สกสว.- สภาพัฒน์ ประสานพลัง ขับเคลื่อน ววน. ยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวย สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ เจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมกับ นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหารือ ถึงแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยจะส่งผลให้เกิดฐานการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่อื่น ตามที่ สกสว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเฉพาะในมิติการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ภาคการผลิต/บริการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคีการพัฒนา ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวย สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กระทรวง อว. ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พร้อมประสานความร่วมมือ และ ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งในส่วนของ การยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิต/บริการของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาคีการพัฒนา ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ชุมชน และเอกชนในพื้นที่เพิ่มศักยภาพสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย และอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ให้มีบทบาทนำและเชื่อมโยงภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระเบียงฯ ในแต่ละภาคตามแนวทาง BCG โดยเน้นการลงทุนในกิจการที่ใช้วัตถุดิบและจ้างแรงงานในพื้นที่ และการใช้เทคโนโลยีสีเขียว สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาให้เป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ จัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดึงดูดบุคลากรในด้านการวิจัยและพัฒนา
รวมถึง การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูล/องค์ความรู้ ระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน-สถาบันการศึกษา-ชุมชน โดยเฉพาะการถ่ายทอดฯ ให้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs/MicroSMEs) และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มโอกาส ให้แก่ภาคเอกชนที่กำลังเติบโตและเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้สามารถเชื่อมโยงและได้ประโยชน์จากการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของระเบียงฯ ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน ตามความต้องการ และแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแต่ละภาค อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC – Creative LANNA) ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง โดยมุ่งเน้นการ พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติ พัฒนา Creative Ecosystem ให้เอื้อต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการสร้างสรรค์ สร้างแบรนด์และส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ พัฒนาด้านการศึกษาและวิจัย และบุคลากรด้านสร้างสรรค์ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC - Bioeconomy) ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต ในมิติของ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้หลากหลาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย การส่งเสริมการลงทุนด้านเกษตร/อุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการพัฒนาบุคลากรด้านเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ
ท้ายสุดนี้ สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดแนวทาง และ ทิศทางการทำงานร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป