากโจทย์สำคัญข้างต้น “ธัชวิทย์” หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Science : TAS) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยสร้างความเข้มแข็งของกำลังคนสมรรถนะสูง และการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมระดับแนวหน้าเพื่อพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว “ธัชวิทย์” ถือเป็นที่สร้างและสะสมองค์ความรู้เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคต รวมถึงการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ขีดความสามารถและความเข้มแข็งของประเทศในด้านต่าง ๆ ประกอบกับการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ สมรรถนะสูง สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต มีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าพัฒนาระบบนิเวศทางนวัตกรรมให้เอื้อต่อการสร้างและแปลงนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม โดยอาศัยความร่วมมือของสถาบันวิจัยที่มี National Facility ระดับโลก มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก มาทำวิจัยขั้นแนวหน้าและผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงร่วมกัน
ด้าน รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ธัชวิทย์” มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ 1 Think Tank (Frontline Think Tank) เป็นฐานและองค์วามรู้ระดับประเทศ ส่วนที่ 2 Frontier Research การทำวิจัยขั้นแนวหน้า ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องของ Future Graduate เป็นการสร้างผลิตบัณฑิตศึกษา ในสาขาพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในประเด็นสำคัญ ซึ่งเบื้องต้นในวันนี้สิ่งที่ สทน. เข้าไปร่วมคือเรื่องของการสร้างบัณฑิต โดยที่สถาบันเองได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่สำคัญของประเทศ ร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตบัณฑิตเฉพาะทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในเรื่องของวิศวกรรมเฉพาะ อีกส่วนหนึ่งได้ร่วมมือกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการผลิตบัณฑิตในเชิงที่จะเน้นไปทางด้านวิศวกรรม และเรื่องของการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ ที่สูงขึ้นซึ่งจะเป็นการสนับสนุนเรื่องของเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน
รศ.ดร. ธวัชชัย ย้ำว่า ทาง สทน. กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมุ่งเน้นที่จะผลิตองค์ความรู้ และบัณฑิตระดับสูง ในการขับเคลื่อนประเทศเป็นประเด็นสำคัญ ฝากถึงนักศึกษาที่มีความสนใจ หรืออาจจะมีหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ เป็นการเตรียมเรื่องใหม่ ๆ ในอนาคต จึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ซึ่งในปี พ.ศ.2567 บพค. มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตร Future Graduate Platform หรือบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูง โดยใช้ Non-conventional Futures Graduate Platform เพื่อผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเจตคติด้านบวก (Brain Power) โดยมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยหรือภาคเอกชน (Demand side) และมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Damand-driven platform เพื่อจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา (โทและเอก) ร่วมกันเพื่อผลิตหลักสูตรภายใต้ TAS Educational sandbox โดยหัวข้อวิจัยต้องมาจากสถาบันวิจัยหรือเอกชน และนักศึกษาต้องทำงานวิจัยหรือภาคเอกชนอย่างน้อย 70 % และการเรียนภาคทฤษฎีและ soft skill 30% ของระยะเวลาหลักสูตร โดยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Co-curriculum, Co-teaching และ Co-certificate โดย บพค. เป็นตัวกลาง (mediatory) คอยประสานและให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังสร้างและพัฒนาหลักสูตรมากกว่า 10 ปี หลักสูตรในสาขาที่รองรับการเติบโตและโอกาสทางอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศไทย เช่น Quantum technology, Plasma technology, High energy physics, AI/Cloud computing, Future food และ Climate change technology นักศึกษาสามารถทำวิจัยโดยมี National facility มาตรฐานระดับสากล รวมถึงการเข้าไปฝังตัวทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก “บัณฑิตธัชวิทย์” สำเร็จการศึกษาโดยมีทั้ง Degree certificate และ Skill (Non-degree) certificate และต้องได้รับเข้าทำงานในสถาบันวิจัยและภาคเอกชน