xs
xsm
sm
md
lg

NASA เผยชื่อ ผู้หญิงคนแรก และทีมนักบินอวกาศ ที่จะกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ประกาศรายชื่อนักบินอวกาศที่จะกลับไปเยือนดวงจันทร์เป็นกลุ่มแรก จำนวน 4 คน ในภารกิจ อาร์ทีมิส 2 (Artemis 2) หลังจากเว้นช่วงสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์มานานกว่า 50 ปี นับตั้งแต่โครงการอะพอลโล ซึ่งภารกิจอาร์ทีมิส 2 นี้ จะพานักบินอวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2024
นักบินอวกาศในภารกิจอาร์ทีมิส 2 ประกอบด้วย

1. ผู้บัญชาการภารกิจ : Reid Wiseman
จากรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา อายุ 47 ปี เคยเป็นนักบินเครื่องบินรบในกองทัพเรือสหรัฐฯ และปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในวงโคจรรอบโลกนาน 165 วัน เมื่อปี ค.ศ. 2014

2. นักบิน : Victor Glover
จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา อายุ 46 ปี เป็นวิศวกรและอดีตกัปตันในกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าเป็นนักบินอวกาศของนาซาในปี ค.ศ.2013 และเป็นนักบินอวกาศในเที่ยวบินอวกาศแบบมีนักบินครั้งแรกของบริษัท SpaceX ก่อนปฏิบัติภารกิจบน ISS นาน 167 วัน เมื่อปี ค.ศ. 2021


3. ผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ : Christina Koch
จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา อายุ 44 ปี เป็นวิศวกรและอดีตหัวหน้าสถานีขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) เข้าเป็นนักบินอวกาศในปี ค.ศ. 2013 เป็นเจ้าของสถิตินักบินอวกาศหญิงที่ปฏิบัติภารกิจบน ISS ยาวนานที่สุด ด้วยระยะเวลา 328 วัน และ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่จะไปเยือนดวงจันทร์

4. ผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ : Jeremy Hansen
จากรัฐออนแทรีโอ แคนาดา อายุ 47 ปี เป็นพันเอกในกองทัพอากาศแคนาดา และเข้าร่วมเป็นนักบินอวกาศของแคนาดาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 แม้ว่าภารกิจอาร์ทีมิส 2 จะเป็นภารกิจอวกาศครั้งแรกของเขา แต่เขาเคยเป็นนักสำรวจใต้ทะเลในฐานใต้น้ำ Aquarius ในปี ค.ศ. 2014 และเคยเข้าร่วมโครงการฝึกนักบินอวกาศในถ้ำขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) มาก่อน ซึ่ง Jeremy Hansen จะเป็นนักบินอวกาศนอกสัญชาติสหรัฐฯ คนแรกที่จะได้ไปดวงจันทร์

ตำแหน่งของ Jeremy Hansenในภารกิจอาร์ทีมิส 2 เป็นส่วนหนึ่งของ "สนธิสัญญาเกตเวย์ ระหว่างแคนาดา-สหรัฐฯ" ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างนาซากับ CSA ที่ฝ่ายแคนาดาจะรับผิดชอบทั้งตรวจสอบและดูแลระบบหุ่นยนต์ภายนอกทั้งหมดของสถานีอวกาศเกตเวย์ และเปิดให้นักบินอวกาศชาวแคนาดาสามารถปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศเกตเวย์ และภารกิจในโครงการอาร์ทีมิสครั้งอื่น ๆ ในอนาคต


นาซาตั้งเป้าว่าจะปล่อยจรวดเพื่อเริ่มภารกิจอาร์ทีมิส 2 ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2024 นักบินอวกาศทั้ง 4 คนจะอยู่ในยานโอไรออน (Orion) ของนาซาที่ติดตั้งบนจรวด SLS และปล่อยจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกที่ยานโอไรออนและจรวด SLS จะใช้ปฏิบัติภารกิจแบบมีนักบินอวกาศ หลังจากภารกิจอาร์ทีมิส 1 เมื่อปี ค.ศ. 2022 เป็นเที่ยวบินทดสอบที่ไม่มีนักบินอวกาศไปด้วย


ภารกิจอาร์ทีมิส 2 มีระยะเวลานาน 10 วัน นักบินอวกาศทั้ง 4 จะยังไม่ได้ลงไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ รวมถึงไม่ได้โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ แต่จะใช้วิถีไปกลับระหว่างโลก-ดวงจันทร์ ยานโอไรออนนั้นจะมีส่วนยานบริการ (Service Module) ที่สร้างในยุโรปเพื่อใช้ปรับวิถีของยาน ตั้งแต่การออกจากวงโคจรรอบโลกไปจนถึงการเข้าสู่เส้นทางกลับสู่โลก ก่อนที่ยานโอไรออนจะออกจากวงโคจรรอบโลกมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ นักบินอวกาศจะใช้จรวดท่อนบนของจรวด SLS เพื่อทดสอบศักยภาพการบังคับวิถียานโอไรออนด้วยนักบินอวกาศ

นักบินอวกาศจะยังทดสอบระบบสนับสนุนการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ ระบบสื่อสาร และระบบนำทางในยานก่อนมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ยานโอไรออนจะบินเหนือพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ที่ระยะห่างประมาณ 10,300 กิโลเมตร ทำให้นักบินอวกาศในภารกิจอาร์ทีมิส 2 เป็นนักบินอวกาศที่เดินทางสู่อวกาศในระยะห่างจากโลกมากที่สุดอีกด้วย


ภารกิจอาร์ทีมิส 2 จะสิ้นสุดลงเมื่อยานโอไรออนหย่อนตัวลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ โดยเรือจากกองทัพเรือสหรัฐฯ และทีมงานของนาซาจะไปรับยานพร้อมนักบินอวกาศ หากภารกิจอาร์ทีมิส 2 สำเร็จ จะปูทางสู่ภารกิจอาร์ทีมิส 3 ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่จะพานักบินอวกาศกลับไปลงสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเลือกพื้นที่ลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปลายปี ค.ศ. 2025

นาซายังตั้งใจให้โครงการอาร์ทีมิสเป็นรากฐานสู่การอยู่อาศัยของมนุษย์อย่างยั่งยืนทั้งบนดวงจันทร์และการโคจรอยู่รอบดวงจันทร์ ซึ่งนักบินอวกาศจะได้เรียนรู้ทักษะเทคนิคต่างๆ ที่จำเป็นต่อการส่งนักบินอวกาศสู่ดาวอังคารต่อไป



ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : NASA / NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น