xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “เอลนีโญ” หนึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญวิกฤตภัยแล้งรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากนักวิทยาศาสตร์ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ปรากฏการณ์ลานีญาครั้งล่าสุด ซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติถึง 3 ปี ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทำให้ในปี 2023 นี้ ทั่วโลกต้องพบเจอกับ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กำลังส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญวิกฤตภัยแล้งรุนแรง เช่น ผู้คนในยุโรปกำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรง หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบกว่า 500 ปี แม่น้ำไรน์ใน เยอรมนี แม่น้ำลัวร์ ในฝรั่งเศส แห้งขอด ระดับน้ำลดลงเหลือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือในหลายประเทศก็ต้องพบกับไฟป่าที่รุนแรง

ด้วยวิกฤตภัยแล้งรุนแรงที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่ในช่วงนี้ Science MGROnline จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ ปรากฏการณ์เอลนีโญ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติภัยแล้ง และได้กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดแห่งปี ในเรื่องสภาพอากาศโลก


ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหล ไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ในแต่ละครั้ง


โดยปกติแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือมหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา มีกระแสลมหรือเรียกว่าลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้จึงให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ด้วยปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา จะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่กล่าวมานั้นเกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก ตามลำดับ

การเกิดเอลนีโญจะทำให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย อย่างเช่น คลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้รับผลกระทบมากที่สุด และปรากฏการณ์นี้ยังสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาเซลเซียส จึงนับว่าเสี่ยงและหมิ่นเหม่ต่อการทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกินขีดจำกัด ซึ่งนานาประเทศได้กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส


แม้ว่าในปีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่ก็ทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งที่กำลังขยายวงกว้างและส่งผลกระทบไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งในเรื่องวิกฤตน้ำที่ต้องใช้อุปโภคบริโภค หรือจะเป็นการเพาะปลูกก็ได้รับผลกระทบ และอาจทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตอื่นๆ มากกว่าภัยแล้งอีกก็เป็นได้


ขอบคุณข้อมูลจาก : Gistda / wikipedia


กำลังโหลดความคิดเห็น