xs
xsm
sm
md
lg

การติดตั้งเครื่องไทยโทคาแมค-1 เป็นไปตามแผนทดสอบการเดินเครื่อง ได้กระแสพลาสมาครั้งแรกฉลองวาระครบรอบ 17 ปี สทน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามที่ประเทศไทย โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้รับมอบเครื่องโทคาแมค จาก สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) ตามข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เพื่อให้นำมาใช้ศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อสร้างให้เกิดพลาสมาอุณหภูมิสูง ซึ่งเป็นการจำลองปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่เกิดตามธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลก ก่อนดำเนินการส่งมอบเครื่อง ASIPP ได้มีการฝึกอบรมให้กับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวไทย จำนวน 9 คน เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน เพื่อเรียนรู้ทางทฤษฎีและวิธีการใช้งานเครื่องอย่างครบถ้วน โดยเครื่องโทคาแมคที่ส่งมอบมา ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 462 ชิ้น มีน้ำหนักมากกว่า 84 ตัน ส่งมายังประเทศไทยด้วยตู้คอนเทนเนอร์ 6 ตู้ ถึงท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 และ สทน. ได้ดำเนินการขนย้ายจากท่าเรือแหลมฉบังมายัง สทน. เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อติดตั้งในอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทยเครื่องนี้จะมีชื่อว่า ไทยโทคาแมค-1 (TT-1)
 
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เริ่มติดตั้งเครื่อง ไทยโทคาแมค-1 การดำเนินการติดตั้งเป็นไปตามแผนงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและทีมวิศวกรจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน ร่วมด้วยทีมงานจากศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง ของ สทน. และทีมวิศวกรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยช่วงแรกทีมงานร่วมกันประกอบชิ้นส่วนของเครื่องเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงดำเนินการเกี่ยวกับระบบ power supply ปัจจุบันการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนแล้วเสร็จเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงเป็นการปรับแต่งและทดสอบการเดินเครื่อง และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 17 ปีการจัดตั้ง สทน. ทางคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้องนำโดย Prof. Luo Jiarong ทีมวิศวกรจากทั้ง สทน. และ กฟผ. ได้ทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 กระตุ้นให้ก๊าซไฮโดรเจนแตกตัว กระทั่งเข้าสู่สถานะพลาสมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรก สามารถสร้างกระแสพลาสมา 2,200 แอมแปร์ เป็นระยะเวลานานประมาณ 5 มิลลิวินาที จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และถือเป็นการฉลองการครบรอบ 17 ปีของ สทน.อีกด้วย โดยมีทีมงานจาก กฟผ. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทย ร่วมสังเกตการณ์

สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป คือ ทีมงานจะทดลองการเดินเครื่องเพื่อนำไปสู่การเพิ่มกำลังการเดินเครื่องให้เข้าสู่สถานะการเดินเครื่องปรกติ ด้วยกระแสพลาสมาระดับ 50,000 แอมแปร์ นาน 100 มิลลิวินาที ในวันเริ่มเดือนเครื่องที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฏาคม 2566 นี้






















กำลังโหลดความคิดเห็น