Luis W. Alvarez (1911–1988) เกิดที่ San Francisco ในสหรัฐอเมริกา เมื่ออายุ 25 ปี ได้สำเร็จการศึกษาฟิสิกส์ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย Chicago จากนั้นก็ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ในสังกัดมหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Berkeley
ในปี 1939 Alvarez กับ Felix Bloch (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 1952) ได้วัดโมเมนต์แม่เหล็กของอนุภาคนิวตรอนเป็นครั้งแรก และได้ทุ่มเททำงานพัฒนาเทคโนโลยีเรดาร์ที่สถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) เพื่อนำมาใช้ในการพิชิตสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นได้เข้าร่วมทำงานในโครงการ Manhattan เพื่อผลิตระเบิดปรมาณูที่ Los Alamos สำหรับใช้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
ในเวลาต่อมา Alvarez กับเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันสร้างเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอนให้มีพลังงานสูงมาก เพื่อใช้ศึกษาและหาองค์ประกอบของโปรตอน โดยอาศัยการพุ่งชนกันของโปรตอนในห้องฟอง (bubble chamber) แล้ว สังเกตผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จนได้พบอนุภาคสั่นพ้อง (resonance particle) ชนิดต่าง ๆ มากมาย ผลงานนี้ทำให้ Alvarez ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1968
ตามปกติเวลานักฟิสิกส์ใช้คำว่า “สั่นพ้อง” เขาหมายถึง วิธีการให้พลังงานแก่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เวลาเราแกว่งชิงช้า การออกแรงผลักชิงช้า ด้วยความถี่หนึ่ง ที่มีค่าเท่ากับความถี่ธรรมชาติของชิงช้า จะทำให้ชิงช้านั้นแกว่งตัวด้วยแอมพลิจูดมากที่สุด เป็นปรากฏการณ์สั่นพ้อง
ในทำนองเดียวกัน เวลานักฟิสิกส์ทดลองยิงอนุภาคให้พุ่งชนกันด้วยพลังงานค่าหนึ่ง ซึ่งเป็นพลังงานสั่นพ้องของระบบอนุภาคนั้น ก็จะทำให้เกิดกลุ่มอนุภาคที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แม้จะเป็นเวลาไม่นานมาก (คือ ประมาณ 10^(-23) วินาที) ก็ตาม กลุ่มอนุภาคเหล่านี้จะอยู่ด้วยกัน โดยอาศัยแรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม (strong nuclear force) ที่มีพิสัยสั้นมาก จากนั้นกลุ่มอนุภาคก็จะแตกกระจายออกเป็นอนุภาคชนิดต่าง ๆ มากมาย คือ เป็นอนุภาคที่มีสมบัติควอนตัมเหมือนอนุภาคมูลฐานอื่น ๆ เช่น มีมวล มีสปิน มีประจุ และมีเลขควอนตัม (quantum number) ประจำตัว แล้วปรากฏให้นักทดลองเห็น หลังจากที่ได้เคลื่อนที่เป็นระยะทางประมาณ 10^(-15) เมตร
ในการอธิบายที่มาของอนุภาคสั่นพ้องนี้ Murray Gell-Mann (1929-2019) (โนเบลฟิสิกส์ปี 1969) ได้อธิบายว่า อนุภาค hadron อันได้แก่ proton, neutron, pion ฯลฯ นั้น ประกอบด้วยอนุภาคย่อยที่มีขนาดเล็กกว่า เรียกว่า quark ซึ่งเมื่อมีการชนกันระหว่างอนุภาค hadron เหล่าอนุภาค quark ที่อยู่ภายใน hadron จะถูกกระตุ้นให้มีพลังงานสูงขึ้น แล้วจับคู่กันเป็นอนุภาคชนิดต่าง ๆ
ผลงานของ Alvarez จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ใน proton, neutron, meson มีอนุภาค quark เป็นองค์ประกอบ
หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว Alvarez ก็ได้เปลี่ยนชีวิตไปทำงานเป็นนักสืบ แสวงหาคำตอบของปริศนาลึกลับต่าง ๆ เช่น ค้นดูว่ามีห้องลึกลับแอบแฝงอยู่ภายในพีระมิดหรือไม่ ใครคือคนลอบยิงประธานาธิบดี Kennedy และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ที่กรุง Cairo ในอียิปต์ มีพีระมิดที่ใหญ่ 2 ลูก ชื่อ Cheops กับ Chephren ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 4,500 ปีก่อน Cheops มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ยาวด้านละ 230 เมตร และสูง 147 เมตร ส่วน Chephren นั้น มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 216 เมตร และสูง 143 เมตร พีระมิดทั้งสองนี้ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ครองสถิติความสูงที่สุดในโลก จนกระทั่งสถิติได้ถูกลบในปี 1889 โดยหอ Eiffel ซึ่งสูง 330 เมตร ส่วนสิ่งก่อสร้างขนาดมโหฬารที่ใหญ่กว่าพีระมิด เช่น กำแพงเมืองจีน ก็ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,800 ปีก่อนนี้เอง
นักโบราณคดีได้ตรวจพบว่า ในพีระมิด Cheops มีห้องลึกลับ 2 ห้อง คือ ห้องกษัตริย์ (King's Chamber) และห้องราชินี (Queen's Chamber) โดยห้องทั้งสอง มีอุโมงค์เส้นทางเชื่อมต่อถึงกัน ส่วนพีระมิด Chephren นั้น กลับมีห้องลึกลับซ่อนอยู่เพียงห้องเดียว ดังนั้นเมื่อ Luis Alvarez ได้เห็นพีระมิดทั้งสองเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1962 เขาก็รู้สึกประหลาดใจมาก ที่พีระมิด Chephren ซึ่งสร้างโดยพระราชโอรสกลับมีความ “ซับซ้อน” น้อยยิ่งกว่าพีระมิด Cheops ซึ่งสร้างโดยพระราชบิดา นี่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเป็นจริง เพราะพระราชโอรสควรจะมีผลงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระราชบิดา ดังนั้นคนทั่วไปจึงตั้งข้อสงสัยว่า ในพีระมิด Chephren คงจะมีห้องลึกลับอีกหลายห้องที่แอบแฝงอยู่ภายในพีระมิด Chephren เป็นแน่
ปัญหาที่ตามมา คือ นักวิทยาศาสตร์จะมีวิธีค้นหาห้องลึกลับนี้ได้อย่างไร
นักฟิสิกส์บางคนอาจจะคิดใช้เทคโนโลยีรังสีเอกซ์ถ่ายภาพพีระมิดทั้งลูก โดยนำแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่มีพลังงานสูง วางใต้พีระมิด แล้วให้ปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาทุกทิศทาง จากนั้นเอาฟิล์มถ่ายภาพวางที่ผิวหน้าของพีระมิด ให้ครอบคลุมผิวหน้าทั้งหมด แล้วใช้หลักการว่า ถ้ารังสีเอกซ์ต้องเดินทางผ่านก้อนหินหนา ความเข้มของรังสีที่แผ่นฟิล์มถ่ายภาพจะได้รับก็จะน้อย แต่ถ้ามีห้องลับอยู่บนเส้นทางที่รังสีเอกซ์นั้นผ่าน ความเข้มของรังสีที่แผ่นฟิล์มถ่ายภาพได้รับก็จะมาก เพราะรังสีเอกซ์สามารถทะลุทะลวงผ่านอากาศในห้องลับได้ดีกว่าก้อนหิน ดังนั้นการตรวจดูความเข้มของรังสีเอกซ์ที่เห็นบนแผ่นฟิล์มก็พอจะบอกตำแหน่งของห้องลับได้
แม้แนวคิดนี้จะดูง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะความจริงมีอยู่ว่ารังสีเอกซ์ไม่สามารถเจาะทะลุผ่านก้อนหินหนาที่มีขนาดมหึมาได้ นอกจากนี้แผ่นฟิล์มที่จะใช้รับรังสีเอกซ์ก็จะต้องมีขนาดมโหฬารมากเช่นกัน ดังนั้นเทคโนโลยีถ่ายภาพพีระมิดโดยใช้รังสีเอกซ์ จึงไม่เวิร์ค หรือถ้าใครคิดจะใช้คลื่น sonar และ radar เพื่อถ่ายภาพ ก็จะทำไม่ได้เช่นกัน
