xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ฤดูฝน” ฤดูกาลที่ยาวนานที่สุดของไทย เริ่มเมื่อไหร่ สิ้นสุดช่วงไหนของปี สังเกตได้จากอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฤดูฝน” เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลของประเทศไทยที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีกว่าทุกๆ ฤดูกาล ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และน้ำฝนยังช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศ ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้พืชพรรณต่างๆ ในธรรมชาติกลับเขียวชอุ่มอีกครั้ง


Science MGROnline จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ “ฤดูฝน” หรือ “วัสสานฤดู” 1 ใน 3 ฤดูกาลของประเทศไทย ว่าเริ่มเมื่อไหร่ สิ้นสุดช่วงไหนของปี และสังเกตได้จากอะไร


ฤดูฝนของประเทศไทยนั้น โดยปกติจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี ของทุกๆ ปี โดยเป็นฤดูกาลที่ต่อเนื่องจากฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงประมาณสิ้นเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน รวมระยะเวลาประมาณ 5 เดือนครึ่ง ถือได้ว่าเป็นฤดูกาลที่มีระยะเวลายาวนานที่สุด ในช่วงนี้จะมีปริมาณฝนโดยเฉลี่ยตลอดทั้งเดือนเกินกว่า 60 มิลลิเมตร มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป และมีปริมาณฝนโดยรวมสูงสุดของปี ซึ่งปริมาณน้ำที่มากนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้เต็มประสิทธิภาพกว่าในทุกช่วงของปี และน้ำฝนยังช่วยขจัดสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองภายในอากาศทำให้คุณภาพอากาศดีกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ


อีกหนึ่งข้อสังเกตในช่วงฤดูฝนนั้น สามารถสังเกตได้จากทิศทางลม โดยในช่วงนี้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร จะเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีคุณสมบัติร้อนและชุ่มชื้น และจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ฝนตกทั่วทุกภาค

นอกจากกระแสลมมรสุมแล้ว พายุหมุนเขตร้อนก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการก่อฝนในฤดูฝน โดยมักจะมีช่วงในการเกิดประมาณเดือนมิถุนายน - ธันวาคม ฝนที่เกิดจากพายุหมุนเขตร้อนนี้ จะมีลักษณะการตกเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมบริเวณที่พายุเคลื่อนผ่าน ประกอบกับมีลมพัดแรง ทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน


สำหรับในปีนี้ ทาง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2566 (ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2566) ว่า 

ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะเริ่มประมาณ ปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งช้ากว่าปกติเล็กน้อย และจะ สิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศ ในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และจะน้อยกว่าปีที่แล้ว (ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝนปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 14 และปริมาณฝนรวมทั้งปีมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 24) โดยทั้งในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือนกรกฎาคม) และช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5

อนึ่ง ช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ซึ่งจะท้าให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้วซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด

ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายนและตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูง ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้าป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา / วิกิพีเดีย


กำลังโหลดความคิดเห็น