ในปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีอันทันสมัยทำให้เหล่านักดาราศาสตร์บนโลกของเรา สามารถค้นพบสิ่งต่างๆ ในอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้มนุษย์โลกได้เห็นความสวยงามรวมถึงความยิ่งใหญ่ของวัตถุในอวกาศ และไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์ได้ พบ “หลุมดำมวลยิ่งยวด” (Ultramassive Black Hole) แห่งใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราถึง 3 หมื่นล้านเท่า ด้วยการใช้เทคนิคใหม่ในการค้นหาหลุมดำนี้
ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) ในสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบหลุมดำมวลยิ่งยวดแห่งนี้ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “เลนส์ความโน้มถ่วง” (Gravitational Lensing)
นักดาราศาสตร์ กล่าวว่า นี่เป็นหลุมดำแห่งแรกที่พบโดยใช้เทคนิคเลนส์ความโน้มถ่วง หลักการของมันคือ ใช้กาแล็กซีใกล้เคียงเป็นเหมือนแว่นขยายขนาดยักษ์เพื่อเบนแสงจากวัตถุที่อยู่ไกลออกไป สิ่งนี้ทำให้นักวิทย์สามารถตรวจสอบอย่างใกล้ชิดได้ว่า หลุมดำทำให้แสงบิดโค้งได้อย่างไร นอกจากนี้ยังใช้การจำลองด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์และภาพถ่ายกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อยืนยันขนาดของหลุมดำ
ขนาดของหลุมดำแห่งใหม่นี้ มีมวลมหาศาลเท่าที่เคยพบ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 3 หมื่นล้านเท่า และในอนาคตยังสามารถพบหลุมดำที่ใหญ่ที่สุดได้ในจักรวาล ซึ่งอยู่ในดาราจักรที่ชื่อว่า Abell 1201 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2.7 พันล้านปีแสง
ตามรายงานได้อธิบายว่า ในจักรวาลอันกว้างใหญ่มีหลุมดำอยู่มากมายในเอกภพ แต่หลายแห่งไม่ได้ใหญ่โตขนาดนี้ เพราะการขยายตัวเองของหลุมดำจำเป็นต้องสะสมมวลสารอย่างขยันขันแข็งตลอดเวลานับตั้งแต่กำเนิดจักรวาล รวมถึงการควบรวมหลุมดำด้วยกันเอง แต่ถึงแม้จะมีขนาดมหึมาเช่นนั้น การตรวจจับมันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งอยู่ดี
วิธีหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้กันคือ มองหาผลกระทบของสิ่งที่เรียกว่า เลนส์ความโน้มถ่วง ที่บิดเบี้ยวกาลอวกาศ ซึ่งสามารถขยายแสงอันไกลโพ้นที่อยู่ด้านหลังของมันให้มองเห็นได้ชัดขึ้น รวมไปถึงหลุมดำด้วยเช่นกัน โดยกาแล็กซี Abell 1201 นั้นมีความโน้มถ่วงรุนแรงที่นักวิทยาศาสตร์ต่างประหลาดใจ
มันยืดแสงของกาแล็กซีด้านหลังให้คล้ายเส้นคิ้วเปื้อน รอยนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2003 และนักดาราศาสตร์ก็ไม่รู้ว่าทำไม พวกเขาเสนอว่าอาจมีหลุมดำขนาดใหญ่อยู่ตรงใจกลาง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่ละเอียดพอ จึงไม่สามารถแยกแยะข้อมูลเพื่อเปิดเผยเพิ่มเติมถึงสิ่งที่อยู่ในนั้น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : CNN / National geographic thai / Hubble Space Telescope