Luis Alvarez จึงคิดจะใช้เทคโนโลยีรังสีอื่นที่คล้ายรังสีเอกซ์ คือ รังสีคอสมิก ซึ่งประกอบด้วยอนุภาค proton เป็นอนุภาคหลัก กับห้องประกายไฟ (spark chamber) รังสีคอสมิกนี้มีพลังงานสูงมาก และมีแหล่งกำเนิดจากอวกาศที่เดินทางมาสู่โลก เวลาอนุภาค proton ชนกับอะตอมของแก๊สต่าง ๆ ในบรรยากาศโลก จะทำให้เกิดอนุภาค muon มากมาย เป็นห่าฝนพุ่งตกสู่พื้นดินในทุกทิศทาง
อนุภาค muon นี้ มีสมบัติเหมือนอิเล็กตรอนทุกประการ ยกเว้นมวลที่มีค่ามากกว่าประมาณ 207 เท่า และเวลาพุ่งผ่านสสาร muon จะพุ่งไปในแนวเกือบจะเป็นเส้นตรง muon ที่มีพลังงานสูงมาก จะพุ่งผ่านก้อนหินที่ใช้ทำพีระมิดได้ แต่ถ้ามีก้อนหินหนามาขวาง อนุภาค muon ก็จะผ่านได้น้อย และนี่ก็คือเหตุผลที่ Alvarez นำเครื่องตรวจจับอนุภาค muon (spark chamber) วางใต้พีระมิด Chephren เพื่อดูทิศทางที่อนุภาค muon พุ่งมา และได้พบว่า จำนวน muon ที่พุ่งผ่านห้องลับของพีระมิดจะมีจำนวนมากกว่าจำนวน muon ที่พุ่งผ่านส่วนอื่น ๆ ซึ่งมีก้อนหินเต็มไปหมด
Alvarez ได้ใช้อุปกรณ์ spark chamber ดักจับ muon ซึ่งจะส่งประกายไฟแว๊บ ทุกครั้งที่ muon พุ่งผ่าน เพื่อบอกพิกัดของอนุภาค muon การรู้พิกัดของ muon ณ สองตำแหน่งในเวลาไล่เลี่ยกัน จะบอกทิศทางที่อนุภาค muon พุ่งมา ห้อง spark จะบันทึกเฉพาะ muon ที่กำลังเคลื่อนที่เท่านั้น และจะมีความไวสูงในกรณีที่ muon เคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งหรือเกือบดิ่ง เพราะประสิทธิภาพของห้อง spark จะลดลง ๆ เมื่อ muon พุ่งทำมุมกับแนวดิ่งเกิน 45 องศา
เมื่ออุปกรณ์ทดลองอยู่ในสภาพพร้อม แต่การค้นหาห้องลึกลับก็ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ เพราะได้เกิดเหตุการณ์สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ในปี 1967 การทดลอง จึงจำเป็นต้องยุติชั่วคราว เพราะอียิปต์ประกาศตัดสัมพันธภาพทางการทูตกับอเมริกา และเมื่อสงครามยุติแล้ว การค้นหาห้องลึกลับภายในพีระมิดก็ได้ดำเนินต่อไป
ดังนั้น ถ้ามีห้องลึกลับขนาดใหญ่แฝงอยู่ภายในพีระมิด การไม่มีก้อนหินมาขวางทำให้จำนวน muon ที่นับได้ จะมากขึ้น
ผลการทดลองของ Alvarez ได้แสดงว่า ไม่มีห้องลึกลับขนาดใหญ่อยู่ภายในวงกรวยที่มีครึ่งมุมยอดเท่ากับ 35 องศา นับจากแนวดิ่ง
การวางอุปกรณ์ spark chamber เพื่อนับ muon ในแนวอื่น ๆ ก็ไม่ได้พบห้องลึกลับอยู่ภายในพีระมิด Chephren เลย
นี่เป็นการตอบปริศนาหนึ่งที่ทำให้คนหลายคนต้องผิดหวัง แต่ทุกคนก็พอใจที่ได้รู้ความจริงว่า พีระมิด Chephren มีห้องลึกลับอยู่ภายในเพียงห้องเดียว
เทคนิคการค้นหาห้องลึกลับที่อยู่ภายในพีระมิด Chephren เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สำหรับนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ แต่ถ้าจะกล่าวถึงความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแล้ว การค้นหาสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก เพราะ Luis Alvarez กับลูกชายชื่อ Walter Alvarez ได้พบว่า ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ได้พุ่งชนโลกด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตร/วินาที (ซึ่งเร็วกว่าความเร็วของเครื่องบินราว 150 เท่า และพุ่งชนโลกโดยเอียงทำมุม 45-60 องศากับผิวโลก) ที่บริเวณคาบสมุทร Yucatán ในเม็กซิโก ทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ใต้ทะเล ชื่อหลุม Chicxulub (ซึ่งในภาษา Maya แปลว่า “เห็บปีศาจ”) โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 180 กิโลเมตร และมีพื้นที่ 25,450 ตารางกิโลเมตร การอยู่ใต้ทะเลลึกทำให้เราไม่สามารถเห็นมันได้ แต่ยานอวกาศสามารถใช้เรดาร์เห็นความมโหฬารของหลุมได้
