ในช่วงนี้ประเทศในแถบซีกโลกเหนือกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่โลกได้เอียงองศาหันบริเวณซีกโลกเหนือเข้ารับแสงจากดวงอาทิตย์แบบเต็มๆ ทำให้หลายๆ ประเทศนั้น มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ใครหลายคนอาจจะไม่ชอบดวงอาทิตย์ในฤดูกาลนี้กันมากนัก จนมีคำพูดว่า “ร้อนเหมือนซ้อมตกนรก”
Science MGROnline จึงขอไปทำความรู้จัก “ดวงอาทิตย์” ดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลของเรา ที่ให้พลังงานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก
ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ ณ ใจกลางระบบสุริยะ เป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่มีอยู่อย่างมากมายในดาราจักรทางช้างเผือก โดยตั้งอยู่ตรงขอบด้านในของแขนนายพราน ที่ห่างจากใจกลางดาราจักรออกมาราว 26,490 ปีแสง มีเป็นพลาสมาร้อนทรงเกือบกลมสมบูรณ์ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.39 ล้านกิโลเมตร ใหญ่กว่าโลก 109 เท่า และมีมวลประมาณ 330,000 เท่าของโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 99.86 ของมวลทั้งหมดของระบบสุริยะ มวลประมาณสามในสี่ของดวงอาทิตย์เป็นไฮโดรเจน ส่วนที่เหลือเป็นฮีเลียมเป็นหลัก โดยมีปริมาณธาตุหนักกว่าเล็กน้อย รวมทั้งออกซิเจน คาร์บอน นีออนและเหล็ก
ข้อมูลด้านดาราศาสตร์ ถือว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ลำดับหลักระดับจี (G2V) ตามการจัดประเภทดาวฤกษ์ตามระดับสเปกตรัม โดยมักถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ดาวแคระเหลือง" ดวงอาทิตย์ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4.6 พันล้านปีก่อน จากการยุบของแรงโน้มถ่วง (gravitational collapse) ของสสารภายในบริเวณกลุ่มเมฆโมเลกุลขนาดใหญ่ สสารนี้ส่วนใหญ่รวมอัดแน่นอยู่ที่ใจกลาง ส่วนที่เหลือบีบตัวลงลงเป็นแผ่นโคจรซึ่งกลายมาเป็นระบบสุริยะ มวลใจกลางร้อนและหนาแน่นมากจนเริ่มเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ณ แก่นดาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นกระบวนการเกิดดาวฤกษ์ส่วนใหญ่
การเกิดปฏิกิริยาต่างๆ บนดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเป็น “พลังงานแสงอาทิตย์” ที่เป็นพลังงานปริมาณมหาศาลที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันบนดวงอาทิตย์ พลังงานในลักษณะต่างๆ ที่ปลดปล่อยออกมาจากแก่นกลางของดาวฤกษ์ ทั้งพลังงานความร้อน แสงสว่าง รังสี หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และอนุภาคต่างๆ ซึ่งจะเดินทางมายังโลก จนกลายเป็นแหล่งกำเนิดของพลังงานมากมายที่ทำการขับเคลื่อนวัฏจักรน้ำและการหมุนเวียนของสสาร รวมถึงเป็นต้นกำเนิดของสายธารแห่งชีวิตบนโลก
ในปัจจุบัน ตามการศึกษาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ว่าด้วยวัฏจักรดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 5,000 ล้าน หรือมีอายุมาได้ประมาณครึ่งอายุขัยแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเป็นเวลากว่า 4 พันล้านปีมาแล้ว และคาดว่าจะอยู่ในภาวะค่อนข้างเสถียรไปเช่นนี้อีก 5 พันล้านปี
และเมื่อไฮโดรเจนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของดวงอาทิตย์หมดลง วาระสุดท้ายของดวงอาทิตย์ก็มาถึง (คือการพ้นไปจากลำดับหลัก) โดยดวงอาทิตย์จะเริ่มพบกับจุดจบคือการแปรเปลี่ยนไปเป็น ดาวยักษ์แดง ภายใน 4-5 พันล้านปี ผิวนอกของดวงอาทิตย์ขยายตัวออกไป ส่วนแกนนั้นยุบตัวลงและร้อนขึ้นสลับกับเย็นลง จากสถานการณ์ข้างต้นดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์จะกลืนกินโลกให้หลอมลงไปเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จากรายงานวิจัยฉบับหนึ่ง ได้ศึกษาพบว่าวงโคจรของโลกจะตีตัวออกห่างดวงอาทิตย์เพราะมวลของดวงอาทิตย์ได้สูญเสียไป จนแรงดึงดูดระหว่างมวลมีค่าลดลง แต่ถึงกระนั้น น้ำทะเลก็ถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์เผาผลาญจนระเหยสิ้นไปในอวกาศ และบรรยากาศโลกก็อันตรธานไปจนไม่เอื้อแก่ชีวิตต่อมาได้มีการค้นพบ ว่าดวงอาทิตย์นั้นจะสว่างขึ้น 10 เปอร์เซนต์ ทุก ๆ 1000 ล้านปี ถึงตอนนั้นโลกก็ไม่อาจจะเอื้อ ต่อสิ่งมีชีวิตไปก่อนแล้ว เวลาของสิ่งมีชีวิตบนโลก จึงเหลือแค่ 500 ล้านปีเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :.wikipedia / National Geographic Thailand