xs
xsm
sm
md
lg

สกสว.ร่วมประชุมขยายผลแก้วิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมเรื่อง การขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิด และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเลือกพื้นที่ดอยสุเทพ และ แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดประชุม การขับเคลื่อนการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิด และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นางอารียพันธ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานคณะอนุกรรมการ ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา สกสว. และ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายความร่วมมือ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การ มหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้แทนภาคประชาสังคม เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมแผนการขยายผลการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถอดบทเรียนและแสดงความคิดเห็น

โอกาสนี้ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวว่า โดยก่อนหน้านี้ ทางสำนัก ก.พ.ร. ได้จัดทำกรอบแนวทางการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย หรือ “OG & MP” (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) และได้นำกรอบแนวทางดังกล่าวมาดำเนินนำร่อง ภายใต้การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่จังหวัดลำปาง และสิงห์บุรี ในปี 2564-2565 และในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดขยายผลตามแผนแนวทาง OG & MP มาใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในการบริหารราชการตามหลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อแก้วิกฤตมลพิษด้านฝุ่น ด้วยความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่าง “องค์กรภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน-ประชาสังคม” ที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบและความเท่าเทียมกันทางสังคม
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง และแต่ละครั้งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง อีกทั้งแก้ปัญหาได้ยาก โดยมีประเด็นหารือใน 4 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1.ระบบฐานข้อมูล (Geo-Informatic database) 2. ระบบบริหารจัดการไฟ 3. การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรในพื้นที่สูง 4.การพัฒนา/ปรับปรุงตัวชี้วัด และการประเมินตรวจสอบ พร้อมยกตัวอย่าง สถานการณ์ตามบริบทจริงของพื้นที่ เช่น สาเหตุการเกิดไฟ /ไฟที่เกิดจากความยากจน การทำงานในระดับพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อเตรียมขยายผลในระดับจังหวัด และ กลไกการทำงานในระดับพื้นที่

ด้าน รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวม 177 หน่วยงาน และ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง ตามแนวนโยบายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ แผนด้าน ววน. หรือ ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล เช่น ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

โดย สกสว.จะนำข้อเสนอแนะ ถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูล การพัฒนาระบบบริหารจัดการไฟ การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรในพื้นที่สูง และการพัฒนา/ปรับปรุงตัวชี้วัด และการประเมินตรวจสอบ จากการประชุมในครั้งนี้ กลับไปทบทวนแผนงานย่อยรายประเด็น “งานวิจัยและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5” ภายใต้แผนงาน P24 "แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ" ปีงบประมาณ 2566 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น