การพุ่งชนครั้งนั้นได้ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำ ประมาณ 75% จำนวนหลายล้านสปีชีส์ต้องสูญพันธุ์ไปอย่างถาวร รวมถึงไดโนเสาร์ด้วย เพราะเมื่อก่อนปี 1970 ไม่มีใครรู้ว่า อะไร คือสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์ล้มตายจนสูญพันธุ์ไป ดังนั้นจึงมีคนเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวกับสาเหตุการสูญพันธุ์มากมาย เช่น ได้เกิดการระเบิดของ supernova ที่อยู่ใกล้โลก ได้เกิดการระบาดของโรคร้ายอย่างรุนแรงจนไดโนเสาร์ล้มตายมากมาย บางคนก็สันนิษฐานว่า ภูเขาไฟที่อยู่ใต้น้ำได้ระเบิดอย่างขนานใหญ่ จนทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่สูงกว่า 100 เมตร ไหลท่วมโลก และบางคนเชื่อว่าได้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟบนโลกอย่างรุนแรงหลายลูก จนทำให้บรรยากาศของโลกเป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งความเห็นทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสันนิษฐาน คือ ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใด ๆ เลย
ในการตอบคำถามเกี่ยวกับแรงดลใจที่ทำให้ Luis Alvarez นึกถึงการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อย เขาได้เอ่ยถึงการเห็นภาพของดวงจันทร์ Phobos ซึ่งเป็นดาวบริวารดวงหนึ่งของดาวอังคารว่า มีผิวตะปุ่มตะป่ำ ภาพนี้จึงแตกต่างจากความคิดเดิม ๆ ของ Luis Alvarez ที่ว่า ผิวของ Phobos คงเรียบเนียน ดังนั้น Phobos จึงน่าจะถูกอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยอื่นที่มีขนาดเล็กกว่ามาพุ่งชนอย่างแน่นอน Phobos นั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 20 กิโลเมตร และมีเนื้อดาวที่เป็นสารประกอบ carbonaceous chondrite ดังนั้นดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกก็คงจะมีเนื้อดาวที่เหมือน Phobos
จินตนาการต่อไปของ Luis Alvarez คือ หลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกแล้ว เมฆฝุ่นละอองที่เกิดจากการพุ่งชนก็คงจะฟุ้งกระจายไปทั่วโลก แล้วตกลงมาเป็นฝุ่นผง แฝงอยู่ในชั้นดินที่หนาให้เราเห็น เพราะเหตุว่าในอุกกาบาต หรือดาวเคราะห์น้อยมักมีธาตุ iridium ในปริมาณค่อนข้างมาก และธาตุชนิดนี้มักไม่มีพบบนโลก ดังนั้นถ้ามีการวิเคราะห์หาองค์ประกอบของธาตุต่าง ๆ ในชั้นดินแล้ว ก็น่าจะพบ iridium ในปริมาณมากปรากฏอยู่ในชั้นดินเช่นกัน
สำหรับคำถามต่อไปที่ว่า ดาวเคราะห์น้อยได้พุ่งชนโลกเมื่อใดนั้น Alvarez ได้กล่าวถึง กาลเวลาทางธรณีวิทยาว่า มียุค Cambrian ซึ่งได้อุบัติเมื่อ 570 ล้านปีก่อน และได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ยุค อันได้แก่ยุคแรก คือ ยุค Paleozoic (สัตว์อายุมาก) ที่สิ้นสุดลงเมื่อ 250 ล้านปีก่อน ยุคที่สอง คือ ยุค Mesozoic (สัตว์อายุปานกลาง) ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อ 120 ล้านปีก่อน และยุคที่สาม คือ ยุค Cenozoic (สัตว์ที่เคยดำรงชีพอยู่เมื่อเร็วๆ นี้) ซึ่งได้เริ่มเมื่อ 66 ล้านปีก่อน
