เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM พร้อมด้วย พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และนายกวิน เลขานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานมอบรางวัลในการแข่งขัน “Thailand CANSAT - ROCKET Competition 2023” เวทีเฟ้นหาทีมชนะเลิศการออกแบบและประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (CANSAT) และจรวดประดิษฐ์ (ROCKET) ที่ห้อง IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี
โดยในปีนี้มีเยาวชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการสมัครเข้าร่วมแข่งขันกว่า 150 ทีม จากทั่วประเทศ ซึ่งมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 14 ทีม มาร่วมแข่งขันในระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน 2566 ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังจบการแข่งขันปรากฏว่า ทีมอาบังขายปาท่องโก๋ V.2 จากโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จ.พัทลุง สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ CANSAT – ROCKET Award ไปครอง พร้อมรับทุนการศึกษา 15,000 บาท โดยมีสมาชิกในทีม คือ นายอัตรคุปต์ จิตรพรหม นางสาวพัทธ์ธีรา สุวรรณชาตรี นางสาวภาวดี หนูนวลนางสาวชลธิชา ใจหนัก นางสาวเสาวลักษณ์ สุวรรณศรี และนายสรายุทธ หมัดหละ คุณครูผู้คุมทีม
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เผยว่า “การแข่งขัน “Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2023” รอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ที่ NSM จัดการแข่งขัน CANSAT เราเห็นพลังและความมุ่งมั่นของเยาวชนในการประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (CANSAT) และจรวดประดิษฐ์ (ROCKET) ที่จำลองให้เห็นถึงการทำงานเหมือนดาวเทียมจริง การคิดสร้างสรรค์และทดลองติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อทำภารกิจต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็น การบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอเพื่อทำแผนที่ จำลองการตรวจจับขยะอวกาศ จำลองการค้นหาผู้ประสบภัย ตรวจแก๊สและความเข้มแสง หรือการวัดค่า PM 2.5 ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนทักษะและพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้บรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายทำให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจและสนใจงานด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อไปในอนาคต
“ต้องขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ หวังว่าเวทีนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทุกคนได้ก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองและต่อยอดในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศ นำไปสู่การอยากเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศต่อไป” ผศ.ดร.รวิน กล่าว
ด้านนางสาวพัทธ์ธีรา สุวรรณชาตรี ตัวแทนจากทีมโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จ.พัทลุงเผยถึงความสำเร็จครั้งนี้ ทีมเรามุ่งมั่นตั้งใจมาก ๆ ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 แล้วที่เราเข้าร่วมการแข่งขันฯ โดยปีที่แล้วได้รับรางวัล Technique Award และยังมีข้อผิดพลาดอยู่บางจุด แต่ปีนี้เราได้นำเอาประสบการณ์และข้อผิดพลาดในปีที่แล้วมาปรับปรุง พัฒนา แล้วนำไปแก้ไข ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ และคุ้มค่ากับสิ่งที่ทีมตั้งใจ ซึ่งต้องขอขอบคุณเวทีนี้ที่ได้สร้างประสบการณ์ เสริมความรู้ และให้โอกาสในการแสดงความสามารถของพวกเรา”
สำหรับผลรางวัลในทุกประเภทมีดังนี้
ผลรางวัลประเภท CANSAT ได้แก่
รางวัล CANSAT Mission Award ได้แก่ ทีม Be Right Back จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
รางวัล Technique Award (ไม่มี)
รางวัล Failure Award ได้แก่ ทีมจะรวย จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย (KOSEN KMUTT) กรุงเทพฯ
รางวัล Best CANSAT Award ได้แก่ ทีมอาบังขายปาท่องโก๋ V.2 จากโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จ.พัทลุง
ผลรางวัลประเภท ROCKET ได้แก่
รางวัล ROCKET Mission Award ได้แก่ ทีม V Atmosphere จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
รางวัล Deployment Award ได้แก่ ทีม PeemPenDaiKaePuen จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น
รางวัล Aerodynamics design Award ได้แก่ ทีม Stellar Strikers จากโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี
รางวัล Best ROCKET Award ได้แก่ ทีมอาบังขายปาท่องโก๋ V.2 จากโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จ.พัทลุง
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษประเภท CANSAT Special Award จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.ทีม CARROT จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์จ.ระยอง 2.ทีม Absolute Aces จากโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี 3.ทีมCAELUS SAT, ทีม LA CABRA, ทีม Hoshi จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ และประเภท Rocket Special Award จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1.ทีม Martian Wings จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง 2.ทีมGraviX จากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม) จ.นนทบุรี