xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ลูกเห็บ” ก้อนน้ำแข็งที่หล่นจากฟ้า สิ่งที่อันตรายในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงฤดูร้อนนี้ นอกจากสภาพอากาศที่ร้อน และมีแสงแดดร้อนแรงตลอดทั้งวันแล้ว ในบางครั้งเราก็มักจะได้รับข่าวการประกาศเตือนเรื่อง “พายุฤดูร้อน” จากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ และการเกิดพายุฤดูร้อนนั้น ก็มักจะมีอันตรายจากภัยธรรมชาติมาด้วย ไม่ว่าจะทั้ง ลมกระโชกแรง ฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า และลูกเห็บ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างมากในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน

แม้จะดูสวยงามเหมือนหิมะตก แต่ด้วยความแข็งที่มาพร้อมกับแรงลมและตกมาพร้อมกับสายฝน ทำให้ลูกเห็บถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นอันตรายเป็นอย่างมาก Science MGROnline จึงขอไปทำความรู้จักกับการเกิด “ลูกเห็บ” ก้อนน้ำแข็งที่หล่นจากฟ้า คล้ายหิมะแต่อันตายมากกว่า


ลูกเห็บ (Hail) เกิดจากมวลอากาศร้อนที่ลอยตัวสูงขึ้น และพัดพาเม็ดฝนลอยขึ้นไปปะทะกับมวลอากาศเย็นด้านบน มักเกิดขึ้นในเมฆประเภท "คิวมูโลนิมบัส" (cumulonimbus clouds) เมื่อเม็ดฝนจับตัวเป็นเม็ดน้ำแข็งซึ่งตกลงมาเจอมวลอากาศร้อนที่อยู่ด้านล่าง ความชื้นจะเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งให้เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น แต่จะมีรูปร่างเป็นก้อนน้ำแข็งรูปร่างไม่แน่นอน และตกลงมาจากบรรยากาศในรูปของแข็ง

ก้อนลูกเห็บนี้อาจลอยตัวก่อเป็นก้อนอยู่เบื้องบนเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนจะตกลงมา เนื่องจากลมที่พัดพาอยู่เบื้องบน ลูกเห็บที่ลอยตัวอยู่นานก็จะมีขนาดใหญ่ ดังนั้นลูกเห็บอาจเกาะตัวจนเป็นก้อนใหญ่มีน้ำหนักเกินกว่าที่ลมจะพัดให้ลอยอยู่ได้และตกลงมา และลูกเห็บขนาดใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในเขตที่มีอากาศร้อน เนื่องมาจากการลอยตัวขึ้นที่รุนแรงของอากาศร้อน และยังสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย


ลูกเห็บไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทยที่เดียว แต่ยังสามารถตกได้ทั่วโลก ในที่ที่ทีสภาพอากาศเอื้ออำนวย ในเรื่องสถิติ ลูกเห็บก้อนที่หนักที่สุดในโลกนั้น ตกที่ เมืองคอฟฟีย์วิลล์ (Coffeyville) รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2513 มีการบันทึกว่าหนักถึง 770 กรัม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร (5.7 นิ้ว) ส่วน ลูกเห็บที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตกที่ เมืองออโรรา (Aurora) รัฐเนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมิรการเช่นกัน ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17.8 เซนติเมตร (7 นิ้ว) แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า อาจเนื่องมาจากมีบางส่วนแตกหลุดไปในระหว่างตกกระทบบ้าน


แต่โดยปกติลูกเห็บส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่บางทีอาจมีขนาดใหญ่ถึงหลายเซนติเมตรหรือใหญ่กว่านั้น ลูกเห็บขนาดเมล็ดถั่วจนถึงขนาดเท่าไข่ไก่นั้น เป็นขนาดที่พบเห็นได้ทั่วไป เมื่อผ่าลูกเห็บออกจะเห็นชั้นหลายๆ ชั้นซ้อนกันอยู่ จำนวนชั้นบอกได้ว่าลูกเห็บนี้ถูกพัดขึ้นไปสูงขึ้นกี่ครั้ง โดยชั้นข้างในจะมีสีน้ำเงิน แล้วชั้นต่อไปสีจะจางลงเรื่อยๆ จนถึงสีขาว


แม้จะดูผิวเผินเหมือนหิมะ แต่ด้วยความแข็งและองศาที่ตกลงมาจากที่สูง ประกอบด้วยลมแรง จึงทำให้ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างมากในช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดจากลูกเห็บตก เราควรควรอยู่ในบ้านหรือในอาคาร ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง และเมื่ออยู่ในอาคารแล้วควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้ประตู หน้าต่าง โดยเฉพาะที่เป็นกระจก เพราะลมพายุที่พัดแรงอาจพัดเอาลูกเห็บมากระแทกกระจกทำ ให้กระจกแตก และเศษกระจกอาจกระเด็นมาโดนเราทำให้ได้รับอันตรายได้ และไม่ควรเก็บลูกเห็บมากิน เพราะเสี่ยงจากการที่ลูกเห็บอาจติดเชื้อโรคจากดิน หรือลูกเห็บอาจผ่านสารปนเปื้อนในอากาศมาได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
กรมอุตุนิยมวิทยา / wikipedia


กำลังโหลดความคิดเห็น