เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ U2T for BCG มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี รศ.ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี ประธานที่ปรึกษา และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ที่ จ.นราธิวาส
โดยเริ่มแรก รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดี ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ซึ่งรับผิดชอบทั้งสิ้นจำนวน 59 ตำบล คิดเป็น 75% ของ จ.นราธิวาส และบางส่วนเป็นของ จ.ยะลา โดยการดำเนินได้ใช้กลไก อว.ส่วนหน้า เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมา มี 2 ตำบลชนะเลิศรางวัลระดับตัวแทนภาคใต้ คือ เรื่องของไข่มุกจากแป้งสาคู และพ็อตพร้าวเซฟเดอะเวิร์ล นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากโครงการ U2T ยังใช้เชื่อมโยงกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และใช้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดภาคใต้อีกด้วย
จากนั้น ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้มอบนโยบายให้กับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ใช้จุดแข็งที่มี ไม่ว่าจะเป็น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องชีววิทยาศาสตร์ ให้ทำเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจชีวภาพ และโรงเรียนแพทย์ให้เข้มแข็ง จนสามารถเป็น Hub ของอาเซียนได้ เพราะเศรษฐกิจของอาเซียนใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และอาเซียนยังมีความใกล้ชิดกับจีนมาก ซึ่งกำลังซื้อของจีนนั้นมีมากกว่าอเมริกาถึง 3 เท่า แต่ถ้าเราจะพัฒนาให้ได้เร็ว ต้องคิดทางลัด ทางเบี่ยง โดยเราต้องสนธิกำลังกับมิตรประเทศ ที่เขามีความก้าวหน้ากว่าเรา เช่น ประเทศอิสราเอล เก่งทางเรื่องการใช้ AI ทางการแพทย์ เราต้องไปทำความร่วมมือ หรือทำงานวิจัยร่วมกัน หรือประเทศซาอุดีอาระเบียก็น่าสนใจ เพราะโลกมุสลิมกำลังเปลี่ยน เขาต้องการสันติ และอยู่กับศาสนาอื่นๆ อย่างเท่าเทียม
รมว.อว.กล่าวต่อว่า BCG ก็ถือเป็นนวัตกรรม ทำให้เทรนด์ในปัจจุบันสนใจพูดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เรื่องสิ่งแวดล้อม การขจัดของเสียมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญ เปรียบเทียบเหมือนเป็นศาสนาใหม่ ศาสนาสีเขียว และ BCG จะทำให้ราคาของประเทศสูงขึ้นด้วย เราจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ ให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มาช่วยต่อยอด ทำจังหวัดนราธิวาสให้เป็นจังหวัด BCG สุดท้ายได้ฝากให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ที่ถือว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยที่ยังไม่เก่า ใช้ความปราดเปรียวให้เป็นประโยชน์ ด้วยการหาพาร์ทเนอร์ดีๆ เพื่อก้าวยาวๆ เดินเร็วๆ ขับเคลื่อนเรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องกระตุ้นเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการที่ในปัจจุบันกระทรวงมีหลากหลายช่องทางมากขึ้น รวมไปถึงการทำหลักสูตรใหม่ๆที่ตอบโจทย์พื้นที่ในช่องทาง sandbox และเรื่องธนาคารหน่วยกิตหรือเครดิตแบงค์ที่กระทรวงได้ออกหลักเกณฑ์ไปใหม่ด้วย