ในช่วงเวลาระหว่างยุค Mesozoic กับ Cenozoic นั้น เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่ารอยต่อระหว่างยุค Cretaceous กับยุค Tertiary หรือ C-T Boundary และเป็นรอยต่อครั้งล่าสุด ซึ่งได้บอกเวลาที่โลกมีการสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 อย่างมโหฬาร
การค้นหาธาตุ iridium ที่ตกลงบนบริเวณส่วนต่างๆ ของโลก จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ใช้ในการยืนยันความถูกต้องของสมมติฐานนี้ เพราะดาวเคราะห์น้อยมีความเร็วสูงมาก และมีมวลมาก ดังนั้นจึงมีพลังงานจลน์สูงมาก ครั้นเมื่อมันพุ่งชนโลก แล้วหยุดในทันที พลังงานจลน์ที่สูญหายไปก็จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน เผาผลาญเนื้อดาวให้กลายเป็นควัน เป็นไอ เป็นฝุ่นลอยกลับขึ้นไปในบรรยากาศโลก แล้วลอยไปตกในบริเวณต่างๆ ทั่วโลก
Walter Alvarez ซึ่งเป็นบุตรของ Luis Alvarez จึงได้เดินทางไปที่เมือง Gubbio ซึ่งตั้งอยู่เหนือ Rome และอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง Siena ในอิตาลี และพบว่าในชั้นดินเหนียวที่หนาประมาณ 2 เซนติเมตร เป็นดินเหนียวที่ถือกำเนิดในยุครอยต่อ C-T และมีความเข้มข้นของ iridium ในปริมาณที่สูงกว่าปกติถึง 30 เท่า
นอกจากที่ Gubbio แล้ว นักธรณีวิทยายังได้พบธาตุ iridium มากในชั้นดินที่ New Zealand ที่ Jutland ในเดนมาร์ก ที่ San Sebastian และที่ Caravaca ในสเปน ด้วย
การใช้กล้องจุลทรรศน์ค้นหาสิ่งมีชีวิตในชั้นดินต่าง ๆ ที่อยู่บนภูเขาใกล้เมือง Gubbio ก็แสดงให้เห็นว่าที่บริเวณใกล้รอยต่อ C-T มีสัตว์ที่มีเปลือก foraminifera เป็นจำนวนมาก แล้วสัตว์สปีชีส์นี้ก็ได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยใด ๆ ในชั้นดินที่อุบัติในเวลาต่อมา เพราะเหลือแต่สัตว์สปีชีส์ Globigerina eugubina เท่านั้นที่ให้เห็น ในบริเวณเหนือรอยต่อ C-T ข้อมูลนี้แสดงว่า สัตว์สปีชีส์นี้ได้สูญพันธุ์ไปอย่างสมบูรณ์
การพบแร่ iridium ใปนริมาณมากบนโลกในสถานที่ๆ อยู่ห่างกันถึง 15,000 กิโลเมตร แสดงให้เห็นชัดว่า โลกได้ถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจริง ๆ เพราะแร่ที่พบในชั้นดินเหนียวทั่วโลกมีองค์ประกอบทางเคมีที่เหมือนกันทุกประการ
ในความเป็นจริง หลุม Chicxulub นั้น ได้ถูกนักธรณีวิทยาพบเมื่อปี 1991 ซึ่งเป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่ Luis Alvarez ได้จากโลกไปแล้ว แต่การค้นพบของเขาก็ยังมีความสำคัญอยู่ต่อไปจนกระทั่งถึงวันนี้ คือ เขาได้ใช้รังสีคอสมิกจากนอกโลก ในการค้นหาห้องลึกลับภายในพีระมิด ซึ่งรวมถึงพีระมิดของชาว Maya ในอเมริกาใต้ด้วย และธาตุ iridium ที่เขาพบว่ามีอยู่มากในดาวเคราะห์น้อย ก็คือ คำตอบสำหรับปริศนาการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ และการค้นพบนี้ยังได้ทำให้มนุษย์รู้ว่า มนุษย์ก็อาจจะสูญพันธุ์ได้ ถ้าถูกดาวเคราะห์น้อยจากอวกาศพุ่งชนในอนาคต
อ่านเพิ่มเติมจาก Experimental Evidence That an Asteroid Impact Led to the Extinction of Many Species 65 Million Years Ago โดย Luis W. Alvarez ใน New Directions in Physics จัดพิมพ์โดย National Academy of Sciences, Academic Press, INC ปี 1982
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์