xs
xsm
sm
md
lg

เก็บเกี่ยวประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่สั่งสมทุนทางปัญญากว่า 3 ทศวรรษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กว่า 3 ทศวรรษของการพัฒนาและสั่งสมทุนทางปัญญาของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนวิจัยและพัฒนา และการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบัน (institution) มีการตั้งหน่วยงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น รับผิดชอบการพัฒนาและสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการรองรับการพัฒนาด้านต่างๆ เกือบครบทุกด้านและเกือบทุกสาขาเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ และได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2551 ขึ้นเป็นกฎหมายพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานสำหรับการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับชาติ ให้มีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และกำหนดกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนใน การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ทั้งในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในระดับสากลได้มากขึ้น


สวทน. ได้วางนโยบายและกำหนดเป้าหมายเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาโดยรวมของประเทศ จาก 0.25% ของจีดีพี เป็น 1% ในปี พ.ศ. 2560 และ 2% ในปี พ.ศ. 2570 (ปัจจุบัน 1.3% ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้) ในการขับเคลื่อนนโยบาย วทน. เพื่อการพัฒนาประเทศ สวทน. ได้ผลักดันให้เกิดข้อริเริ่มการพัฒนาใหม่ ๆ ที่มี วทน. เป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อน อาทิ การวางยุทธศาสตร์อุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค ส่งผลให้ในปัจจุบันมีอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่ดำเนินการแล้ว 4 แห่ง นอกจากนี้ ได้ริเริ่มให้เกิดโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร สนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ทั้งการให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในรูปแบบการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยเข้าถึงแหล่งทรัพยากร บุคลากรการวิจัย การบริการ แหล่งเงินทุน สิทธิประโยชน์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และภาคมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สวทน. ได้ส่งต่อเมืองนวัตกรรมอาหารให้ทาง สวทช. ขับเคลื่อนในเดือนมีนาคม 2562 เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากยิ่งขึ้น

สวทน. ได้นำแนวทางการพิสูจน์เทคโนโลยีและนวัตกรรม บรรจุในพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อให้มีพื้นที่ทดลองให้สามารถเกิดการทดสอบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัยก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการยกเว้น ผ่อนปรน กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เป็นการชั่วคราวภายใต้ขอบเขตที่จำกัดเพื่อทำการพิสูจน์ โดยเป็นกลไกรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ หรือกรณีกฎหมายที่มีอยู่มีความล้าสมัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบ

อีกหนึ่งผลงานสำคัญของ สวทน. คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... โดยมีหลักการสำคัญเพื่อขจัดอุปสรรคในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการมอบสิทธิความเป็นเจ้าของในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานให้ทุนของรัฐ ให้แก่ผู้รับทุน ซึ่งในปัจจุบัน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้มีการประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยในนาม TRIUP Act

ในเวลาต่อมา รัฐบาลได้ริเริ่มการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยรวมหน่วยงานด้าน อววน. มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 มีผลทำให้ สวทน. ที่ดำเนินงานมาครบ 11 ปี ได้เปลี่ยนเป็น “สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ สอวช. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา


ในช่วงรอยต่อ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ สอวช. ได้ขับเคลื่อนการปฏิรูป อววน. ที่สอดคล้องกับภารกิจหลักของ กระทรวง อว. ในการตอบสนองการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นการเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป 3 ด้าน คือ 1. การปฏิรูปการบริหารภาครัฐ 2. การปฏิรูประบบงบประมาณ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ และ 3. การปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดปัญหาและอุปสรรค และสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนได้อย่างคล่องตัว ส่งผลต่อการพัฒนาในภาพรวม นำไปสู่การพลิกโฉมประเทศ

ภายใต้ภารกิจการริเริ่มสร้างสรรค์นโยบายด้าน อววน. ของ สอวช. ซึ่งถือเป็นภารกิจต้นน้ำในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การทำงานด้านนโยบายจึงจำเป็นต้องปรับมุมมองแนวคิดผ่านการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ โดยเริ่มจาก Modernism ที่เน้นและให้ความสำคัญกับความทันสมัยมาสู่การเน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ หรือ Sustainism เปลี่ยนแนวคิดจาก Me-Society สู่ We-Society ปรับระบบเศรษฐกิจจากที่เคยผลิตเป็นเส้นตรง (Linear Economy) ทำให้เกิดของเสียจำนวนมาก และเน้นแต่การแข่งขัน มาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากร และนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างการผลิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนเปลี่ยนแนวคิดจาก Analogue Platform สู่ AI Platform


