เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยคณะผู้ประสานงานคลัสเตอร์การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า BCG (Frontier BCG) และนักวิเคราะห์ บพค. จัดงานประชุมนำเสนอผลงานและสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนากำลังคนด้าน Frontier BCG เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการวิจัย และสร้างกลไกการสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งของนักวิจัยของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานย่อย N36 การวิจัยขั้นแนวหน้าในสาขาสำคัญเพื่อประยุกต์และพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจ BCG ของโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บพค. ในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางและประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จากหลายสถาบันทั่วประเทศ
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง กล่าวต้อนรับและบรรยายถึงทิศทางในการขับเคลื่อนแผนงานการวิจัยขั้นแนวหน้าด้าน Frontier BCG ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 ด้านคือ การสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์จำเพาะบุคคล (Personalized Medicine) อาหารแห่งอนาคต (Future Food) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้าน Personalized Medicine นั้น บพค. ให้ความสำคัญกับการวิจัยที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การวินิจฉัย การป้องกัน หรือรักษาโรคอย่างแม่นยำหรือจำเพาะบุคคล (Precision/Personalized Medicine) ด้าน Future Food ให้ความสำคัญกับการวิจัยที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของโปรตีนทางเลือก (Alternative Proteins) ที่มีคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based proteins) จากพืช (Plant-based proteins) จากจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (Microorganism-based proteins) และส่วนประกอบของอาหาร (Food ingredient) เพื่อเพิ่มคุณค่าของอาหาร ด้าน Climate Change ให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage/CCUS) โดย บพค. สนับสนุนการสร้างกำลังคนที่จำเป็นในการขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้ง 3 ด้านนี้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคี อันได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนอีกด้วย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนในปีงบประมาณ 2565 และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ/นักวิจัยด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรม Flash talk และ Roundtable talk เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสมต่อกับขับเคลื่อนการวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อประยุกต์และพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในการประชุมนักวิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นแนวหน้าซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG ในอนาคต เช่น เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) เพื่อพัฒนาแนวทางในการวินิจฉัย ป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแบบจำเพาะบุคคล เช่น โรคมะเร็ง โรคไต และโรคตับ และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue engineering) เพื่อพัฒนาชิ้นเนื้อเพาะเลี้ยง (Cultured meat) จากเซลล์ต้นกำเนิด อีกทั้งยังได้ระดมความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าและแนวทางการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม BCG ผ่านการกำหนดโจทย์การวิจัยขั้นแนวหน้าที่ชัดเจนและการร่วมมือกันของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลายสาขามาทำงานร่วมกัน