จนถึงปัจจุบัน สอวช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งในด้านการพัฒนาระบบ อววน. ของประเทศให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ นำพาประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายได้ คือ การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) โดยเน้นการพัฒนามาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจนวัตกรรม สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด ผ่านกลไกสำคัญคือ การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและ Deep-tech Startups รวมถึงการปลดล็อกให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การมหาชนในกระทรวง อว. ให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง อีกหนึ่งกลไกคือ การพัฒนา “E-Commercial and Innovation Accelerator” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถขยายการผลิตและส่งสินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

รวมถึงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน. โดยเน้นการยกระดับศักยภาพแรงงานเชื่อมโยงสู่การจ้างงาน และกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน โดยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายที่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ศึกษาแนวทางการขยายพื้นที่ดำเนินงานในระดับจังหวัดกลุ่มจังหวัด ตลอดจนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต

จากการขับเคลื่อนประเทศผ่านการสร้างสรรค์นโยบายที่เป็นรากฐานที่เข้มแข็ง จาก สวทน. ส่งต่อมาสู่ สอวช. ในปัจจุบัน เกิดการเชื่อมโยงการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง จนทำให้นโยบายที่เป็นต้นน้ำในการพาประเทศก้าวไปข้างหน้า ได้สร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจนให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่นำไปปฏิบัติจริง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลักดันให้เกิดอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park) ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้พื้นที่ในการวิจัยและพัฒนาได้ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางสำคัญในการบ่มเพาะผู้ประกอบการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) และส่งเสริมการนำผลการวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวจะเป็น New Growth Engine ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเข้าไปทำงานตั้งแต่การสร้างระบบนิเวศ ทำให้สตาร์ทอัพมีเทคโนโลยีหลักหรือเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เป็นของตัวเอง ซึ่งจะทำได้ยากหากไม่ได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ดังนั้นการจะทำให้ระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ได้มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน


ตัวอย่างสำคัญ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU STeP ทำหน้าที่เชื่อมโยงและผสานการทำงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคเหนือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนสังคม บนพื้นฐานของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น ผลงานวิจัย นักวิจัยและเครื่องมือวิจัย มาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลักดันองค์ความรู้หรืองานวิจัยให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ การสร้างธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในองค์รวม และการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนโดยการบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยี

ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดให้มี Basecamp24 เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเข้ากับพื้นที่ โดยมีกระบวนการที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการในแต่ละระดับ รวมถึงเป็นการแสดงสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ (Startup Landmark) ที่มีศักยภาพในการสร้างผู้ประกอบการและเติมเต็ม Startup ecosystem ที่ดีที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้ง ยังมีโรงงานต้นแบบนวัตรกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) เพื่อส่งเสริมและให้บริการสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Added Product) ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย มีปริมาณการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้บริการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการและ Startup ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีโอกาสในการขยายขนาดธุรกิจ ส่งผลให้เพิ่มอัตราการลงทุนการจ้างงานในพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับให้ผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยมีสายการผลิตเพื่อสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านอาหาร แบ่งเป็น 4 สายการผลิต ได้แก่ 

สายการผลิตที่ 1 Acid Food Process : กลุ่มกระบวนการแปรรูปอาหารที่ผ่านการปรับกรด 

สายการผลิตที่ 2 Low Acid Food Process : กลุ่มกระบวนการแปรรูปอาหารโดยการใช้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อ

 สายการผลิตที่ 3 Dehydration Process : กลุ่มกระบวนการแปรรูปอาหารโดยใช้เทคโนโลยีการทำแห้งขั้นสูง  

สายการผลิตที่ 4 Advanced Food Process : กลุ่มกระบวนการแปรรูปอาหารด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการสกัด หรือการฆ่าเชื้อโดยไม่ใช้ความร้อน


จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลา 3 ทศวรรษ ในการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ได้ผลิดอกออกผลให้เห็นจริง จากการที่หน่วยปฏิบัติอย่างมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและสถาบันเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เป็นหน่วยงานเชื่อมโยง และเป็นกลไกสำคัญเข้าไปช่วยบ่มเพาะ สร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ ถือเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญในการนำพาประเทศไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือพ้นจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ให้ได้ภายในปี 2580
ทุนทางปัญญาอันได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม บุคลากรระดับสูงด้าน วทน. และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ (National Systems of Innovation) ที่ประเทศไทยได้สั่งสมมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษนั้น ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวผลที่จะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถในการแข่งขันไปอีกระดับหนึ่ง จากเดิมที่เคยใช้ความได้เปรียบจากการมีแรงงานค่าแรงถูกรับจ้างผลิตโดยอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าเพิ่มที่ประเทศไทยได้รับไม่สูงนัก ไปสู่การยกระดับการแข่งขันที่จะต้องสร้างความได้เปรียบจากองค์ความรู้ และนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงและมีความยั่งยืนกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น